Daily Market Outlook (16 มี.ค.60)

Daily Market Outlook (16 มี.ค.60)

สัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยลดความกังวล

คาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นวันนี้ จากความกังวลสหรัฐจะรีบขึ้นดอกเบี้ยลดลงไปหลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยตามคาดแต่ส่งสัญญาณไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยนับจากนี้ ทำให้ความกลัวเงินไหลออกลดลงไปด้วย การสำรวจความเห็นผู้เลือกตั้งหลังการออกเสียงของเนเธอร์แลนด์ระบุ พรรคที่มีนโยบายออกจากสหภาพยุโรปได้จำนวนที่นั่งน้อยกว่าคาดมากลดความกลัวว่า EU จะล่มสลายลงไป ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ดีดกลับ หลังจากสำรองน้ำมันดิบสหรัฐประจำสัปดาห์ลดลงผิดคาด หนุนหุ้นกลุ่มพลังงานข่าวในประเทศวันนี้ไม่ค่อยมีผลต่อตลาดมากนัก

หุ้นเด่นวันนี้: TU (ราคาปิด 21.40; ซื้อ; ราคาเป้าหมาย AWS เท่ากับ 25.00)

เราคาดว่า TU จะได้รับประโยชน์จากนโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ (จาก 35% เป็น 15%) รวมถึงแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัว รวมถึงบริษัทในเครือของ TU ซึ่งมีถิ่นฐานในสหรัฐฯ บริษัทในเครือเหล่านี้ได้แก่ Chicken of the Sea, Chicken of the Sea Frozen Foods, US Pet Nutrition, และ Red Lobster เฉพาะ Red Lobster ก็เป็นบริษัทที่จ้างงานคนอเมริกันมากถึง 50,000 คนแล้ว ในขณะที่ ช่วงนี้เริ่มย่างเข้าไฮซีซั่นของการส่งออกนับตั้งแต่ไตรมาส 2/60 และ 3/60 แนวโน้มราคาวัตถุดิบปลาทูน่าและปลาแซลมอนที่ปรับตัวขึ้นมาสูงมีทีท่าว่าจะลดลงแล้ว ซึ่ง TU เป็นผู้ประกอบการที่มีมาร์เก็ตแชร์ของทูน่ากระป๋องอันดับสามในสหรัฐอเมริกาที่ 17% ภายใต้แบรนด์ Chicken of the Sea ขณะที่อันดับที่หนึ่งคือStarkist (36%) และ Bumble Bee เป็นอันดับสอง (25%) ความสัมพันธ์ที่ดีของ TU กับ Bumble Bee คาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองในการต่อรองราคาวัตถุดิบได้ ทำให้เราคาดว่า TU ทำอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2560 ได้ดีขึ้น จากที่ตกต่ำจากระดับปกติ 15-16% ลงไปเหลือประมาณ 14% ในช่วง 2H59ซึ่งเราคาดกำไรปกติของ TU จะเพิ่มขึ้น 26% YoYในปี 2560 และ 14% YoYในปี 2561นอกจากนี้ TU ยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯเนื่องจาก 92% ของรายได้ของบริษัทฯ มาจากการส่งออก และ8% เป็นยอดขายในประเทศ ในส่วนนี้แยกเป็น62% เป็นรายได้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯและ 30% เป็นเงินยูโร เราให้ราคาเป้าหมาย TU ที่ 25 บาทอิง PER 3 ปีเฉลี่ยที่20 เท่า ราคาหุ้นมีส่วนต่างจากราคาปัจจุบัน 17% Price Pattern ของ TU กลับมามีความแข็งแกร่งระยะสั้นจากการกลับมาเกิด Daily Buy Signal หากปิดตลาดรายสัปดาห์เหนือ 21 บาท จะกลับมาเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่ และหากปิดตลาดรายเดือนเหนือ 21 บาท ก็จะทำให้แนวโน้มหลักกลับไปสู่แนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) อีกครั้งจากการเกิด Monthly Buy Signal ครั้งใหม่ เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ TU มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ 22 บาท ซึ่งหาก Price Pattern ของ TU มีความแข็งแกร่งมากพอ โดยสามารถ Break ด้วยการปิดตลาดเหนือ 22 บาทได้ จะบ่งบอกถึงการทำ New High โดยมีเป้าหมายแรกเพื่อทดสอบ High เดิมที่ 23.60 บาท และมีเป้าหมายแรกของการทำ New High อยู่ที่ 25.75 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ TU มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 19.50 บาท (Resistance: 21.50, 21.60, 21.80; Support: 21.30, 21.10, 21.00)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• รัฐเร่งลดระยะเวลาสำหรับ PPP โครงการ EEC สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกระบุว่าจะตั้งคณะกรรมการย่อยเพื่อหาทางลดเวลา (Fast track) ของกระบวนการร่วมทุนรัฐเอกชน (PPP) สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ให้เหลือสามเดือนเพื่อเริ่มก่อสร้าง Fast Track ของ PPP ก่อนหน้านี้คาดว่าจะลดเวลาศึกษาก่อนก่อนจะเริ่มสร้างได้จาก 18 เดือนเหลือ 9 เดือน (Bangkok Post)

• โควตาส่งออกข้าวไปเม็กซิโกปลอดภาษี เม็กซิโกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะกำหนดภาษี 0% สำหรับข้าวขาวเมล็ดยาว 1.5 แสนตันในปีนี้เพราะรัฐบาลหาช่องทางที่จะลดต้นทุนการผลิตอาหารของประเทศและรองรับความต้องบริโภคที่สูงขึ้น ก.พาณิชย์ระบุไทยคาดว่าจะได้โควต้าส่วนนี้ราว 1 หมื่นตันส่งออกข้าวขาวเมล็ดยาวไปยังเม็กซิโก เม็กซิโกในฐานะผู้นำเข้าข้าวบริโภคข้าวในปีที่แล้วเท่ากับ 1.12 ล้านตัน ขณะที่ไทยประสบกับต้นทุนการขนส่งที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งปีที่แล้วได้ส่งออกข้าวขาวเมล็ดยาวไปเม็กซิโกจำนวน 7,690 ตัน (Bangkok Post)

• ญี่ปุ่นให้ความเชื่อมั่นข้าวไทย กรมการค้าต่างประเทศของ ก.พาณิชย์ได้เข้าพบ Crop Production Bureau ภายใต้กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่นในวันที่ 7-10 มี.ค. และกล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมองข้าวไทยว่ามีคุณภาพ เช่น ข้าวขาว 100% ข้าวเหนียวและไรซ์เบอร์รี่ และอยากให้ไทยส่งเสริมการส่งออกข้าวมาญี่ปุ่นมากขึ้น (Bangkok/InfoQuest)

ต่างประเทศ:

• เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นสู่ระดับที่เฟดตั้งเป้าไว้ เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 25 bps สู่ระดับ 0.75-1.00% นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดชี้ว่ามีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เฟดไม่ได้ระบุถึงแผนที่จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนางเยลเลนย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Reuters)

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.30% เมื่อเช้านี้ โดยเมื่อคืนร่วงลง 8 bps ซึ่งลดลงมากที่สุดในการซื้อขายในรอบวันนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปีก่อน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเคยอยู่ที่ระดับสูงสุดในเดือนมิ.ย. 52 (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเช้านี้ในตลาดเอเชียเทียบกับสกุลเงินหลัก เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0737 ดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่า 1.2% เมื่อคืนซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดนับแต่เดือนมิ.ย. ปีก่อน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับเงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.34 เยน (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันพุธ หลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองในรอบ 3 เดือนตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้ปักธงว่าจะมีแผนเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนบางส่วนยังมีความวิตกกังวลอยู่ (Reuters)

• ยอดค้าปลีกสหรัฐเพิ่มขึ้นต่ำสุดในรอบ 6 เดือนในเดือนก.พ. เนื่องจากยอดขายรถยนต์และการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นลดลง เป็นการบ่งบอกว่าเศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาส 1/60 ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. ส่วนยอดค้าปลีกในเดือนม.ค. มีการปรับตัวเลขเป็นเพิ่มขึ้น 0.6% โดยก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้น 0.4% ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 5.7% YoYซึ่งยอดค้าปลีกจะเป็นตัวกำหนดให้จีดีพีสหรัฐขยายตัวในอัตรา 0.8% คิดเป็นรายปีในไตรมาส 1/60 จากประมาณการล่าสุดของเฟดสาขาแอตแลนตา (Reuters)

• เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ (CPI) เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับแต่เดือนก.ค. ปีก่อน หลังจากพุ่งขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. อย่างไรก็ตาม ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาถึงเดือนก.พ. ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 2.7% เป็นการปรับตัวขึ้น YoYมากที่สุดนับแต่เดือนมี.ค. 2555 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.5% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนม.ค. ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนม.ค. ดัชนี้ CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น YoYอยู่ในช่วงระหว่าง 2.1%-2.3% ติดต่อกัน 15 เดือนเฟดมีระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.7% (Reuters)

ยุโรป:

• ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันพุธปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้น หนุนจากหุ้นกลุ่มน้ำมันและกลุ่มทรัพยากรพื้นฐาน อย่างไรก็ตามตลาดเผ้าระวังจับตาดูสถานการณ์การเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์รวมไปถึงการตึงตัวนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Reuters)

• Exit poll เมื่อวันพุธเผยนายกฯ Mark Rutteมีคะแนนเสียงนำ Geert Wilders ค่อนข้างมากในศึกเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นการผ่นคลายความกังวลของตลาดลงไป โดยพรรค VVD ของนาย Rutteคาดว่าจะได้ที่นั่งในสภาไป 31 ที่นั่ง จากทั้งหมด 150 ที่นั่ง ขณะที่พรรค PVV ของนาย Wilders คาดว่าจะได้ที่นั่งในสภาไป 19 ที่นั่ง (Reuters)

• ผลโหวตไอร์แลนด์เหนือทำสหราชอาณาจักรแยกตัว คนชาตินิยมได้ก่อตัวขึ้นในการเลือกตั้งของไอร์แลนด์เหนือ เพิ่มความกังวลว่าสหราชอาณาจักรจะแตกหรือไม่ หลังสก็อตแลนด์เรียกร้องให้มีประชามติครั้งที่สอง พรรคชาตินิยม Sinn Fein ได้ลดช่องว่างกับพรรค Democratic Unionist ซึ่งมีฐานสนับสนุนจากผู้ประท้วงที่สนับสนุนอังกฤษ ห่างกันแค่หนึ่งที่นั่ง ทำให้กลับมาตั้งคำถามกันใหม่ว่าไอร์แลนด์เหนือจะยังอยู่ในสหราชอาณาจักรหรือจะเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งน่าจะจบลงด้วยการทำประชามติอีกครั้ง (Reuters)

เอเชีย:

• รมต.ทิลเลอร์สันเริ่มการเดินทางเยือนเอเชียในกรุงโตเกียว: ประเทศญี่ปุ่นจะหาคำตอบจากนโยบายของสหรัฐฯ ในเรื่องความผันผวนที่เกิดในเกาหลีเหนือและจีนในขณะที่หวังว่าจะมีความชัดเจนเรื่องนโยบายการค้าได้เมื่อนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้พบเจ้าหน้าที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เขาคาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกี่ยวกับการต่อต้านความพยายามในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นของเกาหลีเหนือและกดดันจีนให้ดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่มีต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Reuters)

• ประธานาธิบดีสีของจีนควบคุมได้อยู่หมัด: รัฐสภาประจำปีของประเทศจีนดำเนินงานตามสคริปอย่างรัดกุมโดยไม่ทำให้เกิดความประหลาดใจหรือมีดราม่าแม้แต่น้อย ซึ่งถือเป็นการคุมการประชุมอย่างอยู่หมัดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก่อนการจัดงานเลี้ยงของพรรคในปลายปีนี้ทำให้พันธมิตรของเขาเข้ามาเป็นผู้นำทีมได้มากขึ้น นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียงกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 5 มีนาคม เน้นความมีเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอันดับแรกเนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยของจีน รวมถึงการสร้าง "ไฟร์วอลล์" เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากการให้กู้ยืมและการเก็งกำไรในทรัพย์สิน ซึ่งการประชุมประจำปีจะสิ้นสุดลงในวันนี้ (Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• น้ำมันดิบบวกวันพุธเพราะสต็อกน้ำมันสหรัฐลดลง EIA รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลงสัปดาห์ที่แล้วตามการนำเข้าที่ลดลงแรง หลังปรับตัวขึ้นไปเก้าสัปดาห์ติด ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินและดีเซลลดลงกว่าที่คาด สต็อกน้ำมันดิบลดลง 237,000 บาร์เรลสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะเพิ่ม 3.7 ล้านบาร์เรล น้ำมันดิบ Brent ล่วงหน้าส่งมอบ พ.ค. บวก 83 เซนต์ปิด 51.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐบวก 82 เซนต์หรือ 1.72% ปิด 48.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (Reuters)

• ราคาทองคำปรับตัวขึ้นวันพุธ เพราะก่อนที่จะประชุมธนาคารกลางสหรัฐและจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ ราคาทองคำตลาดจรปิดบวก 0.2% ที่ 1,200.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ราคาทองคำตลาดล่วงหน้าบวก 0.1% ปิดที่ 1,200.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (Reuters)