แลกบ้านกันอยู่  ‘นวพร เรืองสกุล’ลองมาแล้ว  

แลกบ้านกันอยู่   ‘นวพร เรืองสกุล’ลองมาแล้ว   

ลองอ่านเรื่องราวนักเขียนที่มีความรอบด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ประวัติศาสตรฺ์ และประสบการณ์ชีวิต

แม้วัยจะล่วงเลยกว่า 74 ปี อดีตผู้บริหารระดับสูง และนักเขียนคนนี้ ก็ไม่เคยหมดไฟ และยังเท่าทันโลก ซึ่งคนรุ่นใหม่หลายคน อาจตามเธอไม่ทัน 

เธอมีเรื่องเล่าเขียนในบล็อกและเฟสบุ้คอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่สนุกและมีสาระ 

หากย้อนดูประวัติคร่าวๆ  นวพร เรืองสกุล เป็นคนเรียนเก่งมาก เคยสอนได้ที่ 1 ของโรงเรียนเตรียมอุดม และที่ 1 ของประเทศ เคยเป็นผู้บริหารระดับสูง ประธานกรรมธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตำแหน่งอีกมากมาย เพื่อทำหน้าที่บริหารองค์กร

ปัจจุบันเธอเลือกที่จะเขียนหนังสือ เพื่อถ่ายทอดความรู้ และมุมมองต่างๆ มีผลงานหนังสือหลายสิบเล่ม รวมถึงเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะคิดว่า การทำงานส่วนนี้ น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ส่วนงานอดิเรกที่ขาดไม่ได้ในชีวิต คือ การท่องเที่ยว

“ตอนนี้กำลังแปลหนังสือธรรมะ เรื่อง What the Buddha Taught  ยากมาก เพราะพระอาจารย์ที่ให้ทำเคยเห็นงานที่เราแปลเรื่อง มิลินทปัญหา คัมภีร์นอกพระสูตร เมื่อ 500 ปีหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพารน เราเองก็เคยอ่านฉบับโบราณแล้วไม่เข้าใจ จนได้เจอฉบับภาษาอังกฤษ ที่เขียนแบบง่ายๆ ให้คนต่างชาติอ่าน จึงอยากแปลให้คนรุ่นใหม่อ่าน เพราะคนรุ่นใหม่เวลาอ่านไทยบาลีในพุทธศาสนาแล้วไม่เข้าใจ จึงไปอ่านภาษาอังกฤษ ถ้ามีแปลเป็นภาษาไทย อ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้โยงกันไปมา อ่านได้ทั้งสองภาษา” นวพร เล่าถึงงานเขียน ซึ่งตัวเธอฝึกเขียนหนังสือตั้งแต่มัธยม

ปกติเธอจะเขียนหนังสือออกมาปีละสองเล่ม และไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเงินๆ ทองๆ จะมีผลงานที่หลากหลาย อาทิ เบื้องหลังเงินตราและนายธนาคาร, Sharing Economy ลองมาแล้ว : เศรษฐศาสตร์โลกใบใหม่,ออมก่อน รวยกว่า และเยี่ยมย่าน...ยลเสน่ห์มหานคร,ทำงานในวัง ฯลฯ 

 “ความรู้ทั่วไปหาในอินเตอร์เน็ตก็ได้ แต่เราเอาความรู้มาสังเคราะห์ แล้วใส่ความคิดเห็นจากประสบการณ์หลายแหล่งที่ทำมา แล้วประมวลออกมาเป็นหนังสือ เวลาเขียนหนังสือ ก็จะคิดว่าคนอ่านต้องได้อะไรบ้าง ปีที่แล้วเขียนเรื่องเกี่ยวกับการวางผังเมือง แต่ไม่ได้เขียนในฐานะนักผังเมือง เขียนในฐานะคนใช้ชีวิตในเมือง

เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ชอบไปเมืองต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปแค่มหานคร แม้แต่ในมหานครก็มีย่านที่น่าสนใจ อย่างปีที่แล้วเขียนเรื่อง “เยี่ยมย่าน...ยลเสน่ห์มหานคร” นำย่านในโตเกียวที่เห็นมาเปรียบเทียบกับย่านในเมืองไทย ซึ่งมีศักยภาพพัฒนาได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องพัฒนาเหมือนญี่ปุ่น อย่างย่านริมน้ำ ย่านตลาดน้อย ตลาดนางเลิ้ง เราเขียนให้เห็นว่า การทำย่านให้น่าอยู่ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง”

เมื่อพูดถึงสไตล์การเขียน เธอบอกว่า จะไม่ฟันธงว่า ฉันต้องมีคำตอบสุดท้ายให้คนอ่าน

 “เคยมีคนบอกว่า อ่านหนังสือเราแล้ว เหมือนมีคนคุยด้วย อย่างปีนี้ เขียนหนังสือ เบื้องหลังเงินตราและนายธนาคาร เป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของยุโรป โยงไปถึงเอเชีย เพราะทั้งสองทวีปเคยค้าขายกันและครอบครองดินแดนกัน มีช่วงหนึ่งทางยุโรปมีปัญหาเรื่องผู้อพยพ เราก็โยงมิติทางประวัติศาสตร์เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน”

ส่วนหนังสืออีกเล่ม เธอโยงให้เห็นว่า คนมีไอเดียต้องรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ หรือทรัพยากรเหลือใช้ มาสร้างมูลค่า ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่ เธอเขียนไว้ใน Sharing Economy ลองมาแล้วคน

 “เราก็ลองทำ ลองไปใช้บริการ อย่างเว็บ Airbnb การจองห้องพักบ้านในต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่แข่งของโรงแรม เราก็เคยเอาบ้านไปให้คนอื่นเช่า และเช่าบ้านคนอื่น เราลองเป็นทั้งผู้บริโภคและลองหารายได้จากการให้เช่าบ้าน  ส่วนอีกเรื่องที่ลองคือ แลกบ้านกันอยู่ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ถูกมาก นอกจากนี้ในงานเขียนยังเล่าถึงธุรกิจรถอูเบอร์ อาลีบาบา บิทคอยน์ เงินตราในโลกไซเบอร์ ซึ่งคนที่รู้แล้วก็บอกว่าง่าย แต่คนที่ไม่รู้ ก็ต้องศึกษา เพื่อให้รู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว“

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า เมื่อลองแล้ว ก็ต้องวิเคราะห์ความสำเร็จของผู้ประกอบการเหล่านั้นด้วย

“ทำไมพวกเขาคิดต่าง แล้วได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นใครก็ตามจะทำอีคอมเมิร์ชในประเทศไทย ต้องคิดให้ออกว่า ในฐานะคนกลางที่ปล่อยบ้านให้เช่าหรืออะไรก็ตาม จะสร้างมูลค่าเพิ่มยังไง ถ้าคิดแบบเสือนอนกิน ไปไม่รอด”

ส่วนเรื่องที่เธอถนัดเงินๆ ทองๆ ในหนังสือ ออมก่อน รวยกว่า เธอบอกว่า อยากให้คนไม่รู้เรื่องเงินๆ ทองๆ เข้าใจมากขึ้น

“กลุ่มคนที่จบด้าน MBA เข้าเรื่องนี้อย่างแตกฉาน ก็บอกว่าเราเขียนแค่นี้ได้เป็นเล่มเลยหรือ เราเขียนให้คนทั่วไปที่ไม่เข้าใจอ่าน “

เหมือนเช่นที่กล่าวมา การเขียนหนังสือของเธอ เป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษา แต่ไม่ใช่ความรู้แบบ How to

“เสียดายในเมืองไทยไม่ค่อยมีนักวิจารณ์นักแนะนำหนังสือดีๆ ซึ่งดีในที่นี่ คือ วิจารณ์หนังสือแบบได้สาระ เท่าที่อ่านนักวิจารณ์เมืองไทย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยติว่า หนังสือเล่มนั้นมีข้อดี ข้อไม่ดียังไง "

เมื่อถามถึงการเขียนหนังสือที่ทำมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เธอบอกว่า เธอและเพื่อนๆ หัดแต่งกลอน โคลง ตั้งแต่อายุ 13-14 ปี เพราะครูภาษาไทยสอนเก่งมาก และเคยเป็นนักเขียนฝึกหัด เขียนส่งไปให้ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการสตรีสาร วิจารณ์ ก็ถูกจับลงตะกร้าบ้าง ขึ้นหิ้งบ้าง

“ตอนนั้นคุณนิลวรรณ วิจารณ์ว่า ถ้าเขียนยากไป คนอ่านไม่เข้าใจหรอก การเขียนหนังสือของเราจึงฝึกฝนมาหลายทาง อาศัยประสบการณ์ และทักษะการเขียนก็ต้องฝึก ดังนั้นเราจะชอบมากเวลาเห็นคนเขียนคำดีๆ หรือประโยคดีๆ ออกมา ”

ส่วนมุมด้านการเป็นนักบริหารที่ผ่านมา นวพร บอกว่า ไม่เคยวางแผนอะไร 

“ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ เคยมีคนตั้งคำถามกับเราว่า วางเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างไร ตอนนั้นเราก็งงๆ ไม่เคยคิด แค่คิดว่า ใครให้งานอะไรมา ก็ทำให้ดี และเคยถูกถามว่า เมื่อทำงานตรงนี้แล้ว คุณคิดจะเป็นเบอร์หนึ่งในองค์กรไหม เราตอบไปว่า ไม่คิดหรอก ถ้าทุกคนคิดเป็นเบอร์หนึ่ง แล้วจะได้เป็นเมื่อไหร่ คนถามก็งงกับคำตอบของเรา”

เหตุใด เธอจึงไม่เชื่อเรื่องการวางเป้าหมาย หรือ ลำดับขั้นตอนในการบริหารจัดการ 

เธอบอกว่า สภาวะด้านในของเธอ อาจมีเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องใช้ How to แบบนั้น เหมือนบางคนมีพรสวรรค์บางด้านอยู่แล้ว  อย่างเพื่อนบางคนเล่นกีฬาเก่ง ไม่ต้องหัดเยอะก็ทำได้ แต่บางคนหัดเกือบตาย กว่าจะไปถึงจุดนั้น

“ชีวิตเรา ไม่เคยคิดว่าต้องเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ถ้ารับปากใครจะทำเรื่องอะไรแล้ว ก็จะทำให้ดี ถ้าทำดีแล้วคนจะเห็นหรือไม่เห็น เราก็ได้ทำสิ่งนั้นแล้ว”

ส่วนชีวิตตอนนี้ เธอบอกว่า ทำอะไรก็ได้ ไม่อยู่เฉยๆ เดี๋ยวสมองฝ่อ แต่ไม่ตะเกียกตะกาย

“เดี๋ยวรุ่นน้องก็จะช่วยคิด แล้วชวนให้เราทำ ไม่อยากให้เราอยู่นิ่งๆ บางทีก็ให้เราช่วยคิด เราก็ลองทำ สนุกๆ ไม่ต่างจากการท่องเที่ยว เราชวนกันไปโตเกียว เราสนุกที่กระบวนการเดินทาง ไม่ใช่สถานที่ที่ไป เหมือนการทำงาน เราก็สนุกที่กระบวนการทำงาน”

...................................

หมายเหตุ : สนใจดูข้อเขียนได้ที่ 

-blog:thaidialogue.wordpress.com

-facebook: Knowledge Plus by นวพร