‘ไทยไลอ้อนแอร์’รุกหนักตลาดจีนหวังดันกำไรปีแรก

‘ไทยไลอ้อนแอร์’รุกหนักตลาดจีนหวังดันกำไรปีแรก

ไทยไลอ้อนฯ ประกาศปีแห่งการรุกตลาดจีน ลั่นนำร่อง 4 เส้นทางเมืองรองก่อนยึดหัวหาดปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ตั้งเป้าช่วยผลักดันรายได้โต ทำกำไรครั้งแรกในรอบ 4 ปี

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่าจากการวางแผนขยายธุรกิจต่อเนื่องโดยตั้งเป้าบรรทุกผู้โดยสาร 10 ล้านคน เพิ่มจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 7.5 ล้านคน เตรียมเปิดเส้นทางใหม่รวม 8-10 เส้นทาง และจะเป็นปีแรกในรอบการดำเนินงาน 4 ปี ที่ขยายเส้นทางต่างประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะการขยายจุดหมายใหม่ไปยังประเทศจีน จากเดิมที่มีเที่ยวบินประจำ 1 เมืองคือ กวางโจว มาถึงในครึ่งปีแรกของปีนี้ เปิดเพิ่มอีก 4 เมือง ได้แก่ ฉงชิ่ง และ เฉินตู ตั้งแต่ 1 มี.ค. ต่อด้วยหนานจิง เริ่ม 26 มี.ค.และ หนานชาง 1 เม.ย.ทำให้รวมแล้วมี 5 เมืองในจีน แต่ยังมีเมืองที่อยู่ในการพิจารณา ได้แก่ หังโจว, ซีอาน ที่น่าจะเปิดตัวได้หลังจากเดือน พ.ค.เป็นต้นไป ก่อนที่จะเริ่มขยับจุดหมายสู่เมืองใหญ่ ได้แก่ ปักกิ่ง และ เซี่ยงไฮ้ ในช่วงปลายปี

การเลือกขยายตลาดในจีนเนื่องจากเริ่มมีความพร้อมในการขยายต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเริ่มเติบโตในเส้นทางในประเทศจนมี 12 จุดหมาย 15 เส้นทางแล้ว ล่าสุดมีการเปิดเส้นทางใหม่ พิษณุโลก และ ขอนแก่น เริ่มบินในเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่เส้นทางต่างประเทศมีทั้งหมด 10 เส้นทาง แต่ยังมีส่วนแบ่งเที่ยวบินประจำน้อยมาก เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ ทำให้ต้องชะลอแผนการขยาย และมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในปีนี้

ประกอบกับไทย ไลอ้อน แอร์ มีประสบการณ์ในการบินเส้นทางจีนแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ใน 9 จุดหมายมาก่อน อีกทั้งมีความพร้อมในการรับเครื่องบินเพิ่มอีก 5-6 ลำ ทำให้ปลายปีจะมีเครื่องบินกว่า 30 ลำ ล่าสุดในเดือน เม.ย.กำลังจะรับเครื่องบินใหม่ลำที่ 25 โดยการรับเครื่องใหม่ตามแผนมีทั้งเครื่องโบอิ้ง 737-900 ER และโบอิ้ง 737 MAX ที่มีพิสัยการบินระยะไกลขึ้น ทำให้สามารถเปิดจุดหมายไปยังเมืองหลักอย่างปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ ได้เช่นกัน นอกจากนี้ กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาศูนย์การบิน (ฮับ) ที่จ.เชียงใหม่ เพื่อขยายไปยังเมืองต่างๆ ในจีนมากขึ้น โดยขณะนี้มีเครื่องบินประจำที่เชียงใหม่อยู่แล้ว 3 ลำ

ส่วนเส้นทางต่างประเทศอื่นๆ ที่เตรียมเปิดใหม่ ได้แก่ กรุงเทพฯ-ฮานอย เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ อินเดีย ซึ่งน่าจะเปิดได้ 1-2 เมืองภายในปีนี้ มีจุดหมายที่อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ มุมไบ และ โคชิ เป็นต้น ส่วนในอาเซียนตั้งเป้าที่เกาะบาหลี, อินโดนีเซีย


นายอัศวิน กล่าวว่ามั่นใจว่าการเปิดเส้นทางเชิงรุกในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน จะช่วยสนับสนุนรายได้ให้เติบโต และมีแนวโน้มว่าจะเป็นปีแรกที่สามารถทำกำไรได้ หลังจากขาดทุนมาต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของการจัดตั้งสายการบินใหม่ ที่จำเป็นต้องมีการลงทุนพื้นฐานในช่วงดำเนินการ 2-3 ปีแรก ขณะเดียวกัน การบินเส้นทางต่างประเทศจะทำให้มีอัตราการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเนื่องจากชั่วโมงบินมากกว่าในประเทศ จึงทำให้แนวโน้มทำกำไรต่อเที่ยวได้ดีกว่า ทั้งนี้ อัตราการใช้เครื่องบินโดยเฉลี่ยของไทย ไลอ้อน แอร์ อยู่ที่ 9-10 ชั่วโมงต่อวันในปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มได้เป็น 13 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนเป้าหมายระยะยาวนั้น หลังจากที่ทำกำไรได้ 3 ปีติดต่อกัน ยังพิจารณาการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันยอมรับว่าหลังจากขยับส่วนแบ่งการตลาดมาใกล้อันดับ 2 ในตลาด คือ นกแอร์ มากขึ้นแล้วนั้น เชื่อว่ามีโอกาสทยอยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น เพราะมั่นใจในศักยภาพความพร้อมด้านการขยายเครื่องบิน ซึ่งไลอ้อน กรุ๊ป มียอดการสั่งซื้อเครื่องบินประเภทต่างๆ จำนวนมาก ที่ทำให้สามารถวางแผนนำเครื่องที่เหมาะสมกับตลาดที่ต้องการขยายเข้าไปได้ และมีการฝึกนักบิน ของตัวเอง มีศูนย์ซิมูเลเตอร์ฝึกนักบินที่มีศูนย์ของตัวเองในกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีกัปตันและผู้ช่วยพร้อมปฏิบัติงานแล้วกว่า 220 คน

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในปีนี้จะยังเห็นการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือด ซึ่งเป็นภาวะปกติของธุรกิจสายการบิน โดยไทย ไลอ้อน แอร์ ยังใช้กลยุทธ์ทำราคาที่เป็นมาตรฐาน ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเที่ยว และจะมีต่ำกว่าอัตราดังกล่าวเฉพาะช่วงโปรโมชั่นเท่านั้น การตั้งราคไม่ได้เน้นว่าจะต้องถูกที่สุด แต่จะให้เหมาะสมกับจังหวะของแต่ละตลาดมากกว่า

“เป้าหมายของไทย ไลอ้อน แอร์ คือต้องเป็นอันดับ 1 และเชื่อว่าทุกสายการบินต่างก็ต้องการไปถึงจุดนั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและศักยภาพ ซึ่งหลังจากที่ขยายมาแล้ว 2-3 ปีเราก็มีความเชื่อมั่นว่าทำได้”