ขาดสตอรี่ & ดอลลาร์แข็ง ต้นเหตุ “เงินไหล” เดือนมี.ค.

ขาดสตอรี่ & ดอลลาร์แข็ง ต้นเหตุ “เงินไหล” เดือนมี.ค.

ผลตอบแทนหุ้นไทยปีนี้ส่อแววมาไกลสุดแค่ 1.9% 'ประกิต สิริวัฒนเกตุ' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย วิเคราะห์เช่นนั้นเวลานี้ หลังต้องเผชิญหน้ากับสภาวะขาด New Money ขณะที่ดอลลาร์อาจแข็งค่า เมื่อภาพสหรัฐชัดเจนและเฟดขึ้นดอกเบี้ยตามแผน

ตลอดสองเดือนกว่าที่ผ่านมา กระแสเงินได้ถูกโยกจาก 'ตลาดเกิดใหม่' หรือ Emerging Market เข้าสู่ 'ตลาดประเทศพัฒนาแล้ว' หรือ Developed Market โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ North east Asia ที่มีเศรษฐกิจส่วนใหญ่ผูกโยงกับสหรัฐ

หลังกลุ่มประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มอัตราการเติบโตในปี 2560 ทั้งในแง่ของ 'อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น' หรือ EPS และ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นสหรัฐอาจมี EPS ระดับ 10.4% ขณะที่ GDP Growth อาจยืน 2.3%

สวนทางกับ 'กลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชีย' หรือ กลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ที่มีกระแสเงินไหลเข้าน้อยมากในช่วงสองเดือนกว่าที่ผ่านมา ไล่มาตั้งแต่ 113 ล้านเหรียญสหรัฐ 84 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 98 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ เทียบกับไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่มีต่างชาติเข้าซื้อมากถึง 3,750 ล้านเหรียญสหรัฐ 1,733 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 1,284 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ผลักดันให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์สหรัฐ ตลาดหุ้นเยอรมัน ตลาดหุ้นไต้หวัน ตลาดหุ้นฮ่องกง และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีผลตอบแทนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่

ไล่มาตั้งแต่ระดับ 5.13% 4.51% 5.57% 9.59% และ 4.01% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดเกิดใหม่อย่างตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ให้ผลตอบแทนเพียง 1.73% และ 1.31% ตามลำดับ

สาเหตุที่กระแสเงินไหลเข้าตลาดประเทศพัฒนาแล้วเกิดจากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวอย่างร้อนแรง บวกกับกระแส TRUMP’S Trade Policy จะกลับมาอีกครั้ง

ทว่าหากสถานการณ์เป็นจริง ในปี 2560 'ตลาดเกิดใหม่' ยังคงสร้างผลตอบแทนได้สูงเหมือนปี 2559 หรือไม่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่เคยให้ผลตอบแทนมากถึง 19.8% สูงสุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัย หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับลดลง

'ประกิต สิริวัฒนเกตุ' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย ฉายภาพให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า มีความเป็นไปได้ว่า เม็ดเงินลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติขนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเฉลี่ย 150,000 ล้านบาท ในปีก่อน อาจถูกทยอยถอนออกตลอดเดือนมี.ค.นี้ ต่อเนื่องไปถึงสองเดือนข้างหน้า

สาเหตุสำคัญเกิดจาก ข้อหนึ่ง ตลาดหุ้นไทยไม่มีปัจจัยใหม่ขับเคลื่อน ทำให้ไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาเติม พูดง่ายว่า ตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญหน้ากับสภาวะขาด New MONEY เพราะงบการเงินไตรมาส 4 ปี 2559 จะประกาศครบทุกบริษัทในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.นี้

ขณะเดียวค่าบาทอาจอ่านตัวลงมายืนระดับ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ หลังราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ตัวเลขนำเข้าตลอดปีนี้สูงกว่าปีก่อน ส่งผลให้ตัวเลขดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดจากที่เคยดีต่อเนื่องยาวนาน 33 เดือนอาจมีตัวเลขเปลี่ยนแปลงไป

แต่หากงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2560 ที่กำลังจะทยอยออกกลางเดือนเม.ย.นี้ ภาพออกมาดี ตลาดหุ้นไทยก็คงรอดตาย ถ้าถ้าออกมาไม่ดี 'ดัชนีคงซึมยาว' ยกเว้นรัฐบาลอัดเงินลงทุนแรงกว่าเดิมคงพอช่วยได้ ทว่าปัญหาต้องติดตาม คือ ที่ผ่านมารัฐอัดเงินลงทุนชุดใหญ่ 200,000 ล้านบาท มาแล้วเมื่อปลายปี 2558 ผลดีจึงมาเกิดในปี 2559 ฉะนั้นทางการยังจะอัดชุดใหญ่อีกหรือ

'ที่ผ่านมาค่าบาทอยู่ในโทนแข็งค่า แม้จะมีเหตุการณ์ภายในประเทศ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจและการค้าของไทยแข็งกร่ง ซึ่งภาพที่ดีทำให้ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นเงินทุนไหลเข้ามาพักเงินหรือเก็งกำไรค่าเงินค่อนข้างมาก ภาพนี้เข้ามาพร้อมแรงซื้อพันธบัตรระยะสั้น' 

ข้อสอง กระแสเก็งค่าเงินดอลลาร์จะกลับมาอีกครั้ง หลังเริ่มเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่ามาตั้งแต่เดือนก.ย.-พ.ย.ปี 2559 ก่อนจะมาแข็งค่าครั้งที่สองในช่วงธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.2559 ตบท้ายด้วยการแข็งค่าอีกครั้งในช่วง 'โดนัลด์ ทรัมป์' นั่งเป็นประธานาบดีสหรัฐคนที่ 45

แต่เมื่อนโยบายหลักของทรัมป์โดนประชาชนบางส่วนต่อต้าน ขณะที่บางนโยบายที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ถูกขายเก็งกำไร ส่งผลให้เงินไหลกลับ Northeast Asia โดยเฉพาะประเทศไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ในช่วงที่ผ่านมา

เหตุผลที่ทำให้เงินดอลลอร์แข็งค่าคงเป็นเพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐจะมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาทรัมป์พยายามโยนหินถามทางเรื่องไหนเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยดูเหมือนเขาจะถอย ถือว่าเป็นการกระทำที่ฉลาดมาก

ขณะเดียวกันหากธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 3 ครั้งในปีนี้จริงจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทันที แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าตามด้วย เพราะการขึ้นดอกเบี้ยในรอบถัดไปอาจกระชากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีขึ้นอีก

'เงินปอนด์สกุลยูโรที่อาจอ่อนค่า หลังกระบวนการนำอังกฤษออกจากยูโรโซนจะเริ่มในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ขณะเดียวกันยุโรปยังต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนทางการเมือง หลังเนเธอร์แลนด์จะมีการเลือกตั้งภายในเดือนมี.ค.นี้ ตามต่อด้วยฝรั่งเศสในเดือนหน้า เรื่องเหล่านี้อาจส่งผลให้ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าเช่นกัน'

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย เล่าต่อว่า เมื่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยมีความสวยลดลงจากปีก่อน ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่า ตลอดปีนี้ตลาดหุ้นไทยอาจสร้างผลตอบแทนได้เพียงเฉลี่ย 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ต่างชาติปาเงินเข้ามาค่อยข้างมากจนทำให้มีผลตอบแทนสูงถึง 19.8%

เหตุผลสำคัญที่ต่างชาติไหลเงินเข้ามาในช่วงนั้นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ราคาน้ำมันถูก (ดอกเบี้ย คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลางสำคัญทั่วโลก)

แต่ในปีนี้ภาพจะเปลี่ยนไป หลังอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน เปลี่ยนเป็น “ขาขึ้น” ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีราคาแพง ทำให้ไม่สามารถหาผลตอบแทนที่ดีได้ ขณะเดียวกันแวลูชั่นของตลาดเกิดใหม่ในหลายประเทศมีระดับตึงตัว ส่งผลให้กระแสเงินเลือกที่จะไหลไปยังตลาดประเทศพัฒนาแล้ว

'เมื่อดอกเบี้ยขึ้นจะมาเทรดตอนหุ้นแพงไม่ได้ เชื่อว่าปีนี้ตลาดจะยอมรับค่า P/E หุ้นไทยที่ระดับ 15 เท่า ฉะนั้นเป้าหมายดัชนีจะยืนระดับ 1,360-1,570 จุด เท่ากับตลาดหุ้นช่วงนี้อิ่มตัวแล้ว'

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยขึ้นไปยืนระดับ 1,570 จุด ทำให้เหล่ากูรูมองว่าโอกาสจะไต่ระดับไปแตะ 1,600-1,650 จุด ไม่น่าใช่เรื่องยากสำหรับปีนี้ เพราะมีความเชื่อว่าโมเมนตัฟันด์โฟลว์จะเข้ามา แต่ถ้างบไตรมาส 1 ปี 2560 ออกมาไม่ดี นักวิเคราะห์คงต้องออกมาปรับประมาณการณ์ใหม่

เดิมที่หลายสำนักมอง 'กำไรต่อหุ้น' ของเหล่าบริษัทจดทะเบียนในปีนี้อาจเติบโตกว่า 10% แต่ในฝั่งของบล.กสิกร กับมีความเห็นต่าง เชื่อว่าคงทำได้เพียง 4% เท่านั้น หลังอัดแฟกเตอร์ลบเข้าไปค่อนข้างมาก และกำไรต่อหุ้นไตรมาส 1 ปี 2560 จะฟ้องทุกอย่าง เรื่องเหล่านี้คงกดดันตลาดหุ้นไทยต่อไป ฉะนั้นความเสี่ยงจะอยู่ในเดือนเม.ย.และพ.ค.นี้ ถือเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่

'วันนี้เม็ดเงินเลือกลงทุนตามสตอรี่ เชื่อว่าจากนี้คงเห็นเงินไหลไปในกลุ่มประเทศที่มี High EPS Growth มากขึ้น'

'พลังงาน-แบงก์' ดันหุ้นสหรัฐ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย บอกว่า หากตลาดสหรัฐบูมมากๆ อาจเกิดฟองสบู่ลูกใหม่ แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้ คงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะวันนี้ตลาดหุ้นสหรัฐยังมี 'หุ้นกลุ่มพลังงาน' และ 'หุ้นกลุ่มแบงก์' คอยผลักดันตลาดหุ้น

ข้อดีของกลุ่มพลังงาน คือ ตลอดสองปีที่ผ่านมาเชลล์ออยล์ของสหรัฐถูกกดดันมาตลอด ฉะนั้นหากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทพลังงานขนาดใหญ่ย่อมมีผลประกอบการดีขึ้นตามไปด้วย

ส่วนสตอรี่กลุ่มแบงก์ของสหรัฐ ก่อนหน้านี้กลุ่มนี้โดนกฎหมายคอยกดดัน ทำให้การปล่อยสินเชื่อไม่คล่องตัวเหมือนเมื่อสิบปีก่อน แต่เมื่อทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศคงจะมาปฎิรูปกฎหมายการเงินใหม่ทั้งหมด ฉะนั้นหุ้นกลุ่มแบงก์จะกลับมาปล่อยสินเชื่อได้กระจุยกระจายมากขึ้น

'ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นจากหุ้นกลุ่มแบงก์ตลาดสหรัฐปรับตัวขึ้นมาแล้วเฉลี่ย 7-10% นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นกลุ่มแบงก์เมื่อ 5-6 ปีก่อนแทบไม่ขยับตัวไปไหน' 

กูรูตลาดหุ้น เล่าต่อว่า การที่หุ้นสหรัฐขยับตัวที่ดีขึ้นมาก่อนนี้เป็นเพราะมีหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอเนิกส์ และกลุ่มการบริโภคคอยผลักดัน ฉะนั้นระยะยาวหุ้นสหรัฐคงเป็นขาขึ้นชัดเจน แม้จะมีการปรับฐานบางก็ตาม เพราะเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น 'ประกิต' ย้ำ หลังทรัมป์จะมาเป็นตัวปั่น สะท้อนผ่านทีมครม.หลายคนมาจากสายนักธุรกิจ และสายตลาดหุ้น ดังนั้นย่อมรู้วิธีการ

'ในช่วง 1-2 ปีจากนี้ ภาพสหรัฐอเมริกาจะดีขึ้นมาก ขณะที่ประเทศอื่นจะซบเซา เพราะเงินไหลเข้าสหรัฐหมด แต่เมื่อสหรัฐดีมากๆ เงินก็จะไหลออกมายังประเทศอื่นเหมือนเดิม'

เขา ทิ้งท้ายว่า ภาพรวมที่ดีขึ้นของสหรัฐคงเป็นหนึ่งในหลากหลายปัจจัยที่จะมากดดันหุ้นไทยไม่ให้สวยเหมือนก่อน ฉะนั้นตลอดปีนี้นักลงทุนคงต้องเหนื่อย ยิ่งตอนนี้สถาบันในประเทศมีหุ้นเต็มพอร์ต แต่ตลาดหุ้นไม่มีนิวมันนี่มาเติม

แถมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ต่างชาติยังทยอยขายออกแล้ว 7,000-8,000 ล้านบาท ฉะนั้นคงจะเห็นสภาพตลาดหุ้นไทยซึมลงเรื่อยๆ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโอกาสจะเห็นนักลงทุนขายทำกำไรมีให้เห็นแน่นอน

เมื่อไม่มีเงินใหม่เข้ามาเติม ตอนนี้หลายคนจะเห็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังต้นปีก่อนเงินถูกปาเข้ากลุ่มแบงก์ พลังงาน และสื่อสาร เพราะราคาหุ้นสามกลุ่มไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาเลย ผ่านมาตอนนี้หุ้นขนาดกลุ่มใหญ่เริ่มปรับตัวลดลง เรียกว่า สลับเล่นไปมา แต่ถ้ามีเงินใหม่เข้ามาภาพตลาดหุ้นจะเป็นเหมือนปีก่อน

ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนะนำใช้กลยุทธ์เลือกหุ้นเป็นรายตัว (Selective Buy) เน้นหุ้นที่มีอัตราเติบโตของกำไรดีมากๆ หรือหุ้นที่มีแบรนด์แข็งแกร่งพื้นฐานดี ไม่กระเทือนเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงหุ้นส่งออก หลังค่าบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งหุ้นเหล่านี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีในเวลานี้

สำหรับหุ้นที่น่าลงทุน เพื่อชดเชยเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น เช่น หุ้น สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP.เพราะยังมีอัพไซด์อีกเยอะ รวมถึงแนะนำลงทุนหุ้นแบงก์ หลังสตอรี่แบงก์ทั่วโลกฟื้นตัว เช่น หุ้น ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL และหุ้น ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB

นอกจากนั้นยังเชียร์ให้ลงทุนกลุ่มที่น่าจะมีกำไรเติบโตดีๆ แต่ถูกขายทำกำไรมาตั้งแต่ต้นปี หลังคนย้ายเงินจากหุ้นกลุ่มกลางและเล็กมากลุ่มใหญ่ เช่น หุ้น เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN เป็นต้น