ไฟเขียว'ทีโอที'เปิดเอกชนประมูลคลื่น2300ลุย4จี

ไฟเขียว'ทีโอที'เปิดเอกชนประมูลคลื่น2300ลุย4จี

กทค.รับทราบแผนปรับปรุงคลื่น 2300 ของทีโอที ระบุให้บริการพร้อมเปิดซองบิวตี้ คอนเทสต์ได้ แต่ต้องให้คณะทำงานฯ กสทช.เข้าไปให้รายละเอียดทีโออาร์

แผนการนำคลื่น 2300 เมกะเฮิรตช์มาสร้างรายได้ให้กับทีโอที หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติให้ทีโอทีสามารถนำคลื่นความถี่ 2300 มาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นแอลทีอี จำนวน 60 เมกะเฮิรตช์ และนำไปให้บริการได้จนถึงปี 2568 โดยแผนของทีโอที ต้องการให้บริการแบบขายส่งขายปลีกโดยมีคู่ค้า ได้ถูกปลดล็อคแล้ว โดยล่าสุด กสทช.รับทราบแผน ไฟเขียวเดินหน้าได้แต่ตั้งคณะทำงานติดตามอย่างใกล้ชิด

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วานนี้ (15 มี.ค.) ได้รับทราบแผนใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่สามารถใช้งานได้ถึงปี 2568 ตามที่ทีโอทีเสนอให้สำนักงานพิจารณา และก่อนหน้านี้ที่ประชุม กทค.ได้มีมติรับทราบแผนปรับปรุงคลื่นไปแล้วครั้งหนึ่ง

โดยที่ประชุม กทค.มีมติให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการทำงานของทีโอทีด้วยว่า สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่เสนอหรือไม่ และต้องไม่ขัดต่อกฎหมายกสทช.

“คณะทำงานไม่มีเจตนาขัดขวาง หรือ ทำให้งานทีโอทีชะงัก แต่คณะทำงานจะเข้าไปให้คำแนะนำ ช่วยปรับแก้ เช่น หากทีโออาร์ขัดต่อกฎหมาย กสทช.จะช่วยแนะนำปรับแก้ให้ถูกต้องตามกฎหมายของกสทช. โดยคณะทำงานชุดนี้ มีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช. เป็นประธาน”

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติยกเลิกผู้มีอำนาจเหนือตลาดของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ ที่เดิมนั้นทรูฯ เป็นผู้ให้บริการเหนือตลาดเพียงรายเดียว ซึ่งผลการตรวจสอบปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผู้ให้บริการรายอื่นเข้ามาให้บริการ และดึงส่วนแบ่งการตลาดไปจากทรูฯ โดยเฉพาะของ 3บีบี ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกันที่ 30% ดังนั้น ที่ประชุม กทค.จึงมีมติและประกาศให้ทรูฯ สามารถให้บริการได้ตามปกติเหมือนผู้ให้บริการรายอื่นๆ

ดีเดย์ 27 มี.ค.เสนอแผนธุรกิจ

ด้านนายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที กล่าวว่า วันที่ 27 มี.ค.นี้ จะเป็นวันที่ผู้สนใจที่ได้เข้ามาขอรายละเอียดในการมาเป็นพันธมิตรไปแล้วเมื่อวันที่ 10-15 ก.พ. 2560 ซึ่งมีจำนวน 13 ราย มายื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจรายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที จากนั้นทีโอทีจะใช้วิธีพิจารณาด้วยวิธีการบิวตี้ คอนเทสต์ให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยใช้บริษัทที่ปรึกษา 2 บริษัทในการพิจารณา ได้แก่ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงิน

อย่างไรก็ดี ตามขั้นตอนในวันที่ 10-15 ก.พ.2560 เวลา 9.00-16.00 น.นี้ ทีโอทีจะเปิดให้ผู้ประกอบการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) เวนเดอร์ และผู้สนใจเข้ามาเป็นคู่ค้า (เอ็มวีเอ็นโอ) เข้ารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ในการเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจรายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที

ซึ่งผู้ที่เสนอราคาที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะ และผู้ชนะอาจจะมีมากกว่า 1 รายได้ ขณะนี้มีผู้สนใจแล้ว 5 ราย ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ,บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส , บริษัทกลุ่มทรูฯ ,บริษัท โมบายล์ แอลทีอี จำกัด และ บริษัท ทานตะวัน เทเลคอม จำกัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้และจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4 ปีนี้

สำหรับแผนธุรกิจคู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4จีแอลทีอีตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เต็มทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ มีเป้าหมายวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า

ติดตั้งครอบคลุมเมืองหลักใน2ปี

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถติดตั้ง และเปิดให้บริการภายในปีแรกไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้นจะเพิ่มจำนวนไปตามประมาณการผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมตามแผน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ในส่วนของรูปแบบการให้บริการนั้น ทีโอที จะนำความจุไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมืองและพื้นที่ห่างไกล เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิธทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ ของคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ บริการโมบายบรอดแบนด์ 20% เป้าหมาย คือ กลุ่มลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมืองผ่านอุปกรณ์ดองเกิลสำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิมและบริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวน 60%ของความจุโครงข่าย