'หยวนต้า' ปักธง 3 ปีเบอร์ 1

'หยวนต้า' ปักธง 3 ปีเบอร์ 1

หยวนต้าปักธง 3 ปี “เบอร์ 1” ยันทำธุรกิจระยะยาวในไทยเตรียมเพิ่มทุนอีก 3พันล้าน ย้ำมีแผนปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ดันเป้าจำนวนบัญชีค้าหุ้น 7หมื่นรายใน 1 ปี

บล.หยวนต้า หวนคืนประเทศไทย วางเป้าระยะสั้น ครองส่วนแบ่งตลาดติดท็อป 5 ใน 6 เดือน  แจงพร้อมเข้าทำธุรกิจในไทยระยะยาว เตรียมเพิ่มทุน อีก 3 พันล้านบาทต่อยอดธุรกิจยืนยันไม่มีนโยบายแย่งเจ้าหน้าที่การตลาด แต่เปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจ

นางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะขึ้นเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ภายใน 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2563 สิ่งที่บริษัทจะผลักดันคือการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ครบวงจร ผ่านระบบ การซื้อขายและผู้แนะนำการลงทุน รวมถึงผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“การกลับมาของบล.หยวนต้าในรอบนี้ เราตั้งเป้าจะเป็นเบอร์ 1 โดยระยะสั้น 6 เดือน จะต้องขึ้นติด 5 อันดับแรกของบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดกลยุทธ์ จะเน้นพัฒนาทั้งบุคลากร และระบบการซื้อขาย ที่ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทแม่ในไต้หวัน รวมถึงให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนก.ค.นี้”

โดยการเข้ามาของหยวนต้า ไต้หวัน หลังจากที่เข้าซื้อใบอนุญาตของบล.เคเคเทรด ได้มีทีมผู้บริหารใหม่เข้าร่วมด้วย  2 ราย คือ นาย โฆษิต  บุญเรืองขาว มาดำรงตำแหน่งประธานสายธุรกิจหลักทรัพย์ ดูแลงานด้านหลักทรัพย์ และสร้างนวัตกรรมใหม่ และนายภูษิต  แก้วมงคลศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน มาร่วมด้วย และมี นายชาญศักดิ์  ธนเตชา ดำรงตำแหน่ง ประธานสายผลิตภัณฑ์หลักทรัพย์   

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของบล.หยวนต้า หลังจากการเข้าซื้อกิจการได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500 ล้านบาท เป็น 1,500 ล้านบาท และภายในไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการเพิ่มทุนอีก  3,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท เป็นการตอกย้ำความตั้งใจเข้ามาทำธุรกิจด้านหลักทรัพย์ในไทย และทุนจดทะเบียนดังกล่าวยังช่วยเพิ่มศักยภาพปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งจะมีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 7 หมื่นบัญชีภายใน 1 ปี จากปัจจุบัน 3.5 หมื่นบัญชี

บริษัทตั้งเป้าจะต้องมีผู้แนะนำการลงทุน 300 คน จากปัจจุบัน 150 คน โดยไม่เน้นดึงตัวแต่จะเปิดกว้างกับผู้ที่สนใจจะร่วมงาน  รวมถึงผลักดันให้ผู้แนะนำการลงทุนเป็นผู้วางแผนการลงทุน และขยายสาขาให้ครบ 30 สาขาในปีนี้ จากปัจจุบันที่ 12 สาขา 

ส่วนระบบการซื้อขาย เบื้องต้นได้ลงทุนระบบไอทีไปแล้ว 200 ล้านบาท หลังจากนี้จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการหลากหลายมากขึ้น ทั้งธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) ที่คาดว่าจะให้บริการได้ในเดือนเม.ย. และให้บริการซื้อขายอนุพันธ์ รวมทั้งร่วมอันเดอร์ไรท์หุ้น

ส่วนภาพรวมตลาดปีนี้ มองว่าการเมืองของไทยเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่บริษัทเข้ามาในอุตสาหกรรมในปีนี้ ที่จะเร่งพัฒนาระบบภายในเพื่อรองรับการฟื้นตัว