เพิ่มอำนาจ 'ก.ล.ต.' สั่งปลดผู้บริหารบจ.ขัดแย้งกัน

เพิ่มอำนาจ 'ก.ล.ต.' สั่งปลดผู้บริหารบจ.ขัดแย้งกัน

"รมว.คลัง" เตรียมเสนอครม.แก้กฎหมายหลักทรัพย์ เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ปลด "ผู้บริหาร- กรรมการ" ที่มีปัญหาขัดแย้งกันจนผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เสียหาย

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “เปิดตัว CG Code ใหม่ : บริษัทจดทะเบียนไทย ก้าวไกลไปกับไทยแลนด์ 4.0" วานนี้ (17 มี.ค.) ว่า กระทรวงคลังกำลังเร่งรัดแก้ไขกฎหมายสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 20 มาตรา เพื่อปรับกฎระเบียบขึ้นมาใหม่ หวังติดดาบให้สำนักงาน ก.ล.ต.กำกับดูแลกิจการที่ดี และการเพิ่มบทบาทการเข้าไปแก้ไขปัญหาและ ป้องกันปัญหาให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้มีอำนาจ เข้าไปแทรกแซง หรือควบคุมดูแลได้อย่างแท้จริง

หากพบว่า มีข้อพิพาทของกรรมการ ผู้บริหาร จนเกิดความเสียหายต่อบริษัท เจ้าหนี้ นักลงทุน สามารถตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง และเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อคืนอำนาจให้นักลงทุนของบริษัทในการแต่งตั้งกรรมการคนใหม่ เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ถือหุ้น โดยคาดว่า จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในกลางเดือนเม.ย.นี้

ติดดาบก.ล.ต.ปลดกก.ขัดแย้งกัน

กฎหมายที่จะมีการแก้ไขจะติดดาบให้กับทางสำนักงาน ก.ล.ต.เข้าไปแทรกแซงกับบริษัทที่มีปัญหาไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ หรือมีความขัดแย้งของผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับผู้ลงทุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดทุน”

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ทำหน้าที่แค่ออกกฎระเบียบดูแลบริษัทจดทะเบียน แต่ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา อย่างในกรณีกรรมการทะเลาะกันทำให้บริษัทเสียหาย ปัจจุบัน ก.ล.ต.ทำอะไรไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นและ เจ้าหนี้

ดังนั้น ต้องเพิ่มอำนาจให้กับ ก.ล.ต. ซึ่งลักษณะของกฎหมายใหม่จะทำให้ ก.ล.ต.เข้าไปสั่งการให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินการได้อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ช่วยแก้ไขปัญหาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งกระบวนการต้องเข้าสู่การพิจารณาของครม ภายในกลางเดือนเม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว ทางกระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายกับสำนักงาน ก.ล.ต.มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาตลาดทุน โดยต้องกำหนดทิศทางของตลาดทุนไทยว่าต้องก้าวอย่างไรใน 10-20 ปีข้างหน้า กำหนดให้เป็นภารกิจสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็วเพราะหากล่าช้าอาจเกิดปัญหาเชิงระบบได้ ไม่เห็นนั้นอาจตามแก้ปัญหาไม่ทันเหตุการณ์ โดยต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลังแบบปีต่อปี ในการกำหนดเป้าหมายที่จะต้องดำเนินเช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย

เสนอครม.เดือนนี้ลดภาษีทำวิจัย

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเน้นการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อปรับบทวิจัยไปสู่ภาคธุรกิจ จึงเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้เอกชนรวมกลุ่มทำงานวิจัย สำหรับงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาหักลดหย่อนภาษี 2-3 เท่า และแนวทางส่งเสริมด้านต่างๆเพิ่มเติม และต้องการจัดหมวดหมู่งานวิจัยให้เป็นระบบ มีเป้าหมายระดับชาติในการส่งเสริมงานวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมางานวิจัยนับหมื่นรายถูกเก็บไว้ในหิ้งแต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ก.ล.ต.ชี้ปลดบอร์ดคืนอำนาจผู้ถือหุ้น

ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงาน ก.ล.ต.เข้าดูแลบริษัทจดทะเบียนนั้น อยู่ในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 จะมีการแก้ไขใน 20 มาตรา

โดยในเบื้องต้นนั้น กฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจ ก.ล.ต.สามารถเข้าไปปลดคณะกรรมการบริหาร และ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน หากมีความขัดแย้งและกระทบกับผู้ถือหุ้นและก่อให้เกิดความเสียหาย โดยจุดมุ่งหมาย คือ การคืนอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดทิศทางของบริษัท

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มองว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทย เพราะเป็นการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหารุนแรงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบเทียบเคียงกับต่างประเทศ อาจจะไม่มีกฎหมายในลักษณะเดียวกับประเทศไทย สาเหตุที่ทำให้ยกระดับกฎหมายนี้ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้ลงทุนรายย่อยจำนวนมาก อีกทั้งผู้ลงทุนอาจไม่ตระหนักถึงการใช้สิทธิใช้เสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร นอกจากการแก้ไขกฎหมายในเรื่องการดูแลตลาดทุนในภาพรวมด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้น ขั้นตอนอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งคาดว่าจะสรุปและเสนอให้กับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้ ภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนเสนอกับกระทรวงการคลังต่อไป

ให้ข้อมูลดีเอสไอวัดธรรมกายปั่นหุ้นหรือไม่

ส่วนกรณีพระทัตตชีโว วัดธรรมกาย นำเงินกว่าพันล้านบาท มาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น วานนี้ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เพื่อประสานข้อมูลร่วมกัน และตรวจสอบดูว่ามีการซื้อขายหุ้นเข้าข่ายการปั่นหุ้นหรือไม่ ดังนั้น เจ้าของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่ละตัว ต้องรับรู้และตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมนอมินีเข้ามาซื้อหุ้นของตัวเองหรือไม่ เพื่อรับทราบการเข้ามาซื้อหุ้นที่เป็นตัวการจริง จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

บจ.ชี้ไม่กระทบบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นหลัก

ด้านผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนรายหนึ่ง กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำลังจะพิจารณาเพิ่มบทบาทการดูแลนั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบกับบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้ถือหุ้นหลัก และมีความมั่นคง ซึ่งในรายในเรื่องนี้ยังไม่พบว่ามีการรับฟังความเห็น และยังไม่ทราบในรายละเอียดว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้างจุดมุ่งหมาย ก.ล.ต.น่าจะต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหา บจ.ที่มีความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งการให้ข้อมูลกับนักลงทุน รวมถึงการทำธุรกิจต่างๆ เพราะในระยะหลังสำนักงาน ก.ล.ต.มีความเข้มงวดในการกำกับดูแลอย่างมาก