วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 มี.ค.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 มี.ค.60)

ราคาน้ำมันดิบปรับลดหลังได้รับแรงกดดันจากระดับน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง

- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังได้รับแรงกดดันจากรายงานของ Genscape ที่คาดการณ์ว่าระดับปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบเมืองคุชชิ่ง โอคลาโฮมาสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 60 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านบาร์เรล

+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของนายคาลิด อัล-ฟาลิห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ที่ได้กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียพร้อมที่จะพิจารณากลยุทธ์ในช่วงกลางไตรมาสที่สองเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันโลกต่อไป หลังจากที่มีกระแสข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กลุ่มโอเปคและผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มพร้อมที่จะรักษาระดับการผลิตหรือลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น หากระดับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของโลกยังไม่สามารถลดไปตามเป้าหมายได้

+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 25 Basis Point หรือปรับจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1 ในวันพุธที่ผ่านมา หลังมีการส่งสัญญาณว่า FED จะไม่รีบร้อนในการขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้

+ กระทรวงแรงงานของสหรัฐ ได้รายงานตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าปรับตัวลดลง 2,000 รายลงมาอยู่ที่ระดับ 241,000 ราย โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 16 ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานในสหรัฐ 


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสหรัฐ ได้ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณการนำเข้าของออสเตรเลียที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.4 จากเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากแผนการซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

        ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
        ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 26 –27 มี.ค. ว่ากลุ่มโอเปคจะมีมาตรการในการควบคุมการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ โดยในรายงานประจำเดือน ก.พ. ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ราวร้อยละ 111 ซึ่งมากกว่าเดือน ม.ค. ที่ปรับลดลงได้ร้อยละ 93 เนื่องจากซาอุดิอาระเบียคงกำลังการผลิตในระดับที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันและกำลังคาดผลิตคาดจะปรับลดลงต่อเนื่องในเดือน มี.ค. ภายหลังจากอิรักและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบ

- การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับตัวลดลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ในระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ภายหลังจากเหตุความไม่สงบภายในประเทศในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Es Sider และ Ras Lanuf ปรับลดลง แม้ว่าล่าสุดกลุ่ม Libyan National Army สามารถควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้แล้วแต่ความตึงเครียดปรับเพิ่มมากขึ้นหลังข้อตกลงในการรวมบริษัทน้ำมันแห่งชาติสิ้นสุดลง

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาสูงกว่าระดับ 9.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 มี.ค. 60 ปรับลดลงเพียง 0.2 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับ 528.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล


--------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

โทร.02-797-2999