เตือน 'ดวลเหล้า' เสี่ยงตายเฉียบพลัน

เตือน 'ดวลเหล้า' เสี่ยงตายเฉียบพลัน

นักวิจัย ชี้ท้าดวลกินเหล้าเสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน เหตุได้รับสารเกินขนาด ด้านเครือข่ายงดเหล้า เตือนไม่ใช่เรื่องสนุก หยุดดวลหยุดแชร์ เหตุเพิ่มสูญเสียเท่าตัว

วันนี้(18มีนาคม2560) ผศ.พญ. รัศมน กัลป์ยาศิริ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุราจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหนุ่มใหญ่ จ.สกลนคร ที่ท้าดวลกินเหล้ากับเพื่อนจนกระทั่งเสียชีวิต รวมถึง คลิปวัยรุ่นกินเหล้าจนหมดขวดในเวลารวดเร็วซึ่งกำลังระบาดในโลกโซเชียล ว่า เครื่องดื่มประเภท เหล้า เบียร์ ไวน์ จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง โดยแอลกอฮอล์จะไปออกฤทธิ์กับตัวรับของสารสื่อประสาทในสมองชื่อกาบา (GABA) ทำให้แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์คล้ายยากดประสาท เช่น เหล้า1ขวด จะมีแอลกอฮอล์เทียบเท่าประมาณ20หน่วยดื่มมาตรฐาน(ดริ๊ง)ทำให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง250มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ในเวลาอันรวดเร็ว เสี่ยงต่อการสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการได้รับสารเกินขนาด

 “ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่ให้การรับรองได้อย่างชัดเจนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัย แต่การดื่มเป็นปัจจัยก่อให้เกิดอุบัติเหตุ และนำไปสู่การติดแอลกอฮอล์ได้โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มดื่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ข้อแนะนำที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัยคือ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และสังคม”ผศ.พญ. รัศมน กล่าว

 ด้านนายชูวิทย์จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีข่าวคนกินเหล้าเสียชีวิตค่อนข้างถี่ อีกทั้งกระแสการท้าดวลกันในหมู่วันรุ่นใครเมาก่อนแพ้ หรือให้กินทีเดียวหมดขวด แล้วอัดคลิปเผยแพร่กำลังระบาด จึงเป็นเรื่องน่าห่วง แม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ก็ตาม ที่สำคัญสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างฉับพลันโดยเฉพาะช่วงที่อุณหภูมิสูง อากาศร้อนอบอ้าวยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเท่าตัวอย่างไรก็ตามในต่างประเทศ พบว่ามีข่าวการเสียชีวิตจากพฤติกรรมใกล้เคียงกันนี้เกิดขึ้นเช่นกันจึงไม่อยากให้สังคมมองเป็นเรื่องปกติ เพราะนอกจากอันตรายถึงชีวิตระหว่างดื่มหรือหลังดื่มแล้วความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในการขับขี่ ขาดสติ ทะเลาะวิวาท ลักขโมย คุกคามทางเพศ ข่มขืนรุมโทรม

 “หากใครพบเห็นการกินดื่มในลักษณะดังกล่าวควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้นำชุมชนให้เข้าไประงับเหตุ ซึ่งวงการตำรวจมีสำนวนหนึ่งที่เรียกกันว่า “ตีวงสุรา” หมายถึงเมื่อเริ่มมีความสุ่มเสียงหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญแล้วตำรวจจะเข้าไปแจ้งให้เลิกวงแยกย้ายกันก่อนจะขาดสติไปมากกว่านี้และอยากเตือนวัยรุ่นทั้งหลายให้หยุดการท้าทายท้าดวลให้ดื่ม ทำเป็นเรื่องสนุก เพราะเมื่อมันสูญเสียแล้วจากที่สนุกคุกจะมาเยือนอีกทั้งการส่งต่อคลิปต่างๆที่เห็นรูปขวดสุรา แล้วชักชวนให้ดื่มยังอาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา32แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 ซึ่งมีโทษหนักอีกด้วย” นายชูวิทย์กล่าว