เอกราช ศาลยุติเดช สตาร์ทอัพรุ่นเก๋าสาย E-Payment

เอกราช ศาลยุติเดช สตาร์ทอัพรุ่นเก๋าสาย E-Payment

เดินบนเส้นทางสายการเงินกว่า 10 ปี “เอกราช ศาลยุติเดช” ทุ่มเทให้กับความหลงใหลในระบบ E-Payment ยังหยิบยกประสบการณ์ใช้กับลูกสาววัย 5 ขวบด้วย

:: เริ่มต้นจาก 0

เอกราช ศาลยุติเดช ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการกลุ่มกลยุทธ์การชำระเงินและโครงสร้างดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ที่เรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจ และปริญญาโทด้าน SME Management แต่กลับสนใจเรื่องของการเงินและระบบจ่ายเงิน จนเดินหน้าสู่ธุรกิจการเงินฝั่งไอทีหรือ E-Payment ที่หลากหลาย ทั้งองค์กรใหญ่และบริษัทสตาร์ทอัพ
 
       เขาเริ่มต้นงานแรกที่เดอะมอลล์กรุ๊ป ดูการบริหารจัดการพื้นที่ของเอ็มโพเรี่ยม ต่อมาคือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งงานนี้ อยู่เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ไม่ถึงปี เพราะเป็นช่วงที่มีการปิดสนามบิน มีปิดอนุสาวรีย์ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจแย่มาก ช่วงนั้นก็มีพี่ที่รู้จักจากเดอะมอลล์กรุ๊ป ชักชวนให้มาทำที่แบงก์ เริ่มแรกคือ ธนาคารธนชาติ ที่อยู่มากว่า 3 ปี ทำเรื่องของบัตรเครดิตกับร้านค้าที่รับบัตรเครดิต สิ่งที่ดูแลคือ เครื่องรูดของร้านค้าจริงและร้านค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องรูดบัตรบนอินเทอร์เน็ต Payment Gateway ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาทำด้านระบบการจ่ายเงินหรือ Payment โดยที่ไม่ได้คลุกคลีหรือทำงานด้านไอทีมาก่อน แต่อาศัยที่เป็นคนชอบเทคโนโลยี นวัตกรรม ความทันสมัย
           “ด้วยหน้าที่การงานทำให้เราต้องเข้ามาทำและเรียนรู้ด้านนี้ ยากไหม ต้องบอกว่า ยากในช่วงแรกที่เราไม่รู้อะไรเลย เราเป็นผู้ใช้และก้าวเข้ามาในฝั่งของผู้ให้บริการ ดังนั้นมันจะยากในช่วงแรกที่เราเคยเห็นแต่หน้าบ้าน แต่ผู้ให้บริการหลังบ้านมันมีอีกมากที่ต้องศึกษา แต่คิดว่า มันกลายเป็นข้อได้เปรียบจากการที่เราไม่ได้ลงลึกในด้านเทคนิคมาตั้งแต่ต้น แต่เราที่เป็นผู้ใช้งานมาก่อน เราสงสัยหรืออยากรู้อะไร มันก็จะไปโฟกัสในเชิงเทคนิคจากสิ่งที่เราประสบปัญหาจริงๆ เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เราไม่ใช่ช่วงเทคนิคที่เชี่ยวชาญการเขียนโปรแกรม หรือวิศวกรสายไอที แต่เราเป็นผู้ใช้งานจริง แต่ก็ต้องไปศึกษาด้านไอทีเพิ่ม เอาประสบการณ์จริง และข้อมูลเชิงลึกของฝั่งผู้ใช้ไปประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอที”

      จากธนชาติมาสู่ธนาคารกรุงเทพ ก็ต้องปรับจากลูกค้ารายย่อยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นแมส ทำอะไรก็ได้ที่เป็น Big Bang เข้าถึงคนหมู่มาก พอเปลี่ยนมาก็ต้องมาดูลูกค้าองค์กรแบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งลูกค้าองค์กรจะมีความต้องการเฉพาะตัว ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน แต่ต้องการตามที่องค์กรนั้นต้องใช้ ทุกรายก็จะมีระบบเฉพาะ


:: สตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิก
         ขยับมาเป็นสตาร์ทอัพ เอกราชกล่าวว่า นับเป็นความโชคดีคือ ตั้งแต่อยู่ธนชาติ เราออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเจ้าแรกในประเทศ โดยปี 2557 จับมือกับค่ายมือถือเจ้าหนึ่งทำบัตรเครดิตเสมือนจริงบนมือถือ ที่นำไปใช้ช็อปปิ้งออนไลน์ได้เลย โดยผู้ใช้เบอร์มือถือของค่ายนี้สามารถขอเลขประจำตัว 16 หลักแทนบัตรเครดิตเสมือนจริง แล้วเติมเงินเข้ามาในบัตรเพื่อไปช็อปปิ้ง และมีโอกาสได้รู้จักกับคุณภาวุธ ผู้บริหารตลาดดอทคอม เขาก็ชวนมาทำสตาร์ทอัพเลย ตอนนั้นยังไม่มีนิยามคำว่า สตาร์ทอัพในไทย ยังคงเป็นบริษัทไอทีธรรมดา ซึ่งถ้าเอาโมเดลตอนนี้ไปมอง มันคือสตาร์ทอัพ เพราะเอสเอ็มอีคือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จจะพึ่งเกิดหรือดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สตาร์ทอัพเป็นบริษํทเกิดใหม่ โดยแตกต่างด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ โมเดลธุรกิจที่เป็นSolution สามารถแก้ปัญหาให้คนหมู่มากได้ เช่น ถ้าเปิดร้านกาแฟ ไม่ได้แก้ปัญหาให้คนหมู่มาก แต่ Grab เป็นการแก้ปัญหาให้คนเข้าถึงขนส่งมวลชนได้, Scalable ความสามารถที่จะเติบโตแบบพุ่งทะยาน และ Repeatable สามารถใช้โมเดลนี้ในประเทศต่างๆ ได้ เป็นความสนุกที่จะขยายไปได้ไม่จำกัด

             “เราเข้ามาทำระบบการจ่ายเงิน โดยที่กล้าพูดได้ว่าเป็น Social Media Payment รายแรกของเอเชีย ที่หากต่อจิ๊กซอว์ว่า ภาพใหญ่ของ E-Commerce จะมี 4 ส่วนหลักคือ ต้องมีหน้าร้านออนไลน์ (E-Commerce), มีการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) เพื่อดึงคนมาหน้าร้าน, มีระบบจ่ายเงินออนไลน์หรือ E-Payment เพื่อเปลี่ยนผู้ชมเป็นผู้ซื้อ ให้เกิดการตัดสินใจณ ตอนนั้น และเมื่อชำระเงินเสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ E-Logistics จากเดิมที่ต้องไปต่อคิวส่งไปรษณีย์ แต่ระบบนี้ เมื่อชำระเงินเสร็จจะมีแมสเซนเจอร์มารับของ และส่งถึงมือลูกค้าได้เลน ซึ่งคุณภาวุธมีจิ๊กซอว์ครบทั้งหมด”


             สตาร์ทอัพไม่ยากแต่ท้าทายตรงที่เราเป็นองค์กรเล็ก เราได้รับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะที่องค์กรใหญ่จะมีหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละข้อต่อ แต่สตาร์ทอัพจะรู้เท่ากันหมดไม่ว่าจะหน้าที่ไหน แต่ไม่ได้มีข้อจำกัดในการทำงาน เพราะเดิมเป็นงานที่เราทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ เราควบคุมได้หมด อาจะเหนื่อยแต่งานออกมาเร็ว จบได้ในตัว เวลา 2 ปีในการทำสตาร์ทอัพ ซึ่งในส่วน Payment นี้เราเห็นมันครบลูปแล้ว ออกมาเป็นสินค้าแล้ว และได้โอกาสมาร่วมงานกับทางกรุงศรี ที่เริ่มตั้งยูนิตใหม่ที่เรียกว่า Payment Strategy เป็นกลยุทธ์ด้านการจ่ายเงิน ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้ทุกอย่างนอกจาก Online Payment ที่เราเคยทำมาก่อน กลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่อยากมา ที่จะได้เจอโซลูชั่นของจีน อมเริกา ฯลฯ ซึ่งเราต้องทำทุกตัว


             “ไม่ใช่การอิ่มตัว แต่เป็นความท้าทายอีกระดับจากสิ่งที่เราเคยรู้ จากแค่ Online Payment ก็จะมีทั้งออฟไลน์ ดีไวซ์ หรือแม้กระทั่งลายนิ้วมือ ม่านตาก็อาจจะใช้จ่ายเงินได้ คิดว่ามันเป็นสโคปที่ใหญ่ รวมถึงตัวเนื้องานที่จะได้ดู ได้รับนโยบายเรื่อง National E-Payment Roadmap จากธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เป็นการขยายภาพความรู้ของเรา”

            แน่นอนว่า พฤติกรรมลูกค้าหรือความต้องการพื้นฐานของลูกค้าไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนวิธีในการเข้าถึงสินค้าและบริการมากกว่า เช่น คนที่เคยจำเวลาออกอากาศของรายการโปรดก็จำไม่ได้แล้ว แต่อยากจะดูตอนไหนก็ดูได้ ผ่านช่องทางออนไลน์แทน ความต้องการไม่เปลี่ยน แต่แพลตฟอร์มเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และทำให้สะดวกสบายขึ้นนั่นเอง

        “เหตุที่ชอบเรื่องระบบ Payment เนื่องจากมันเป็นพื้นฐานของโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่จะไม่ตายตราบเท่าที่ยังมีการอุปโภคบริโภค ธุรกิจอื่นอาจจะเกิดขึ้นและดับไป แต่ Payment จะยังอยู่และพัฒนาไปเรื่อยๆ”

:: จุดเปลี่ยนม.ปลาย
          แม้จะผ่านประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย แต่เมื่อถามถึงวัยเด็ก เอกราชยอมรับว่า ตัวเขานั้นเคยเป็น “มนุษย์ล่องหน”
“สมัยเด็กเป็นเด็กหลังห้อง ไม่สนใจเรียน เหม่อลอย โตขึ้นก็เลยเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเด็กหน้าห้อง กล้าแสดงออก และเป็นประธานนักเรียน” เขาเล่า พร้อมย้ำว่า ตอนนั้นเป็นช่วงม. 5 จุดพลิกผันนั้น ทำให้ต้องปรับตัวเองจากเด็กที่คุยไม่เป็น เดินตามหลังคนอื่น ไม่เคยชวนใครคุยก่อน ไปไหนเหมือนเป็นตัวแถม ก็ต้องเริ่มคุย เรียกว่า ล้างไพ่เลย อะไรที่ไม่เคยทำก็ต้องทำ ช่วงม.ปลาย มีจุดเปลี่ยนบางอย่าง คือ เริ่มคิดว่า เราเป็นเด็กที่โลกลืม ไม่มีใครรู้จักเราเลย เวลาไปเที่ยวไหน เพื่อนลืมเรา ด้วยความที่เป็นเด็กเงียบๆ อะไรก็ได้ ไม่พูดไม่จา จนมาคิดว่า ต่อไปเราจะเป็นอย่างนี้อีกเหรอ
           “มันมาจากที่เราเสียใจ เราเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเพื่อน แต่เพื่อนลืมเรา ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เวลาเพื่อนนึกถึงเอกราชแล้วนึกไม่ออก เวลาเดินตามเพื่อนไป เวลาไม่เห็นหัวโจกคนจะถาม คนนั้นไม่มาเหรอ แต่วันดีคืนดีที่เราเจอเหตุการณ์หลายๆ ครั้งแล้วเรามานั่งคิดว่า ภาพตอนที่เราจบมัธยมไป จะมีใครจำได้ไหมว่าเอกราชคือใคร ตอนไปเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนจะกลับมาเลี้ยงรุ่นกับเราไหม จะมีใครโทรมาชวนเราไปงานแต่งไหม วันหนึ่งเราอยู่ในที่ทำงาน จะมีใครนึกถึงเรา”
              เขากลับมาคิดว่า ถ้า Input ไม่เปลี่ยน Output ก็จะเหมือนเดิม ดังนั้นต้องเปลี่ยน Input จากที่ไม่เคยเริ่มชวนใครคุยก็ต้องเริ่ม ถ้าถามว่ายากไหม ก็ยากแค่ครั้งแรก เปลี่ยนจากไม่เคยเป็นลองครั้งแรก จากคนที่ไม่เคยพูดหน้าชั้น พูดหน้าเสาธง มันยากแค่ครั้งแรกครั้งเดียว พอเราเคยแล้ว ครั้งแต่ไปก็ไปได้ ฟีดแบกดีเลย ก็ยังชวนคุยไม่ค่อยเป็น แต่เริ่มทัก และสมองก็จะต่อยอดว่า จะคุยอะไรต่อ ตอนนั้นได้ How To Win Friend and Influence People ของเดล คาร์เนกี ก็ช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะเสน่ห์ของการเป็นเพื่อนที่ดีคือต้องเป็นนักฟังที่ดี เวลาเขาเล่าอะไรมา เราต้องถาม ต้องขยี้ ดึงให้เขาเล่าออกมาให้มากที่สุด หลังๆ เลยชอบฟัง แน่นอนว่า ชีวิตมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปด้วย เข้าทุกกิจกรรม สันทนาการ เต้นแร้งเต้นกา ทำหมด ชั้นจะต้องเป็นที่จดจำ ยิ่งแต้มต่อคือ จากมัธยมเราล้างไพ่ใหม่ ไม่มีใครรู้จักเรา เราก็กลายเป็นนักกิจกรรมสุดขั้ว การเรียนก็กลางๆ

::Work-Life Integration
          ตอนนี้ทำงาน 3 อย่าง คือ งานประจำที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมทุกเสาร์-อาทิตย์ และรับทำโปรเจคต์กลุ่ม E-Commerce Platform พวกเว็บไซต์ ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งก็ต้องบริหารจัดการเวลา โดยหาทีมงานเพราะเราทำไม่ได้ทุกอย่าง
             “เมื่อก่อนคือ Work-Life Balance ที่แบ่งครึ่งหนึ่งทำงาน อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่บ้าน แต่ตอนนี้ มันสามารถทำให้เป็น Work-Life Integration อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เพราะเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ อย่างผมพาครอบครัวไปต่างจังหวัดก็สามารถทำงานได้ ตอนที่ลูกว่ายน้ำ ผมก็สามารถตอบอีเมล์เขียนแผนงาน ฯลฯ เทคโนโลยียังทำให้เราประชุมนอกสถานที่ได้ เห็นหน้ากัน โชว์แผนคุยกัน”
           เขาย้ำว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาส่วนตัวหรือเวลางาน เพราะเวลางานเราก็สามารถคุยกับลูกได้ ผมไม่ได้ตีเส้นว่าตรงนี้คือขาว ตรงนั้นคือดำ ที่แยกแยะชัดเจน แต่ผมทำทุกอย่างได้หมด ซึ่งลูกเข้าใจแม้จะมีงอนบ้าง สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ เขา ไม่ได้รู้สึกว่าเยอะไป เรายังมีแรง มีพลังอยู่ ตราบเท่าที่เรายังทำได้ ก็จะทำเพื่อไม่ให้มานึกเสียดายทีหลังว่า 10 ปีที่แล้ว ทำไมคิดได้แต่ไม่ทำ อย่างไรก็ดี มีเวลาดูแลสุขภาพน้อยมาก แต่วิ่งอาทิตย์ละครั้ง มีเวลาส่วนตัวจริงๆ แค่ครึ่งวันเสาร์เช้า ซึ่งจะพยายามวิ่งให้ได้ 1 ชั่วโมง ยืดเหยียดตัวเอง และพยายามเดินให้มากๆ เริ่มวางเป้าของตัวเองว่า วัย 50 ปี คงจะไปทำเกษตรอินทรีย์อยู่ที่บ้านต่างจังหวัด เพราะถึงเวลานั้นที่เรามีอิสรภาพทางการเงิน ลูก ๆ โตหมดแล้วก็จะไปอยู่แบบถนอมสุขภาพ เพราะตอนนี้เราทำงานเยอะ ใช้ร่างกายหนัก

::คุณพ่อขอเลี้ยง
           การเลี้ยงลูกเป็นหนึ่งสิ่งที่เอกราชกระตือรือร้นที่จะบอกเล่า ด้วยเขาตั้งเป้าว่า ไม่ได้ต้องการให้ลูกเป็นคนเก่ง เป็นที่ 1 แต่อยากให้ลูกอยู่ในสังคมได้ เข้าใจชีวิต
           “เราเอาประสบการณ์ของตนเองมาผสมด้วย เพราะตอนเรามองย้อนกลับไป มานั่งวิเคราะห์ตัวเองว่า ตัวเราโตมากับพี่เลี้ยง Mindset ที่ถูกปลูกฝังมาจากการโตมากับพี่เลี้ยงหรือคุณปู่คุณย่า จะคอยบอกให้เราเรียบร้อย เพื่อที่เขาจะไม่ต้องเหนื่อย เขาจะไม่สอนให้เรากล้าแสดงออก ทุกคำจะป้อนอยู่ในสมองว่า อย่า นั่งเฉย ๆ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้ เราก็จะกลัวคล่อมจังหวะตลอดเวลา ก็จะนั่งเฉยๆ เป็นเด็กเรียบร้อย”
            พอทุกวันนี้ไขปริศนาออก ก็เอามาสอนลูก ลูกเล่นใกล้กาน้ำร้อน ก็จับมือลูกไปแตะกาน้ำร้อน พร้อมบอกว่า ถ้าหนูโดนจะเป็นแบบนี้นะ ร้อนนะ ลูกก็ไม่เข้าใกล้อีกเลย การอสนะไม่มีคำว่าอย่า เลย ที่บ้านนี่ วาดเขียนเต็มกำแพง ของถูกแกะแงะเต็มไปหมด เราต้องต่อยอดให้เขากล้าแสดงออกและท้าทายเขาเยอะๆ
           “เราถูกสอนให้เป็นคนดี เรียบร้อย แต่โตมาเราอยู่ไม่รอดในสังคม เราเป็น “โนว์บอดี้” ในสังคม เราควรจะสอนให้เด็กคิดเป็น อย่าเอาความเป็นผู้ใหญ่ไปครอบเขา ตอนนี้ก็เลี้ยงเอง เหนื่อยและยากมากเพราะต้องใช้พลังงานเยอะมาก โดยเฉพาะการต้องตอบคำถามเขา แต่ก็เป็นแนวทางที่อยากให้เป็น”
            เขามั่นใจว่า เด็กที่กล้าแสดงความต้องการของตนเอง เป็นเด็กที่เขามั่นใจว่า พ่อแม่คอยสนับสนุนและรักเขาอยู่ เพราะตอนนี้ ลูกสาววัย 5 ขวบ ที่แม้ว่า ภรรยาจะมีเวลาอยู่กับเขามากกว่า แต่คุณพ่อที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะอาบน้ำ ทำให้มีเวลาอยู่ด้วยกัน และลูกสาววางใจที่จะบอกเล่าสิ่งที่แม้แต่คุณแม่ก็ไม่บอก

* บทสัมภาษณ์เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ-จุดประกาย(กายใจ) ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2560