วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 มี.ค.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 มี.ค.60)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มหลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐลด

+ ราคาน้ำมันดิบกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ประกาศปริมาณน้ำมันดิบคลังสหรัฐ ปรับลดลง 237,000 บาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มถึง 3.7 ล้านบาร์เรล สาเหตุหลักเกิดการนำเข้าน้ำมันที่ลดลงราว 565,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้สหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบต่ำสุดในรอบเดือนที่ 6.69 ล้านบาร์เรล

+ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปเบนซินและดีเซลคงคลังปรับตัวลดลงเช่นกัน มีส่วนช่วยคลายความกังวลในเรื่องอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงช่วงไตรมาสสองของปี ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันจะเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง โดยคาดหวังว่าน้ำมันดิบจะถูกนำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในระดับที่สมดุล

+ แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโดยภาพรวมของโลกปรับเพิ่มเป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าหากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศโอเปค (OPEC) ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน มิ.ย. อุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

+ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 25 Basis Point หรือปรับจากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1 หลังเศรษฐกิจของสหรัฐเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า FED จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยรวมสองครั้งในปีนี้ (2560) และอีกสามครั้งในปีถัดไป (2561) โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ในขณะนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2 และการลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการนำเข้าน้ำมันเบนซินที่ลดลงร้อยละ 17 ในเดือนมีนาคมของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกับการส่งออกน้ำมันเบนซินที่มากขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาคเอชียเหนือ ประกอบกับมีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศมาเลเซีย ศรีลังกา และเวียดนาม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

        ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

        ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาการประชุมในวันที่ 17 มี.ค. นี้ เพื่อติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค รวมถึงติดตามตัวเลขปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มโอเปคจะสามารถปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. ได้มากกว่าในเดือนม.ค. หลังรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของคูเวต เผยว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคได้ปรับลดกำลังการผลิตลงราว 140% ของข้อตกลงที่จะปรับลดราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่กลุ่มโอเปคได้ปรับลดในเดือนม.ค. ที่ 93% ของข้อตกลง

- จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของรัสเซีย หลังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย เผยว่ารัสเซียสามารถปรับลดกำลังการผลิตได้ราว 50% ของข้อตกลง หรือราว 150,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะปรับลดการผลิตลงราว 200,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนมี.ค. และปรับลดได้ตามข้อตกลง หรือ 300,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือนเม.ย.

                 -----------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
         โทร.02-797-2999