ทาเลนท์โมบิลิตี้ จุดนัดพบวิจัย-เอกชน

ทาเลนท์โมบิลิตี้ จุดนัดพบวิจัย-เอกชน

วัคซีนโรคภูมิแพ้และน้ำยาสกัดชุด All VACtest10 ตัวอย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ส่งต่อภาคเอกชนได้สำเร็จ ภายใต้โครงการทาเลนท์ โมบิลิตี้

วัคซีนโรคภูมิแพ้และน้ำยาสกัดชุด All VACtest10 ตัวอย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ส่งต่อภาคเอกชนได้สำเร็จ ภายใต้โครงการทาเลนท์ โมบิลิตี้ (ทีเอ็ม) ตอบโจทย์ผู้ประกอบการให้สามารถสร้างรายได้จากนวัตกรรม


ทาเลนท์โมบิลิตี้ หรือโครงการเคลื่อนย้ายกำลังคนจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน เสมือนการปลดล็อคนักวิจัยจากข้อระเบียบจากราชการให้สามารถช่วยเอกชนทำวิจัยได้คล่องตัวขึ้น ดำเนินการเต็มรูปแบบเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลกำหนดให้ประเทศไทยมีโครงการขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม


“การจะขับเคลื่อนเรื่องของนวัตกรรมนั้น ไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับเครื่องจักรและอาคารปฏิบัติการแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีเรื่องของคนที่มีศักยภาพในการคิดค้น วิจัยและพัฒนา รวมอยู่ด้วย” นายอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ( สวทน. ) กล่าว


สะพานเชื่อม “วิจัยพบเอกชน”


สวทน.เป็นผู้ดูแลโครงการทาเลนท์ฯ ได้รับงบสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 60-70 ล้านบาท คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการวิจัยไปยังบริษัทเอกชน 568 คน มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ 177 แห่งและมหาวิทยาลัยกว่า 21 แห่งทั่วประเทศที่สนับสนุนให้บุคลากรเข้าร่วมในโครงการ รวมถึงนักวิจัยจากหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ทั้งนี้ ภาควิชาหรือคณะที่เป็นต้นสังกัดของนักวิจัยจะได้รับเงินชดเชย 1.5 เท่าของเงินเดือนนักวิจัยแต่สูงสุดในแต่ละเดือนไม่เกิน 6 หมื่นบาทให้นำไปพัฒนาการเรียนการสอนทดแทนบุคลากรที่ไปทำงานในภาคเอกชน


ผศ.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนากำลังคนสะเต็ม สวทน. กล่าวว่า สวทน.เคยนำเสนอ 3 มาตรการสนับสนุนโครงการทาเลนท์ฯ ต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. ให้โครงการทาเลนท์ฯ เป็นตัวชี้วัดผลงานที่สำคัญ (KPI) ในการพิจารณาเกี่ยวกับงบประจำปีของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐ 2. เสนอให้นับระยะเวลาปฏิบัติงานในโครงการทาเลนท์ฯ เป็นอายุราชการ และเป็นระยะเวลาใช้ทุนให้กับหน่วยงานต้นสังกัดกรณีผู้ติดทุนรัฐบาล 3. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ผลการปฏิบัติงานยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือตำแหน่งอื่นๆ รวมถึงการเลื่อนเงินเดือนประจำปี

นำร่องโฟกัสเกษตรและอาหาร


“โครงการทาเลนท์ฯ ปีนี้ึีี่จะโฟกัสเซกเตอร์เกษตรและอาหาร ซึ่งมีมูลค่าการพัฒนาและวิจัยสูงที่สุด และมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลกว่า มูลค่าด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารจะไต่อันดับสูงขึ้น เพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยและอาหารเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งต้องพึ่งพาการวิจัยว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้อาหารมีคุณภาพและประสิทธิภาพตามที่ต้องการ” นายอัครวิทย์ กล่าว


การวิจัยตอบโจทย์ดังกล่าวจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกับภาคเอกชนผ่านกลไกสนับสนุนจากโครงการทาเลนท์ฯ เนื่องจาก 80% ของนักวิจัยกระจุกตัวอยู่ในภาครัฐ จึงเป็นที่มาของการปลดล็อคให้คนจากภาครัฐสามารถไปทำงานในภาคเอกชน โดยนับว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ยกตัวอย่าง นักกีฏวิทยาของมหาวิทยาลัยมหิดลไปช่วยเอกชนทำวิจัยผลิตสารตั้งต้นสำหรับวัคซีนโรคภูมิแพ้และน้ำยาสกัดชุด All VACtest10 กระทั่งสร้างรายได้จากนวัตกรรมเป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวกับการผลักดันนวัตกรรมอาหารโดยใช้นักวิจัยด้านเกษตรและอาหารในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ สวทน.จึงร่วมกับสมาคมการจัดการแห่งประเทศไทย(ทีเอ็มเอ) จัดทำฐานข้อมูลเรื่องกำลังคนและนักวิจัยด้านเกษตรอาหารอย่างละเอียดว่า ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใด อยู่ที่ไหน พร้อมทั้งกำหนดจัดงาน Talent Mobility for Food Innovation 2017 ระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค.นี้ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงศักยภาพบุคลากรด้านอาหารของไทย ในการนำงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์