ครม.ไฟเขียวสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอี 1.5 หมื่นลบ.

ครม.ไฟเขียวสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอี 1.5 หมื่นลบ.

ครม.อนุมัติโครงการสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอี 15,000 ล้านบาท ผ่านเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท คาดช่วยเอสเอ็มอีได้ 3,000 ราย

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยเป็นการขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลวงเงิน 2,250 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 และปีต่อๆไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าว วงเงินรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและมีปัญหาสภาพคล่อง / ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือที่มีนวัตกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเอสเอ็มอี 4.0

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีที่จะเข้าโครงการดังกล่าวนั้น จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่ทำการรีไฟแนนซ์มาจากสถาบันการเงินอื่น เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย ไม่รวมกิจการในกลุ่ม ณ วันยื่นขอสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี สิ้นสุดระยะเวลายื่นขอสินเชื่อภายใน 12 เดือน

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนั้น ในระยะเวลา 3 ปีแรกอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ในปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่เอสเอ็มอีแบงก์กำหนด โดยรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคาร 2% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก สำหรับหลักประกันนั้น ให้บสย.เป็นผู้ค้ำประกัน โดยค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตรา 1.75% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุ 7 ปี โดยในปีที่ 1 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชนแทนเอสเอ็มอีในอัตรา 1.75% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน ปีที่ 2-3 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยแทนเอสเอ็มอีอัตรา 0.75% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน และในปีที่ 4-7 ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมเองเต็มจำนวน

สำหรับการขอรับงบประมาณชดเชยนั้น รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 2,250 ล้านบาท ประกอบด้วย ชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารไม่เกิน 900 ล้านบาท ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้บสย.ไม่เกิน 487.50 ล้านบาท ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่ บสย. ในส่วนต่างระหว่างค่าประกันชดเชยกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับไม่เกิน 862.50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มองว่า การดำเนินการในโครงการดังกล่าวนั้นคาดว่า จะมีเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 3,000 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท