ธุรกิจรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น

ธุรกิจรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น

ภาคธุรกิจตั้งรับดอกเบี้ยขาขึ้น "บ้านปู" เน้นระดมเงินล็อกดอกเบี้ยคงที่ ขณะ “กลุ่มเซ็นทรัล” เร่งรีไฟแนนซ์หนี้เดิม หวังปรับโครงสร้างต้นทุนดอกเบี้ย

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงส่งสัญญาณที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ หลังจากที่ปรับขึ้นไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่า เฟด จะทยอยลดขนาดของงบดุล ด้วยการถอนเงินลงทุนเดิมที่เฟดเคยอัดฉีดเข้ามาออกไป ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) สหรัฐเร่งตัวขึ้น ส่งผลต่อบอนด์ยีลด์ทั่วโลก รวมทั้งไทยที่ขยับขึ้นตาม และทำให้ต้นทุนการเงินในอนาคตปรับเพิ่มขึ้นด้วย

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานที่ปรึกษานายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และกรรมการบริษัทบ้านปู จำกัด(มหาชน) BANPU กล่าวว่า การที่ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องต้นทุนทางการเงินจึงเป็นจุดสำคัญ และแต่ละบริษัทจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบแวดล้อมของแต่ละบริษัท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำได้คือการหันกลับมาพิจารณาต้นทุนดอกเบี้ยของบริษัทที่มีอยู่ และต้องพยายามปรับดอกเบี้ยให้เป็นอัตราคงที่ในสัดส่วนที่มากกว่าที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว

‘บ้านปู’เน้นเงินกู้ดบ.คงที่

ปัจจุบัน บริษัทบ้านปู ปรับกลยุทธ์โดยใช้เครื่องมือการเงินที่มีอยู่ ทั้งแบบการเสนอขายหุ้นกู้ในอัตราคงที่ หรือการกู้ยืมสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดต้นทุนดอกเบี้ยคงที่ไว้ ประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือในรูปแบบการกู้ยืมจากสถาบันการเงินนั้นอาจต้องรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง แต่เป็นแค่ผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น หากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจริงในที่สุด ภาระต้นทุนก็จะไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจบรรเทาผลกระทบได้บ้าง

“ส่วนตัวประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่น่าจะปรับขึ้นได้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างมากอาจจะปรับขึ้นได้ประมาณ 1-2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งผู้ประกอบการ ยังพอมีเวลาที่จะบริหารความเสี่ยงได้ทันในตอนนี้”

รร.เซ็นทรัลเร่งรีไฟแนนซ์

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) CENTELกล่าวว่า ความเสี่ยงธุรกิจปีนี้ บริษัทมองประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งส่งกระทบกับต้นทุนการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นและกลยุทธ์ของบริษัทที่เตรียมรับมือเรื่องดังกล่าว คือ การเร่งรีไฟแนนซ์หนี้ที่มีอยู่ เพื่อทำให้มีต้นทุนทางการเงินถูกลงจากปัจจุบัน

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้น ดังนั้น การบริหารต้นทุนทางการเงิน เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุด”

สำหรับการรีไฟแนนซ์ของบริษัท ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4ปีที่แล้ว โดยบริษัทได้ดำเนินการไปแล้วมูลค่าราว2,500 ล้านบาทและในปีนี้จะมีการรีไฟแนนซ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากการรีไฟแนนซ์แล้ว บริษัทยังปรับลดต้นทุนต่างๆ และควบคุมต้นทุนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่แล้ว ถือว่าทำได้ดี ส่งผลให้กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยจ่าย และ ค่าเสื่อมราคา(อีบิทดา)ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14 เท่า จากก่อนหน้าที่ระดับ 12- 13 เท่า และบริษัทมุ่งหวังจะรักษาระดับ 13 % ให้ต่อเนื่องในปีนี้

ส่วนความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าปัจจุบันจะมีความเสี่ยงของค่าเงินสหรัฐที่แข็งค่าต่อเนื่องหลังจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟดเกิดขึ้นซึ่งในเรื่องดังกล่าว บริษัทมองว่าไม่มีความเสี่ยง เนื่องจาก บริษัทมีความระมัดระวังอยู่แล้ว โดยในการลงทุน หรือค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ บริษัทจะใช้จ่ายเงินสกุลดอลลาร์มากกว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เป็นภาระเพิ่มขึ้น

สำหรับการเติบโตในปีนี้บริษัทประเมินว่า ยังมีทิศทางที่ดี โดยอัตรายอดการเข้าพักโรงแรมช่วงเดือนมี.ค.2560เริ่มปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าช่วงเดือนก.พ. และเม.ย.จะมียอดการเข้าใช้บริการที่ไม่สูงมากนัก
บ้านปูเน้นดอกเบี้ยคงที่60%

‘เอสซีจี’ใช้หุ้นกู้คุมต้นทุน

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การเงินและการลงทุน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) SCC กล่าวว่า การที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่ภาวะขาขึ้นนั้น มองว่า ผู้ประกอบการควรใช้ความระมัดระวังในเรื่องการบริหารเงินลงทุน ไม่ควรลงทุนเกินกำลัง และควรตระหนักถึงความเสี่ยงในเรื่องภาระต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งแต่ละบริษัทน่าจะมีกรอบหรือขีดจำกัดการใช้เงินลงทุน ก่อนจะตัดสินใจที่จะนำเงินมาลงทุน

สำหรับ เอสซีจี มีนโยบายรักษากระแสเงินสดกับอีบิทดา (กำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมและอัตราดอกเบี้ย) ให้อยู่ในระดับ 2.5 เท่าและต้องพยายามรักษาระดับดังกล่าวไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาวะการเงินและเศรษฐกิจมีความผันผวนรุนแรง หรือไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

“บริษัทเอสซีจีใช้เครื่องมือทางการเงินคือการเสนอขายหุ้นกู้เพื่อควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกับสถานการณ์ ปัจจุบันต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัทไม่สูงหรือไม่เกิน 4% และถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับปัจจุบัน”

ดบ.เฟดความเสี่ยงใหญ่

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(ไอโอดี) กล่าวว่า ความเสี่ยงของภาคเอกชนในปีนี้ มาจากความผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศที่มากขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนในภาพรวม

“ความเสี่ยงต่างประเทศที่ต้องติดตามมากสุด คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐซึ่งการปรับเพิ่มดอกเบี้ยจะมีความรวดเร็วขนาดไหนหากปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาท ส่งผลกระทบกับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก”

นอกจากนี้ ยังต้องตามนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐว่า จะมีมากน้อยเท่าใด รวมถึงการอัดฉีดนโยบายทางการคลังที่อาจจะมาช้ากว่าที่คาดการณ์ส่วนปัจจัยที่นอกเหนือสหรัฐนั้นจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศไทยนั้นประเมินว่า ยังไม่พบปัจจัยความเสี่ยงที่มากนักภาพรวมเศรษฐกิจ ยังมีการเติบโตที่ดีและความผันผวนต่างประเทศที่เกิดขึ้นอาจจะมีผลกระทบกับไทยไม่มากเพราะพื้นฐาน ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมองว่า น่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นในเร็ววันนี้เนื่องจากดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังต้องการปัจจัยการกระตุ้นให้ฟื้นตัวเพิ่มขึ้น

บอนด์ 10ปี ดบ.ส่อแตะ5.25%

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) กล่าวว่า นักลงทุนควรเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพการลงทุนในยุคที่เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับการลดขนาดงบดุล ด้วยการลดการลงทุนเดิม(reinvest) แต่ผลกระทบดังกล่าวที่มีต่อตลาดการเงิน เชื่อว่าจะไม่รุนแรงนัก เพราะเฟดน่าจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า แนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) รัฐบาลไทย จะทยอยปรับเพิ่มขึ้น โดยบอนด์ยีลด์รุ่นอายุ 2 ปี จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ก่อนทอยปรับขึ้นเป็น 3.5% ในปลายปี 2562 เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์รุ่นอายุ 10 ปี ที่น่าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% ในช่วงครึ่งแรกปี 2561 ก่อนทอยปรับขึ้นเป็น 5.25% ในปลายปี 2562

นายพูน กล่าวว่า ประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้รวม 3 ครั้ง โดยขึ้นครั้งละ 0.25% พร้อมกับการลดขนาดของงบดุล ด้วยการดึงเงินลงทุนที่หมุนเวียนในปัจจุบันกลับมา โดยการลดขนาดงบดุลนั้น จากสถิติในอดีตพบว่า ส่งผลต่อดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.6% ขณะเดียวกัน มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้น 1 ครั้ง ที่ 0.25%ในปลายปีนี้ และปีหน้าปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง โดยขึ้นครั้งละ 0.25%