ถอดรหัสผู้นำค้าปลีก Shift ออนไลน์

ถอดรหัสผู้นำค้าปลีก Shift ออนไลน์

เมกะเทรนด์ “ออนไลน์” เปลี่ยนเกมธุรกิจค้าปลีก ท้าทายพี่เบิ้มค้าปลีกไทย ถึงเวลาเก็บเกี่ยว“บิ๊กดาต้า” วิเคราะห์พฤติกรรมขาช้อป ยุคช้อปข้ามโลก

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปั่นป่วนหลายธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ "ธุรกิจค้าปลีก" กับการช้อปสินค้าข้ามโลก (อีคอมเมิร์ซ)  ส่งผลให้ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกของไทย "เร่งฝีเท้า" ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ รวมถึง แพลทินัมเป็นต้น 

“กลุ่มเซ็นทรัล” ถือหนึ่งใน“ผู้นำ” ทางการตลาดเกือบทุกกลุ่มธุรกิจทั้งห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ท บริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือและออนไลน์ ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม รีสอร์ทในต่างประเทศทั้งอาเซียน เอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป นี่เป็นนิยามบ่งบอกตัวตนที่เป็นเซ็นทรัลในห้วงเวลา 7 ทศวรรษ 

และย้ำภาพว่า“เซ็นทรัลแข่งขันในตลาดโลกได้ไม่เป็นรองใคร” 

ทว่า สถาพแวดล้อมของการทำธุรกิจในปัจจุบัน ไม่เอื้อให้การค้าแบบเดิมๆให้ดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภค โลก การแข่งขัน การค้าขายที่เปลี่ยนไปล้วนเกิดจากพลังของ “ดิจิทัล” 

จวนจะจบไตรมาสแรกแล้ว สำหรับการเคลื่อนธุรกิจในปี 2560"ธุรกิจออนไลน์" เป็นเหมือนสปอตไลท์ดวงโต ที่เหล่า“บิ๊กเนม”  ทั้งไทยและเทศขยับตัวแรงเข้ามาแสวงหาแสงทองแห่งโอกาสตลาดมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านบาท ทั้ง อีเลฟเว่นสตรีท (www.11street.co.th/) ค้าออนไลน์เบอร์ 1 จากแดนโสมที่ทุ่มงบ 1,000 ล้านบาทปักหมุดธุรกิจในไทย ก่อนหน้ามีทั้งอาลีบาบายักษ์ออนไลน์แดนมังกร และลาซาด้ายักษ์ออนไลน์รายใหญ่ในอาเซียนที่ปักป้ายมาร์เก็ตเพลสไว้ก่อนแล้ว

แรงกดดันเหล่านี้ “ค้าปลีก” แบบเดิมๆ อยู่เฉยไม่ได้ และ “ยักษ์ใหญ่” อย่างเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ไม่ยอมเสียเชิงผู้นำตลาดค้าปลีก

ได้เวลา“Shift” ตัวเองสู่ออนไลน์เต็มสูบ !

"ในอดีตเรารู้มากกว่าลูกค้า ปัจจุบันลูกค้ารู้มากกว่าเรา แค่นี้ก็เปลี่ยนเยอะแล้ว" ประโยคสะท้อนสถานการณ์ค้าปลีกที่เปลี่ยนไป“ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้มุมมอง โดยมีดิจิทัลเป็น“ฉนวน”ให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset)จากการลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้ามาสู่การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงพนักงานก็จะต้อง“ปรับโหมด”เป็นผู้รู้เรื่องเทคโนโลยีให้มาก

ทศยังระบุด้วยว่า การลงทุนจะไปทางนี้ที่สำคัญต้องทำทันทีต้องเริ่มตอนนี้ ต้องเดี๋ยวนี้ ช้าไม่ได้ เพราะอนาคตทุกอย่างจะเปลี่ยนหมดไม่ใช่แค่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเดียวที่จะเปลี่ยน แต่จะเกิดขึ้นยกกระบิทุกธุรกิจ ทั้งอุตสาหกรรมธนาคาร และสื่อ เป็นต้น

“รีเทลจะเปลี่ยนออนไลน์มาแน่ ห้างสรรพสินค้าทั่วโลกเริ่มต้นมา 100 กว่าปี ศูนย์การค้าเริ่มมาเกือบ 100 ปี ส่วนออนไลน์มี Amazon เริ่มมา 20 กว่าปี ฉะนั้นวิวัฒนาการจากห้างมาเป็นศูนย์การค้า อนาคตก็ต้องเป็นออนไลน์ เราก็ต้องเข้าสู่ออนไลน์เต็มที่”

ทว่า ด้วยห้างร้านต่างๆที่เซ็นทรัลมีทั่วไทย มีลูกค้า ซัพพลายเออร์ โจทย์จากนี้คือทำอย่างไรจะเชื่อม “ออฟไลน์-ออนไลน์” ให้เป็นหนึ่งเดียว และอีกหน่อยลูกค้าจะมีมือถือ สมาร์ทโฟนกันหมด ทุกอย่างทำได้ผ่านมือถือ

ทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อ “ออนไลน์” ก็ได้ ซื้อ“ออฟไลน์” (หน้าร้านการค้า) ก็ได้!

“เซ็นทรัลต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า หรือ customer focus ลูกค้าต้องการอะไร เราสามารถตอบสนองความต้องการผ่านมือถือได้“เขาบอกและว่าเราเน้น Omni Channel กับลูกค้าต้องเชื่อมกันให้ได้"

การก้าวสู่ออนไลน์เต็มตัว แผนธุรกิจปี 2560 สำหรับเซ็นทรัลจึง “เตรียมลุย” ในด้านการระดมพลคนทำงานให้มาด้านนี้ ไล่เลียงตั้งแต่"ผู้บริหารระดับสูง" เพื่อมาขบคิดหาทางว่าจะต้องเดินเกมไปข้างหน้าอย่างไร

ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ห้วงเวลาที่ฝั่งออนไลน์มาแข่งกับออฟไลน์กันเอง แต่ต้องผสานธุรกิจให้เป็นเรื่องเดียวกัน "มาแข่งกันเองข้างใน (องค์กร) มันไม่เวิร์ค ฉะนั้นองค์กรต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค"

นอกจากลดพรมแดนการแข่งขันกันเองในองค์กร ทศยังต้องทำให้ “บุคลากร” เชื่อว่า โลกค้าปลีกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และออนไลน์เรื่องเป็นสำคัญมาก เป็นเรื่องของอนาคต แค่เปลี่ยนความคิดตรงนี้้ก็กินเวลานานถึง 3 ปี “กว่าจะเก็ท (เข้าใจ)”

พร้อมกันนี้ ยังใส่เม็ดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีรับดิจิทัลพอหอมปากหอมคอ 3,000-4,000 ล้านบาทในปีนี้ ก่อนจะเพิ่มถึงหลัก “หมื่นล้านบาท” ในปีถัดไป 

“อนาคตเราต้องลงทุนเป็นหมื่นล้าน ปีหน้าคงเริ่มแล้ว เพราะเราไม่มีเวลา” เขาย้ำ 

นอกจากการวางระบบหลังบ้านสร้างมาร์เก็ตเพลส การวิเคราะห์ข้อมูล “โลจิสติกส์” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องโฟกัส เพราะคือหัวใจสำคัญในการส่งสินค้าถึงจุดหมายปลายทางนั่นคือ “ผู้บริโภค” ปัจจุบันในมุมของผู้ขนส่งสินค้าออนไลน์ต้องยอมรับว่า ต่างชาติก็เข้ามามีบทบาทด้านนี้ค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ธุรกิตต่างชาติ ที่เข้ามามากไม่แพ้กันคือ บรรดา Marketplace ระดับโลก ดังที่เอ่ยนามไปข้างต้นทั้งอาลีบาบา, อีเลฟเว่นสตรีท ฯ ออนไลน์ยังทำให้การชอปปิงไร้พรมแดน เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ช้อปข้ามโลก สั่งซื้อสินค้าจาก e-Bay Amazon ตลอดจนเว็บไซต์แบรนด์สินค้าดังโดยตรง จุดนี้มีผลต่อการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน ทศบอกว่า สถานการณ์แข่งขันแบบนี้มีทุกยุคทุกสมัย โดยยุคของบิดา(สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์) สร้างห้างก็มีไดมารูเข้ามา ยุคตนก็มีทั้งคาร์ฟูร์ เทสโก้ 

“เหมือนกันทุกยุค ไม่ต่าง”

แต่ยอมรับ การแข่งขันกับค้าปลีกออนไลน์ระยะหลังเริ่ม “เบลอ” ภาพไม่ชัดเจนตรงที่ว่า “อะไรคือความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม” เมื่อออนไลน์บิ๊กๆของโลก เช่น Amazon ขายสินค้าและบริการข้ามประเทศได้ แต่ “ไม่ต้องเสียภาษี” ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคล ผู้บริโภคก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ในเมื่อห้างร้านค้าออฟไลน์ยังเสียภาษีทุกประเภท นอกจากกระทบขีดแข่งขันของผู้ประกอบการไทยแล้ว ประเทศชาติก็สูญเสียรายได้ด้วย

“การแข่งขันก็งงๆ รัฐต้องเริ่มจัดระบบระเบียบด้านภาษี ไม่งั้นมีผลต่อการแข่งขัน”

ส่วนการ “เผาเงิน” (Burn money) เพื่อดึงทราฟฟิกเข้ามายังหน้าร้านออนไลน์ จนธุรกิจไม่ทำกำไร ทศมองประเด็นนี้เกิดจากธุรกิจยังไม่ได้ขนาด (Economy of scale) แต่สำหรับออนไลน์ของเซ็นทรัล เชื่อว่ามีความ “ได้เปรียบ” คู่แข่ง เพราะแต้มต่อจากมีออฟไลน์อยู่แล้ว เมื่อออนไลน์มาเสริม ภาพรวมต้นทุนจึงต่ำกว่าคู่แข่ง

 “นั่นเป็นภาวะการแข่งขัน คนทำออนไลน์แล้วไม่มีอะไรเลย เสียเปรียบกว่าเยอะ ในช่วงต้นจะขาดทุนเพราะเขาต้องสร้างอีโคโนมีออฟสเกล แต่เซ็นทรัลมีสเกลอยู่แล้่ว เมื่อเราทำออนไลน์จึงไม่มีปัญหานั้น และน่าจะทำกำไรได้ เพราะต้นทุนถูกกว่าเยอะ” เขาบอกพร้อมยกตัวอย่างธุรกิจออนไลน์ในเวียดนามที่ร่วมกับเหงียน คิม เทรดดิ้ง จอยท์ สต็อค คอมพานี ผู้ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม ซึ่งขายสินค้าผ่านออนไลน์แล้ว 6% ทำแล้วมีกำไรด้วย!

แม้ออนไลน์เป็นเมกะเทรนด์ เป็นโลกการค้าใบใหม่ แต่ ทศยังเชื่อมั่นว่า "ออฟไลน์จะไม่หายไป แต่ภาพรวมค้าปลีกจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีใครทายถูกว่าสัดส่วนออฟไลน์-ออนไลน์จะเป็นเท่าไหร่ เพราะหลายประเทศบรรดาขาช้อปยังซื้อสินค้าผ่านช่องทางแตกต่างกันไป อย่างอิตาลีช็อปออนไลน์น้อยมาก ส่วนสหรัฐ จีนช็อปออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ" 

แต่เมื่อเซ็นทรัล Go Online สิ่งที่อยากเห็นคือ สัดส่วนรายได้จากช่องทางนี้เพิ่มเป็น 15% ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันน้อยมากราว 1% และต้องการเติบโตเป็น 100%

“นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุดในรอบ 70 ปีของเซ็นทรัล รวมถึงทุกองค์กร เพราะหากคนไม่ไปธุรกิจก็ไม่ขยับแน่นอน และถือเป็นความท้าทาย เพราะธุรกิจค้าปลีกเหมือนเริ่มต้นใหม่”

เมื่อแม่ทัพใหญ่ประกาศกร้าวรุกออนไลน์ “บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน”  และ “บัตรเซ็นทรัล เดอะ วัน เฟิร์สช้อยส์ หรือ“T1” ขุมทรัพย์ข้อมูลผู้บริโภค (Big Data) กลุ่มเป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลกว่า 11.3 ล้านราย ก็ต้องขานรับนโยบายองค์กร

“ยอดขายของกลุ่มเซ็นทรัลกว่า 3.32 แสนล้านบาท มาจากฐานลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเดอะวันการ์ดถึง 70%”  ระวี พัวพรพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายบริหารลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด สะท้อนถึงความสำคัญของฐานข้อมูล

“ลูกค้าเหล่านี้ เราอยากดูแลเขาให้ดีมากขึ้น จึงลงทุนเรื่องระบบและทำเรื่อง Centrality เพื่อยกระดับให้การบริการ” 

ล่าสุดเซ็นทรัลผนึก “กรุงศรี กรุ๊ป” เปิดตัว “บัตรเครดิตเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน” และ “บัตรเซ็นทรัล เดอะวัน เฟิร์สช้อยส์”หรือ T1 ดีไซน์บัตรเครดิตและบัตรเฟิร์สช้อยส์ T1 ใหม่ มอบสิทธิประโยชน์ “เฉพาะเจาะจง” นำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น รวมทั้งมอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าใช้จ่ายได้นอกเหนือจากเครือเซ็นทรัล ไม่ใช่อยู่ดีๆส่งคูปอง โบชัวร์โรงแรม ร้านอาหารที่ลูกค้าไม่ได้ใช้ไปให้เหมือนเมื่อก่อน

“เราจะมีข้อมูลลูกค้าเกี่ยวกับลอยัลตี้โปรแกรม เช่น คุณมาซื้อสินค้าที่ท็อปมาร์เก็ตทุกวัน ซื้อแต่ผักผลไม้เพื่อสุขภาพ หากเราส่งสินทธิประโยชน์ร้านอาหารไปให้ก็จะเป็นร้านสุขภาพ ไม่ใช้ร้านอะไรก็ได้ แต่จะเป็นเพอร์ซันนอลไลฟ์ (พฤติกรรมการใช้ชีวิต) มากขึ้น” เขาไม่อยากบอกว่าจะตอบโจทย์ถึงขั้น Individual (ส่วนตัว) แต่อนาคตหากมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี แอพลิเคชั่นรองรับ ก็อาจทำได้

ในปี 2560 เครือเซ็นทรัล ประกาศทุ่มงบ 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนดิจิทัล ในจำนวนนี้ ฝั่ง T1 จะใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เพ่ื่อลงทุน Core engine ระบบที่ใช้ในการเชื่อมต่อทุกธุรกิจของเครือเซ็นทรัล ซึ่งเดิมระบบที่มีรองการสะสม และแลกคะแนนของบัตร T1 ได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีท็อปส์ เข้ามาทำให้การทำรายการดังกล่าวเพิ่มเป็ยหลัก “แสนรายการ” จากหลักหมื่น และในอนาคตคาดการณ์จะถึง“หลักล้าน”

เมื่อมีข้อมูล “มหาศาล” การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลต่างๆไม่ง่าย สเต็ปแรกจึงลงทุนอีกราว 100 ล้านบาทเพื่อสร้างเครื่องมือ ในการวิเคราะห์ข้อมูลของขาช็อป

ระบบมันใหญ่ ใช้คนวิเคราะห์ไม่ได้ ต้องใช้ซอฟท์แวร์ในการคำนวณความสัมพันธ์ในการใช้จ่ายของลูกค้า  เขายกตัวอย่างการช็อปของต่างประเทศ เมื่อคุณพ่อต้องออกไปซื้อเบียร์ โปรแกรมจะคำนวณให้ทันทีว่าลูกค้ารายนี้ต้องซื้อผ้าอ้อมกลับไปด้วย บางประเทศพยากรณ์อากาศถ้าฝนตกแบบต่างๆ จะมีลูกค้ามาซื้อสินค้ามากน้อยแค่ไหน ฝนตกแล้วช้อปออนไลน์แทน หรืออากาศสดใส ก็ส่งโปรแกรมดึงดูดลูกค้าให้ออกมาชอปปิง เป็นต้น

เพื่อขานรับเทรนด์ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เซ็นทรัลยังเตรียมสร้างโปรดักท์การชำระเงิน(Payment) ประเภทอื่นอีกหลายรายการ แต่ปีนี้ขอประเดิมตัวแรกให้ออกมาก่อน

และอีกอย่างที่อยากทำเพื่อ “สื่อสาร” กับลูกค้าที่ทำให้ “แฮปปี้” โดยพยายามครีเอท “โมเดลใหม่ๆ” ที่ใช้สื่อสารให้เป็นมากกว่า Line ที่สำคัญจะต้องเชื่อมต่อการสื่อสารกับทุกแบรนด์ของเครือด้วย 

“ธุรกิจของเราผูกกับบัญชีไลน์ (Line official) เยอะ แต่โมเดลใหม่จะต้องเชื่อมการสื่อสารทั้งหมดทุกแบรนด์และหลังบ้านต้องเชื่อมต่อบัตรT1 ด้วย” 

ทั้งนี้ก็ยังต้องพิจารณาว่าระบบและโมเดลที่ว่าจะเอื้อกับขาช้อปชาวไทยหรือไม่ และหากเป็นลูกค้าเซ็นทรัลจะพึงพอใจไหม ?

“การเก็บฐานข้อมูล (Data base) จะทำให้เเราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และบัตร T1 จะกลายเป็นระบบบิ๊กดาต้าที่สำคัญในอนาคต พูดแบบบ้านๆ เหมือนเรามีความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ก็เหมือนมีสมองช่วยคิดว่าจะให้บริการอะไรแก่ลูกค้า จะบริการอย่างไร ปรับปรุงบริการอย่างไร ให้ลูกค้าแฮปปี้ที่จะมาช้อปที่ห้างเรา”

เร็วๆนี้ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการประเภทร้านขายปลีกเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครือเซ็นทรัล เตรียมเปิดตัวออนไลน์ใหม่เพื่อเป็นช่องทางหลักในการชอปปิง สิ่งที่ T1 จะทำคือเตรียมฐานข้อมูลให้แก่ซีโอแอลให้เรียบร้อย และสิ่งที่ต้องเตรียมต่อไปคือช่องทางที่เชื่อมต่อกับเขา (ซีโอแอล) เพื่อให้ลูกค้าชอปปิงสะดวกขึ้น ซื้อปุ๊บได้สินค้าเลย

“ในอนาคตอันใกล้ทุกอย่างจะต้อง Real time ทั้งชอปปิง สะสมคะแนน แลกคะแนน รับของและสิทธิประโยชน์ต่างๆฯ"

หากแพลตฟอร์มเหล่านี้แล้วเสร็จ ระวี เชื่อว่า เครือเซ็นทรัลจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว! เพราะจากนี้ไปเซ็นทรัลจะไม่ได้บริการลูกค้าแค่บนออฟไลน์-ออนไลน์เท่านั้น แต่ไม่ว่าลูกค้าเป้าหมายจะซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มใด ก็สามารถให้บริการ “ข้ามไขว้” กันได้สบาย 

เช่น ลูกค้าไปทานข้าวที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่ไม่มีเวลาช้อป ระหว่างนั้นก็ช้อปออนไลน์ และแชทอีคอมเมิร์ซให้พนักงานไปเจอลูกค้าบริเวณจุดนัดพบเพื่อส่งมอบและชำระค่าสินค้า ประหยัดเวลา และเท่านี้ก็เสร็จสิ้นกระบวนการชอปปิง

แน่นอนว่า แผนขับเคลื่อนดังกล่าวไม่ได้ง่ายนัก เพราะภารกิจหินยังมีอยู่มาก ซึ่งระวีมองว่า 

"โจทย์ยากสุดออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ..ตอนนี้คู่แข่งไปได้เร็ว อีคอมเมิร์ซเรา(เซ็นทรัล)ไม่ได้เป็นเบอร์ 1 คนอื่นเป็น ซึ่งเป็นต่างประเทศเยอะ ถามผม..ถ้าคนช้อปแบบนี้เงินไหลออกนอกประเทศ ถ้าเซ็นทรัลจะทำได้ต้องสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา ซึ่งกว่าจะทำได้ ไล่ตาม..มองว่าช้า เราเลย “ข้ามช็อต” เลย เป็นออมนิแชนแนล เพราะจุดแข็งเราคือ “สโตร์” เมื่อลูกค้าซื้อของ เราพร้อมบริการ ขณะที่ออนไลน์มีระยะเวลาในการส่ง (Leed time) ดังนั้นโมเดลเราต่างกัน"  ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่า

นี่คือเทรนด์โลกค้าปลีก ที่เปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปจริงๆ

“คุณทศก็เลยบอกว่าปีนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าเราคงต้องเปลี่ยนแปลง และทำให้เป็นดิจิทัล เซ็นทราลิตี้ อันนี้เกิดแน่ๆ”  

---------------------------------

ค้าปลีกคึกคัก เสริมทัพออนไลน์ 

แหล่งข่าวจาก บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เล่าว่า“เดอะมอลล์” ของตระกูลอัมพุช ยังอยู่ระหว่างการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการชอปปิงออนไลน์ โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของแผนธุรกิจในปี 2561

ที่ผ่านมา มีการขยับตัวรับการชอปปิงออนไลน์อยู่บ้าง แต่เป็นในลักษณะเว็บดีลคล้ายกับ www.ensogo.com มีการให้คูปองส่วนลดในการชอปปิงสินค้า ยังไม่ได้ส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง โดยเว็บที่ทำกิจกรรมดังกล่าวกับเดอะมอลล์คือ Mglobemall.com ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ใหม่

แม้จะเป็นผู้ประกอบการ “ค้าส่ง” แต่เมื่อออนไลน์มาแรงศูนย์การค้าแฟชั่นค้าส่งแพลทินัม ก็ต้องเตรียมตัวรับโลกอนาคต "ชาญชัย พันธุ์โสภา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า สิ่งที่บริษัทต้องดำเนินการคือสร้างระบบนิเวศหรือ“Ecosystem” ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการที่มาเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้า การอบรม เทคคอรส์ต่างๆ เป็นต้น โดยจะไม่ได้เป็นผู้วางระบบด้านเทคโนโลยี หรือแพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายสินค้าแต่อย่างใด เนื่องจากรูปแบบธุรกิจค้าส่งต่างจากค้าปลีก เพราะผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าเป็นผู้จำหน่ายเอง

ทั้งนี้ เทรนด์ออนไลน์ เอื้อต่อการค้าขายของบรรดาพ่อค้าแม่ขายอย่างไรบ้าง ชาญชัย ฉายภาพว่า จากการจับตัวเลขการส่งพัสดุของพ่อค้าแม่ค้าที่รับคำสั่งซื้อจากออนไลน์พบว่าปีที่ผ่านมามีมากถึง 2.5 ล้านชิ้น เพิ่มจากปี 2558 ที่มียอดส่งประมาณ 1.5 ล้านชิ้นต่อปี เรียกได้ว่าตัวเลขยอดขายเพิ่มเป็น “หลักล้าน” และเกือบเท่าตัวด้วย

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆก็รุกหนักออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเทสโก้โลตัสที่พัฒนาแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์มานาน มีสินค้ามากมายหลัก “หมื่นรายการ” ให้เลือกช้อปตามใจชอบ และยังบริการ ShopBox24 บริการส่งสินค้าที่ตู้ล็อกเกอร์ เจาะลูกค้าอาศัยตามคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า มีเทคโนโลยี iBeacon ป้อนข้อมูลโปรโมชั่น เกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนแก่ลูกค้าทันทีที่เข้าไปช็อปในเทสโก้โลตัส เป็นต้น

ส่วนบิ๊กซี ธุรกิจค้าปลีกของ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ระบุว่า เร็วๆนี้ก็พร้อมที่จะเผยโฉมบริการจัดส่งสินค้าเพื่อมาเสริมทัพธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 

เรียกว่า ทุกค่ายคึกคักกันไม่แพ้กันเลยทีเดียว!