จุฬาฯ ๑๐๐ ปี น้อมสำนึกฯ แบบเรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

จุฬาฯ ๑๐๐ ปี น้อมสำนึกฯ แบบเรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ

บุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล ผู้ฝึกสอนและหัวหน้าทีมเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ตั้งเป้ารวบรวม 100 เชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ร่วมเทิดพระเกียรติฯ ด้วยการสื่อสาร 'ภาษามือ' ผ่านบทเพลงสำคัญ 'ในหลวงของแผ่นดิน' ในงาน ‘จุฬาฯ ๑๐๐ ปี : ศตวรรษแห่งความภูมิใจ’

วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2560 เป็นวันครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ในโอกาสนี้ ‘สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ร่วมกับจุฬาฯ จัดงาน จุฬาฯ ๑๐๐ ปี : ศตวรรษแห่งความภูมิใจ ในวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคมนี้ ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เวลา 17.30-20.30 น.


ลักษณะงานในวันที่ 26 มีนาคม 2560 คือการเชิญชวน ‘นิสิตเก่าจุฬาฯ’ ทั่วประเทศ ร่วมกัน ‘จุดเทียน’ แสดงความอาลัยและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์จุฬาฯ รวมทั้งรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิด และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงประดิษฐานและทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นาย สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ‘จุฬาฯ ๑๐๐ ปี : ศตวรรษแห่งความภูมิใจ’ กล่าวในวันแถลงข่าวการจัดงานฯ ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560


ทั้งนี้ กิจกรรมการแสดงบนเวทีจะเป็น การสำนึกฯ แบบเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การแสดงแบบรื่นเริง แต่เป็นงานแสดงที่รวมพลังทำให้เกิดความสง่าสมพระเกียรติอย่างยิ่ง ผ่านการแสดง ภาษามือ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างภาษามือที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน และภาษามือของเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ที่ใช้ภาษามือสื่อสารในงานกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ ที่ใช้สื่อสารเพื่อการรวมพลังเป็นหนึ่ง
ดังนั้นการรวมพลังเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในงานวันที่ 26 มีนาคมนี้ คือการใช้วิธีสื่อภาษามือด้วยหลักการเดิมที่ชาวจุฬาฯ สามารถรับรู้ได้ มากไปกว่านั้นยังเป็นภาษามือที่สละสลวยและสมพระเกียรติอย่างยิ่งในการสื่อความหมายผ่านบทเพลงสำคัญ ในหลวงของแผ่นดิน ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งประพันธ์คำร้องโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงโดย สราวุธ เลิศปัญญานุช โดยมี บุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 15 ผู้ฝึกสอนและหัวหน้าทีมเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ตั้งแต่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 37(พ.ศ.2524) หรือ ‘พี่เจ็ง’ ของเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ รุ่นน้อง เป็นผู้สร้างสรรค์ภาษามือในงานครั้งนี้


“เมื่อครั้งที่ผมถ่ายทำสารคดีเฉลิมพระเกียรติ(ในหลวงรัชกาลที่ 9) มีโอกาสไปสัมภาษณ์เด็กภาษามือ หรือเด็กผู้พิการทางการได้ยิน รู้สึกว่าเราก้าวไปคุยในโลกของเขาได้ เริ่มใช้เป็นแนวคิดตั้งแต่งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 68 (พ.ศ.2555) ปีนั้นเพลง ‘ในหลวงของแผ่นดิน’ กำลังดัง ก็เลยคิดว่าเราน่าจะมีโอกาสสื่อสารกับเด็กกลุ่มนี้ได้ ผมเลยไปเรียนภาษามือ ปรึกษากับอาจารย์ ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำท่าภาษามือกับเพลงนี้ แล้วผมจะเอาท่านั้นมาแปลงเป็นท่าลีด โดยยังคงความสามารถในการสื่อสารอยู่เหมือนเดิม จึงออกมาเป็นท่าอย่างที่เห็น เพราะฉะนั้นท่าเราเป็นการแปลงมาจากท่าภาษามือ เด็กที่ดูเราเต้น ฟังเพลงนี้ซึ่งไม่ได้ยิน ก็จะเข้าใจความหมายว่าเรากำลังพูดถึงอะไร” บุญญ์พัชรเกษม กล่าวและว่า และอีกหนึ่งไฮไลต์บนเวที คือการแสดงภาษามืออีกหนึ่งบทเพลงที่ไม่เคยคิดว่าจะคิดท่าได้ นั่นคือเพลง ลาแล้วจามจุรี ซึ่งเป็นเพลงช้าและเศร้ามาก เพิ่งคิดท่าเสร็จเมื่อคืนวันที่ 12 มีนาคม


“เป็นความภูมิใจที่เราได้ใช้ความรู้ความสามารถในการตีโจทย์ ความสามารถในการแสดงออก สามารถสื่อสารกับคนได้มากขึ้น เพราะถ้าคนทั่วไป เวลาเราเต้น เขาก็แค่ดูจังหวะ เห็นจังหวะก็ร้องตามได้ แต่ถ้าเราสื่อความหมายได้ด้วย เป็นอีกขั้นหนึ่ง ทำเสร็จก็ร้องไห้ไป ตั้งแต่ประโยคแรก พอพูดถึงในหลวงก็... ต้องหายใจลึกๆ ถ้าปล่อยอารมณ์ตามเพลง หลุดแน่ๆ ตื้นตันเวลาเรานึกถึงในหลวง ต้องคอยเตือนสติกันเอง อย่าอารมณ์เต็มร้อย แต่ให้เต้นท่าเต็มร้อย สื่อสารให้ถูกต้องตั้งแต่คำร้องแรกจนคำร้องสุดท้าย” บุญญ์พัชรเกษม กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานครั้งนี้


สำหรับการแสดงนี้ ‘พี่เจ็ง’ วางเป้าหมายไว้ว่า จะรวมเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ ให้ได้ 100 คน ตั้งแต่รุ่น 34 จนถึงรุ่น 72 จากการเชื่อมต่อกันได้ทุกรุ่นผ่านไลน์กลุ่มที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 100 คน โดยคิดว่า 50 คนจากสมาชิกในไลน์กลุ่ม และอีก 50 คนจากการติดต่อกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องที่ไม่ได้อยู่ในไลน์กลุ่ม


อดีตเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 50 พัชร์สิตา อริยรัฐกิตติ์ ศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ‘พี่เจ็ง’ ชักชวนกลับมาร่วมทำงานครั้งนี้เป็นคนแรกเพราะมีท่าลีดที่สวยงาม กล่าวว่า “ภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนร่วมกับงานจุฬาฯ อีกครั้งหนึ่ง ในชีวิตที่ออกนอกรั้ว(จุฬาฯ)มาแล้ว แต่ความรู้สึกความเป็นเด็กจุฬาฯ ยังมีอยู่ตลอด ดีใจมากที่ได้กลับมาทำงานเพื่อจุฬาฯ อีกครั้ง”


ขณะที่อดีตเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 53 ณัฏฐกานต์ แช่มสุวรรณวงศ์ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ รุ่น 64 กล่าวว่า “สำหรับเพลงใหม่ที่พี่เจ็งคิดท่า, ในหลวงของแผ่นดิน, ลาแล้วจามจุรี, ถามในแง่ว่าเราเป็นลีดมา ค่อนข้างท้าทายกับท่าเต้น เพราะเป็นท่าคนละพื้นฐานกับท่าลีดพื้นฐาน ทุกคนต้องมาเรียนรู้ใหม่หมด แต่ว่าเหมือนพอเรารู้เนื้อเพลง ซึ่งมีความหมายทุกคำ พอเราซาบซึ้งกับความหมายของคำ นั่นคือการเต้นออกมาจากข้างในจริงๆ”


แม้เป็น ‘ภาษามือ’ ที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้บกพร่องทางการได้ยินในประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับ ‘ภาษามือสากล’ ถึงรายละเอียดต่างกัน แต่ ‘โครงท่า’ ก็เข้าใจได้ ดังนั้นหากการแสดงภาษามือผ่านบทเพลง ‘ในหลวงของแผ่นดิน’ ได้แพร่ภาพไปในต่างประเทศ ผู้บกพร่องทางการได้ยินต่างเชื้อชาติย่อมได้รับทราบพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ของเราอย่างแน่นอน บุญญ์พัชรเกษมกล่าวและว่า


"สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินที่เป็นคนไทย จะเข้าใจตั้งแต่ท่าแรกจนท่าสุดท้าย โดยเฉพาะท่าในหลวง คือ แว่นตา และตัวอักษรเค แทนคำว่า king ใส่สายสะพาย ซึ่งตอนนี้หลายคนก็รู้มากขึ้นว่าท่านี้คือในหลวงรัชกาลที่เก้า"


งาน ‘จุฬาฯ ๑๐๐ ปี : ศตวรรษแห่งความภูมิใจ’ ยังมีกิจกรรมในวาระอื่นๆ อีกเพื่อทบทวนอดีตและสร้างสรรค์อนาคตการพัฒนาชาติ ชาวจุฬาฯ ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกิจกรรมที่สนใจได้อย่างเต็มที่
-----------------------
งาน ‘จุฬาฯ ๑๐๐ ปี : ศตวรรษแห่งความภูมิใจ’ บัตรราคา 200 บาท ติดต่อซื้อบัตรได้ที่สมาคมนิสิตเก่าของทุกคณะ และที่หน้างาน ผู้ซื้อบัตรทุกคนรับ ‘เข็มพระเกี้ยว ๑๐๐ ปีจุฬาฯ’ เป็นของที่ระลึก, จุดจอดรถ อาคารมหาจักรีสิรินธร 600 คัน อาคาร 60 ปีคณะรัฐศาสตร์ 600 คัน, หรือใช้รถประจำทาง บริการขนส่งสาธารณะ, รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน มีนิสิตจุฬาฯ รอต้อนรับนับตั้งแต่ออกมาจากสถานี และพาขึ้นรถรับส่งไปยังบริเวณงาน, แต่งกายชุดสุภาพสีดำ

-----------------------

ภาพ : อนันต์ จันทรสูตร์