เอ็นเฮลธ์ตอบโจทย์‘รู้ก่อนป่วย’

เอ็นเฮลธ์ตอบโจทย์‘รู้ก่อนป่วย’

เอ็นเฮลธ์ตั้งเป้า 5 ปีไต่ระดับรายได้ 1 หมื่นล้านบาท รุกบริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์เจาะกลุ่มวัยเกษียณและกลุ่มดูแลสุขภาพทุกช่วงอายุรับพฤติกรรมใส่ใจสุขภาพก่อนเจ็บป่วย

เอ็นเฮลธ์ตั้งเป้า 5 ปีมั่นใจไต่ระดับรายได้ 1 หมื่นล้านบาท รุกบริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์เจาะกลุ่มวัยเกษียณและกลุ่มดูแลสุขภาพทุกช่วงอายุ ขานรับพฤติกรรมใส่ใจสุขภาพก่อนเจ็บป่วย พร้อมทั้งเดินหน้าขยายธุรกิจสู่เพื่อนบ้านอาเซียน ล่าสุดลงขันร่วมกลุ่มทุนท้องถิ่น 2.5 ล้านดอลลาร์เปิดธุรกิจแล็บในเมียนมา


ร่วมทุนรุกต่างประเทศ


นายณรงฤทธิ์ กาละพุฒ กรรมการผู้จัดการเอ็นเฮลธ์ (N Health) เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ กล่าวว่า เอ็นเฮลธ์ร่วมกับซีไลออน์กรุ๊ปและโรงพยาบาลบาโฮซี ลงทุน 2.5 ล้านดอลลาร์ในสัดส่วน 60:20:20 ตามลำดับ เปิดบริการห้องแล็บเพื่อตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ในเมียนมา
ปัจจุบันมีคนไข้เมียนมาเดินทางมารับบริการรักษาที่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่จะเป็นเรื่องที่ดีหากบางส่วนสามารถใช้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ในประเทศ เช่น การตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม การตรวจวิเคราะห์สารก่อภูมิแพ้ การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรควัณโรค ฯลฯ หลังจากเปิดให้บริการได้รับการตอบรับที่ดี สังเกตจากจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจวิเคราะห์ต่อวันประมาณ 500 เคสจากพาร์ตเนอร์ ไม่นับรวมคนไข้ที่เข้ามารับบริการเอง


วิธีการที่ดีสำหรับการมาทำธุรกิจในเมียนมาคือการร่วมทุน เพราะทำให้ได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่นมากขึ้น ฉะนั้น หลักการลงทุนในต่างประเทศของเอ็นเฮลธ์ คือ เน้นการหาหุ้นส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้องค์ความรู้ ไม่ใช่การตั้งโรงงานผลิต จึงต้องอาศัยเวลาในการศึกษาข้อมูลและแนวทางการทำธุรกิจร่วมกันหลักการถัดมาคือ ตลาดต้องมีขนาดใหญ่ เช่น เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องไปบุกเบิกตลาดที่เมืองหลวงเท่านั้น หากเป็นไปได้อาจไปที่เปิดตลาดที่บาหลีเนื่องจากเข้าใจเรื่องอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส


เจาะตลาด ส.ว.สแกนสุขภาพ
นายณรงฤทธิ์กล่าวถึงธุรกิจตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ในไทยว่า ได้เปลี่ยนโหมดใหม่ คือทุกคนต้องมอนิเตอร์สุขภาพตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการรับประทานอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นเทรนด์เหมือนกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จากเดิมที่การดูแลสุขภาพปล่อยให้เป็นหน้าที่แพทย์ในการดูแลและตัดสินใจ


กลุ่มเป้าหมายของการเข้ามาใช้บริการจะไม่ใช่คนป่วยเท่านั้น แต่จะเป็นคนทั่วไปที่อยากรู้ว่าสุขภาวะตนเองเป็นอย่างไร กลุ่มหลักกลุ่มแรกคือ กลุ่มคนเกษียณที่มีความรู้ด้านการดูแลตัวเอง และพยายามลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีขนาดใหญ่
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป กำลังจะแต่งงานและเริ่มสนใจสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสพข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัลและกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40-60 ปี มีไลฟ์สไตล์วาไรตี้ ซึ่งแนวโน้มคนเหล่านี้เข้าไปใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกว่า Business to Consumers คาดว่า ภายใน 3 ปีจะมีสัดส่วน 20-25% ของเอ็นเฮลธ์ ส่วนที่เหลือเป็นแบบ Business to Business ที่มาจากโรงพยาบาลและคลินิกจากปัจจุบันที่สัดส่วน 95%


ดังนั้น แนวทางการสื่อสารคือการใช้ดิจิทัลมีเดีย งานแสดงสินค้า เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและสร้างการรับรู้ว่า บริการเอ็นของเฮลธ์มีอะไรบ้างที่สามารถตอบโจทย์ พร้อมทั้งตั้งแผนกอีคอมเมิร์ซและแผนก Business to Consumers ซึ่งจะมีอุปกรณ์ดูแลตัวเอง เช่น อุปกรณ์เจาะเลือด วัดความดัน ชุดตรวจการติดเชื้อด้วยตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภค


" เราตื่นเต้นกับเรื่องนี้เพราะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีสัดส่วนในสังคม 85% เป็นคนที่แข็งแรง ขณะที่ระบบสาธารณสุขดูแลคนที่ไม่แข็งแรงอยู่15% ซึ่งถ้ากลุ่มคนนี้มีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นจะสามารถป้องการเจ็บป่วยเขาไปได้อีกยาวนาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศลงได้มหาศาลและทำให้ ประเทศเข้มแข็ง ซึ่งถ้าโมเดลนี้ในประเทศไทยประสบควาสำเร็จจะถ่ายทอดไปสู่ประเทศเมียนมาและประเทศอื่นๆ ที่จะเริ่มต้น Business to Business"


ส่วนเป้าหมายผลประกอบการปีนี้ 4,500 ล้านบาทจากปีที่ผ่านมา 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากการบริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ การให้บริการวิศวกรรมทางการแพทย์ บริการเกี่ยวกับงานด้านปราศจากเชื้อและการบริหารงานด้านซัพพลายเชน คาดว่าในระยะ 5 ปีจะมีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท