ยุทธศาสตร์ “การีนา” พลิกไลฟ์สไตล์ไทยสู่ยุคดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ “การีนา” พลิกไลฟ์สไตล์ไทยสู่ยุคดิจิทัล

ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่ปรับตัวให้รับกับเทคโนโลยี ถือเป็นกลุ่มที่มี potential เป็นโจทย์ของเราแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้

“การีนา ออนไลน์” หนึ่งในผู้ให้บริการดิจิทัลสัญชาติสิงคโปร์ แต่วันนี้เข้ามารุกธุรกิจดิจิทัลในไทยด้วยบริการที่หลากหลาย นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการ “เกมออนไลน์” ที่เป็นธุรกิจดันให้ การีนา ก้าวสู่สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงยุทธศาสตร์ของการีนาปีนี้ในตลาดไทย ที่กำลังก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และผู้บริโภคกำลังทรานสฟอร์มพฤติกรรมรับยุคดิจิทัลอย่างคึกคัก


ชู 3 ธุรกิจลุยตลาดไทย
ซีอีโอหญิง การีนา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การีนาในไทยปีนี้ จะอยู่ภายใต้ใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.ดิจิทัล คอนเทนท์ ให้บริการเกมออนไลน์ สื่อสารความบันเทิงออนไลน์ 2.เพย์เม้นท์ ช่องทางชำระเงินออนไลน์ และการใช้จ่ายออนไลน์ และ 3. อีคอมเมิร์ซ ที่มุ่งสู่ First Mobile Centric : C2C Marketplace ซื้อขายออนไลน์บนมือถือภายใต้ ชอปปี้ (Shopee)

"ยุทธศาสตร์การีนาปีนี้ เน้นให้บริการที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มวัยรุ่น และวัยเริ่มต้นทำงาน อายุระหว่าง15-30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นประจำอยู่แล้ว และพร้อมเปิดรับ ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ หน้าที่เรา คือ ทำให้คนกลุ่มนี้ชื่นชอบในผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการของการีนา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ หรือจัดทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง เพราะเราไม่อยากให้เขารู้สึกว่ารู้จักกับเราแค่เพียงผิวเผิน หรือในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังได้มีปฏิสัมพันธ์มีกิจกรรมร่วมกันกับเราแบบที่ได้พบเจอกันด้วย"

ยกตัวอย่าง เช่น ฝั่งเกมออนไลน์ จะจัดแข่งขันอีสปอร์ตให้คอมมูนิตี้ได้มาพบกัน หรืออย่างชอปปี้ จัดกิจกรรมเทรนนิ่งสนุกๆ สอนถ่ายรูป สอนแต่งหน้า ให้กับผู้ใช้งานในแพลตฟอร์มอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการจัด Shopee University ให้ความรู้กับผู้ขายเรื่องของการใช้แพลตฟอร์มอย่างไรที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ขณะเดียวกัน จะปรับปรุงบริการที่มีอยู่ให้มีความสะดวก น่าใช้งานขึ้น เพิ่มบริการใหม่เข้ามาในผลิตภัณฑ์ เช่น แอร์เพย์ (AirPay) ออนไลน์ เพย์เม้นท์ ล่าสุดสามารถสั่งพิซซ่าจากแอพได้แล้ว หรือในส่วนเกมพีซีออนไลน์ เพิ่งเปิดตัวเกมใหม่ Blade and Soule จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่นานนี้

เข้าถึงคนรุ่นใหม่อายุ15-30 ปี
“คือเราจะบอกว่า เราโฟกัสความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นหลัก แต่เรื่องการให้บริการเรามีการพัฒนา และยังเน้นบริการที่หลากหลายและครอบคลุมกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ซึ่งมี ไลฟ์ สไตล์ การใช้ชีวิตที่หลากหลายด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 15-30 ปี ที่ใช้งานด้านเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันค่อนข้างเยอะ คนกลุ่มนี้จะมีการรับอะไรใหม่ๆ ในเรื่องของดิจิทัล และเทคโนโลยีได้ง่าย เราจึงโฟกัสที่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ เพื่อให้การกำหนดไดเรคชั่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ตามกระแสตลาดอย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา แต่เรา positioning ตัวเองไว้ว่าเราอยากสร้างปรากฎการณ์มากกว่าคอยปรับตัวรับกับกระแสตลาดอยู่อย่างเดียว"

นางสาวมณีรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในเรื่องของเกมออนไลน์การีนาถือเป็นผู้นำตลาด ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จากนี้สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรธุรกิจอื่นๆ ขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการของตลาดอื่นๆ ด้วย

"เช่น ตลาดเกมมือถือ ที่ตอนนี้ยังไม่มีรายไหนครองสัดส่วนตลาดหลักอย่างถาวร ถือเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเกมมือถือมีอายุการเล่นเกมค่อนข้างสั้น ไม่กี่เดือน ก็มีเกมใหม่ๆเข้ามา เรามองว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่เราจะโตได้อีก”

ในส่วนอีเพย์เม้นท์ ขณะนี้ รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่แล้วที่จะทำให้เกิด Cashless Society เห็นจากบริการพร้อมเพย์ ที่คนเริ่มหันมาใช้งานกันมากขึ้นแม้อัตราการเติบโตยังช้า แต่ช่วยส่งเสริมธุรกิจแอร์เพย์ เพราะเชื่อว่า คนจะเปิดใจยอมรับและใช้งานมากขึ้น

"อีกโอกาสที่สำคัญ คือ วันนี้ เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มคนที่ใช้งานผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยียังเป็นคนกรุงเทพ และคนในหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของตลาด ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่ปรับตัวให้รับกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มี potential ที่จะใช้งานในอนาคต อันนี้จะเป็นโจทย์ของเราแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้"

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ธุรกิจด้านเอนเตอร์เทนเมนท์ และเกมออนไลน์ ยังคงเป็นตัวสร้างรายได้หลัก ส่วนแอร์เพย์ เริ่มทำรายได้ ซึ่งขยายไปสู่กลุ่มไลฟ์ สไตล์

"คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการทำทรานเซคชั่น และใช้จ่ายออนไลน์อย่างแท้จริง ในระบบอีเพย์เม้นท์ส่วนมากผู้ใช้งานจะมีความนิยมใช้งานเพียง 1 หรือ 2 ฟังก์ชั่นในระบบเท่านั้น เช่น ใช้โอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารเพื่อให้อีกบุคคลหนึ่ง หรือเพื่อโอนให้ผู้ขายในการซื้อของออนไลน์ แต่สำหรับแอร์เพย์ผู้ใช้งานหนึ่งคนมีการใช้งานมากกว่าหนึ่งฟังก์ชั่นที่ให้บริการ เช่น จ่ายค่าสาธารณูปโภค ซื้อตั๋วหนัง ตั๋วรถทัวร์ หรือแม้แต่การบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ ก็มี"


เผย ‘คีย์ ซัคเซส’ สตาร์ทอัพ
ด้วยความที่เติบโตมากจากสตาร์ทอัพถึงระดับ “ยูนิคอร์น” ที่โดดเด่นในภูมิภาค นางสาวมณีรัตน์ เผยถึง คีย์ ซัคเซส ว่า สิ่งที่จะนำสตาร์ทอัพไทยไปสู่ความสำเร็จ คือ ระบบนิเวศน์รวมต้องแข็งแกร่ง ปัจจุบัน หลายสตาร์ทอัพมีไอเดียน่าสนใจ แต่ด้วยองค์รวมที่จะสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จในสเกลที่ใหญ่ขึ้นอาจยังไม่ตอบโจทย์ ทำให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมากๆ ไปขอการสนับสนุนและพัฒนาต่อในต่างประเทศ ทำให้ไทยเสียโอกาส

อีกประเด็น คือ การที่มีสตาร์ทอัพหลายราย ที่ไอเดียดีในการสร้างผลิตภัณฑ์ และควรจะต่อยอดไปได้อีกไกลแต่กลับ มุ่งเน้นเพียงแค่การขอเงินสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาแบบไม่ตรงจุดหรือมุ่งเน้นการสร้างรายได้เป็นสำคัญ

"ความรู้พวกนี้ในไทยยังมีเพียงไม่กี่องค์กรที่เป็นองค์กรให้ความรู้กับเหล่าสตาร์ทอัพจริงๆ การสนับสนุนที่รวดเร็ว ตรงจุด ต่อเนื่องและมีความสอดคล้องกันจากภาครัฐในส่วนต่าง ๆ การปรับกฎหมายบางจุดอาจช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ เช่น ปรับปรุงกฎหมายภาษี เพื่อลดหย่อนภาษีให้สตาร์ทอัพ การยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับธุรกิจเงินร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนให้เกิดวีซี ลดปัญหาการขาดแคลนแหล่งเงินทุน"

ขณะที่ สตาร์ทอัพต้องปรับตัวเช่นกัน สิ่งที่ต้องทำคือรู้จักศึกษาและปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการวิจัยตลาด การวางแผนธุรกิจและแผนปฎิบัติการที่รัดกุม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จนถึงรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอย่างเต็มที่ สำคัญไปกว่านั้นคือเรื่องของ Internationalization แนวคิดที่ว่าการทำสินค้าและบริการในมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้การขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ขณะที่ การแสวงหาทีมงาน แหล่งทุน และพันธมิตรจากต่างชาติก็เป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสตาร์ทอัพ อีโค่ซิสเต็ม ถือว่าไทยค่อนข้างตามหลัง แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดี กระแสสตาร์ทอัพในไทยกำลังเป็นที่จับตามอง และเป็นที่น่ายินดีว่าจากที่ในปี 2555 มีไม่ถึง 3 รายที่ได้รับเงินทุนสนับสนุน แต่ปีที่ผ่านมานั้นมีสตาร์ทอัพมากกว่า 75 รายแล้วที่ได้รับเงินสนับสนุน รวมเป็นเงินมูลค่าสูงถึงกว่า 170 ล้านดอลลาร์กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุด คือ อีคอมเมิร์ซ และมาร์เก็ตเพลส รองลงมา คือ ฟินเทค ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน

นอกจากนี้หลายภาคส่วนได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันวงการสตาร์ทอัพไทยให้รุดหน้ามากยิ่งขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดี มีองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ สนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะจากฝั่งอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารและผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมไปถึงการออกมาสนับสนุนของรัฐบาล