'คลัง'ดันแผนรับมือสังคมสูงอายุ

'คลัง'ดันแผนรับมือสังคมสูงอายุ

คลังดันแผนรับมือ "สังคมสูงอายุ" ผนึกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เปิด3 ปัญหาหลักที่ต้องเตรียมรับมือ“รายได้-ที่อยู่อาศัย-รักษาพยาบาล”

คลังจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรองรับสังคมสูงอายุ เผย 3 ปัญหาหลักที่ต้องเตรียมแผนรองรับ คือ รายได้ ที่อยู่อาศัย และ ระบบรักษาพยาบาล โดยคลังมีแผนเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนชราที่ยากจนเป็น 1,200-1,500 บาท ทำโครงการบ้านผู้สูงอายุครบวงจร และใช้มาตรการภาษีส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ยกร่างแผนการรองรับประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยที่ผ่านมา สศค.ได้ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข,กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,กระทรวงแรงงานกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมแผนการของแต่ละกระทรวงที่วางแผนเกี่ยวกับการรองรับสังคมสูงอายุ

“เราได้หารือถึงปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ จะพบว่า ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เรื่องของรายได้ และ ระบบการรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีแผนรองรับตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง”

ในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้วางแผนที่จะเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราให้สูงขึ้นอย่างน้อย ควรอยู่ในอัตราคนละ 1,200-1,500 บาทต่อคน ซึ่งในแง่เม็ดเงินที่จะนำมาใช้ ได้วางแผนที่จะมีการจัดตั้งกองทุนผู้สูงอายุ โดยจะนำเงินจากเงินรายได้ส่วนเกินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนสนับสนุนการกีฬา ในส่วนที่เกิน 2 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะนำเงินส่วนเกินนี้จาก สสส.และกองทุนกีฬา มาได้แห่งละ 2 พันล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาท และรวมถึงคนชราที่มีรายได้และยอมสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กองทุนผู้สูงอายุ จะนำเงินที่ได้ไปเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราที่ยากคน เพื่อให้ได้เบี้ยยังชีพคนชรา ที่ 1,200-1,500 บาทต่อคน ซึ่งปัจจุบันมีคนสูงอายุราว 10 ล้านคน แต่มีคนสูงอายุที่มารับเบี้ยยังชีพชราราว 8 ล้านคน แต่จากการสำรวจโดยการลงทะเบียนคนจน พบว่า คนสูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพ และอยู่ในฐานะยากจน (คือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท) มีอยู่ราว 2 ล้านคน ซึ่งเงินจากกองทุนสูงอายุนี้ ก็จะไปเพิ่มให้แก่คนสูงอายุ 2 ล้านคนเหล่านั้น

แผนของการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากเรื่องเบี้ยยังชีพ เพื่อเป็นรายได้ประจำเดือนให้แก่ผู้สูงอายุแล้ว ยังจะครอบคลุมถึงแผนการที่จะดูแลเรื่องการประกอบอาชีพของคนสูงอายุ ที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศไปแล้ว ในเรื่องการจ้างคนสูงอายุทำงาน สามารถนำรายจ่ายมาหักได้เป็นสองเท่า และขณะนี้ กระทรวงการคลัง ได้พยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกในกองทุนการออมเพื่อชราภาพหรือกอช.เพื่อให้สมาชิกมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ

ปัจจุบันแต่ละกระทรวงได้จัดทำแผนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำแผนดูแลผู้สูงอายุฉบับที่ 2 จากปี 2560-2564, กระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนสุขภาพแห่งชาติ จากปี 2560-2564 และกระทรวงแรงงานฯ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การหางานทำให้แก่ผู้สูงอายุ จากปี 2560-2564

ด้านนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวด้วยว่า กรมธนารักษ์เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีโครงการรองรับสังคมสูงอายุ โดยที่ผ่านมา กรมฯได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาฯ ในการดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุแบบครบวงจรหรือที่เรียกว่าซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำจัดแผนเพื่อดำเนินการก่อสร้างในเฟสแรกที่จ.สมุทรปราการ ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจะเปิดให้เอกชนหรือโรงพยาบาลต่างๆ เข้ามาทำโครงการซีเนียร์คอมเพล็กซ์ในที่ราชพัสดุในจังหวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง

 ทั้งนี้ ซีเนียร์คอมเพล็กซ์จะเป็นโครงการที่อยู่อาศัย โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ รวมถึง ระบบการรักษาพยาบาลที่รองรับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วย