กูเกิลดัน 'เอสเอ็มบี' ไทยโกโมบาย

กูเกิลดัน 'เอสเอ็มบี' ไทยโกโมบาย

หนุนตลาด “โมบาย เฟิร์ส” ชี้ภาคธุรกิจยังปรับตัวน้อย ส่งเครื่องมือดิจิิทัลเสริมแกร่ง

“กูเกิล” ชี้ใช้งานโมบายในไทยโตก้าวกระโดด แต่เอสเอ็มบียังปรับตัวไม่ทัน ทำเสียโอกาสการตลาด เร่งแผนดันผู้ประกอบการไทยโกโมบาย เตรียมสนับสนุนเครื่องมือทดสอบคุณภาพ สร้างโมบายไซต์ พัฒนาตัวตนแข็งแกร่งบนออนไลน์

นายกิลาน เลอ ฌาเตลิเยร์ ผู้อำนวยการฝ่ายโซลูชั่นส์การตลาด กูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศโมบายเฟิร์ส ซึ่งมีการใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่กว่า 50 ล้านเครื่อง โครงข่าย 3จี และ 4จี ครอบคลุมกว่า 90% โดยเฉลี่ยแต่ละวันใช้เวลาบนโมบายกว่า 6.2 ชั่วโมง

ด้านพฤติกรรม 80% ใช้สำหรับการเสิร์ช 88% ดูวีดิโอ และ 59% ชอปปิง แต่ทั้งนี้แม้การใช้งานจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ทว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจให้รองรับการใช้งานผ่านมือถือ หรือจัดทำโมบายไซต์ยังมีอยู่น้อยมาก

ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในไทยมีอยู่กว่า 2.7 ล้านราย สร้างรายได้สัดส่วน 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) จากจำนวนดังกล่าวที่มีเว็บไซต์แล้วมีเพียง 10% หรือ 2.7 แสนเว็บไซต์ แน่นอนว่าโมบายไซต์ยังน้อย

สถิติระบุว่า สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในไทยอยู่ที่ 60% เติบโตจากปีก่อนหน้า 9% ปัจจัยสำคัญผลักดันโดยการเติบโตของโมบาย การมาของ 3จี และ 4จี

ดังนั้น กูเกิลหวังเข้าไปช่วยให้เอสเอ็มอีไทยโกโมบายกันมากขึ้น โดยเตรียมเครื่องมือและการสนับสนุนประกอบด้วย เครื่องมือออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย “เทส มาย ไซต์(Test my site) สำหรับทดสอบว่าเว็บไซต์ที่มีเหมาะกับอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือไม่ ทั้งจะมีรายละเอียดให้กับผู้ประกอบการว่าต้องปรับปรุงส่วนใดบ้าง

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มบีที่ยังไม่มีเว็บไซต์ กูเกิลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับโมบาย โดยทำงานร่วมกับเอเยนซี่ที่ได้รับการรองรองในโปรแกรมกูเกิลพาร์ทเนอร์

นอกจากนี้ มีเครื่องมือเพื่อสร้างตัวตนให้แข็งแกร่งบนออนไลน์ให้ใช้งานฟรีเช่น กูเกิล มาย บิสสิเนส, กูเกิล อนาไลติกส์ และ โกลบอล มาร์เก็ต ไฟนเดอร์

สำหรับเคล็ดลับการประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์ นางสาวศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาดภาคธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย แนะว่า ต้องจำไว้ว่าทุกธุรกิจเป็นธุรกิจออนไลน์เพราะลูกค้าออนไลน์อยู่แล้ว และคาดหวังให้ผู้ค้าออนไลน์ด้วย

พร้อมกันนี้ มีเว็บไซต์สำหรับโทรศัพท์มือถือ แอพพลิเคชั่นที่ใช้งานสะดวก นอกจากนั้นมีการสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า กิจกรรมที่ทำและเว็บไซต์ที่มีต้องสามารถวัดผลทางการตลาดได้

โดยเฉลี่ยเว็บไซต์ในไทยใช้เวลาโหลดมากถึง 12 วินาทีแต่ทั้งนี้ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชี้ว่า 53% จะออกจากเพจหากเวลาโหลดเกิน 3 วินาที ขณะที่ประเทศที่เติบโตอย่างมากเช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10 วินาที

ผู้บริโภค 63% ค้นข้อมูลผ่านโมบาย
กูเกิล เผยข้อมูลว่า 83% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมักค้นหาข้อมูลออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า จากจำนวนดังกล่าวกว่า 63% ค้นหาจากช่องทางโมบาย ซึ่งมากกว่าช่องทางเดสก์ท็อปที่สัดส่วนประมาณ 61% ที่น่าสนใจกว่า 64% มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้ากับบริษัทที่ได้ปรับแต่งเว็บให้ใช้งานกับโมบายได้ดีมากกว่ารายที่ไม่ได้ทำ ที่ผ่านมาชาวเน็ตไทย 70% เปรียบเทียบก่อนซื้อสินค้าจาก 3 แบรนด์เท่านั้น

ขณะที่ สิ่งที่ผู้ใช้ไม่ชอบมากที่สุดเมื่อท่องเน็ตบนโมบาย ประกอบด้วย ไม่สามารถเล่นวีดิโอได้ 14% ต้องรอให้รีไดเร็คไปสู่หน้าเพจหลัก 13% ที่ไม่ชอบมากที่สุดคือใช้เวลาโหลดนานๆ 46% ประเด็นอื่นๆ เช่น มีโฆษณามาแทรกระหว่างการใช้ 16%

ส่วนของกูเกิลปีนี้มุ่งสนับสนุนเอสเอ็มบีให้โกโมบาย หรือโมบายไซต์มากขึ้นมีเครื่องมือสนับสนุนที่สามารถตรวจสอบคุณภาพของเว็บไซต์ หรือหากต้องการผู้พัฒนาให้สามารถเป็นตัวกลางติดต่อกับเอเยนซี่ได้

เทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเติบโตก้าวกระโดดของโมบาย ทำให้หลายรายไม่ได้แก้ไขเว็บของตัวเองโดยครั้งนี้ กูเกิลจะมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้ากูเกิลแอดเวิร์ดรายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการด้วย