สำรวจ 'พื้นที่สีขาวบนเน็ต' สร้างภูมิคุ้มกันเด็ก 'เจน อัลฟา'

สำรวจ 'พื้นที่สีขาวบนเน็ต' สร้างภูมิคุ้มกันเด็ก 'เจน อัลฟา'

กิจกรรมที่เด็กใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ความบันเทิง ฟังเพลง ดูยูทูบ ตามด้วยโซเชียล เน็ตเวิร์ค อัพโหลดรูปภาพ ค้นหาข้อมูล การศึกษา รับส่งอีเมล และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ในยุคปัจจุบันพื้นที่สีขาวบนอินเทอร์เน็ตมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

"อินเทอร์เน็ตเปรียบเหมือนตลาดที่เด็กสามารถเข้าไปชอปปิงความรู้ ความสนุกสนาน ขณะเดียวกันก็มีทั้งของดีและของไม่ดีปะปน เด็กอาจเข้าไปสัมผัสโดยไม่รู้ตัวได้ อาจส่งผล กระทบในระยะยาว เช่น ความรุนแรง บุคลิกภาพ หรือการล่อลวง ดังนั้น ระบบคัดกรองจึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้พื้นที่สีขาวเด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์"

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานเสวนาถอดรหัสการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล Digital parenting: a new parenthood in post-millenial era โดยจากสถิติพบว่า กว่าครึ่งของเด็กไทยใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง และ ‘ยูทูบ’ กลายเป็นแหล่งเนื้อหาหลักแทนทีวี แต่เด็กไทยขาดความรู้การใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์

สถานการณ์ปัจจุบันยุคดิจิทัล ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปีหรือที่เรียกว่า เจน อัลฟา มีแนวโน้มใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นจาก 35.9% ในปี 2553 เป็น 61.4% ในปี 2559 โดยในกลุ่มเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ต 51.6% ใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และ 47.4% ใช้ทุกวัน ขณะที่ระยะเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่สถานที่ที่เด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ โรงเรียน 82.8% สถานที่ต่างๆ 58.2% และบ้าน 48.4%

นอกจากนี้ เด็กอายุ 6-14 ปี เสพเนื้อหาผ่านคอมพิวเตอร์เป็นอันดับ 1 ที่ 83.3% ตามด้วยสมาร์ทโฟนที่ 59% และแทบเล็ต 18.1% สำหรับกิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ความบันเทิง ฟังเพลง ดูยูทูบ ตามด้วยโซเชียล เน็ตเวิร์ค อัพโหลดรูปภาพ ค้นหาข้อมูล การศึกษา รับส่งอีเมล และโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ในยุค

ปัจจุบันพื้นที่สีขาวบนอินเทอร์เน็ตมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจกระทบต่อพัฒนาการเด็กยุคดิจิทัลระยะยาว

นพ.อดิศักดิ์ เสริมว่า ควรให้ความสำคัญกับระบบคัดกรองอย่างแอพพลิเคชันประเภท Parental Control เช่นเดียวกัน ผู้ผลิตแพลตฟอร์มและคอนเทนท์ควรจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา ตัวอย่างเช่น นโยบายการใช้งานของเฟซบุ๊คที่กำหนดให้ผู้ใช้ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป

"ภาครัฐควรตระหนักถึงปัญหาการขาดภูมิคุ้มกันการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกต้อง ซึ่งควรปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ทันสมัย ครอบคลุมถึงสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย สร้างพื้นที่อินเทอร์เน็ตสีขาวให้กับเด็กก่อน 13 ปีมากยิ่งขึ้น" นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

นางอรอุมา ฤกษ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ยุคอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่ง ดังนั้น ระบบคัดกรองจึงเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากนี้ ความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก ตลอดจนการเท่าทันพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ โดยพ่อแม่ควรเปิดใจคุยกับลูกต่อการใช้อินเทอร์เน็ต พูดคุยถึงพฤติกรรมตั้งแต่เด็กเริ่มมีพัฒนาการจดจำ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จากนั้นจึงหาโอกาสพูดคุยระหว่างทำกิจกรรมร่วมกัน

แอพกรองเนื้อหาเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล
นางสาวปริศนา รัตนสุวรรณศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจโพสต์เพด ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น dtac Family Care ร่วมกับ Smith Micro Software Inc (SMCI) แบ่งเป็น 6 ฟังก์ชันการใช้งานหลัก ได้แก่ ดูแลการใช้งานแอพพลิเคชัน, ดูแลการใช้งานโทรออก-รับสาย, สัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน (SOS), การติดตามตำแหน่งเรียลไทม์, สร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยหากสมาชิกในครอบครัวออกหรือเข้าพื้นที่ปลอดภัย ระบบจะส่งข้อความแจ้งทุกคนในครอบครัว และติดตามโทรศัพท์กรณีสูญหาย หรือป้องกันข้อมูลจากระยะไกล

กลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้แอพพลิเคชัน dtac Family Care คือ พ่อแม่ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี ที่มีลูกอายุระหว่าง 6-15 ปี เนื่องจากเป็นวัยเริ่มถือครองโทรศัพท์ของตัวเองและเป็นช่วงที่พ่อแม่ยังสามารถควบคุมการใช้งานโทรศัพท์ได้ เป็นจังหวะที่ดีในการสร้างวินัยการใช้สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ขณะที่เด็กอายุมากกว่า 15 ปี เด็กจะย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง และต้องการพื้นที่ส่วนตัวยากต่อการสร้างวินัย ดังนั้นเด็กช่วงวัยก่อน 13-15 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการสร้างวินัยการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย

ทั้งนี้ คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2560 จะมีผู้ใช้แอพ dtac Family Care ด้วยยอดดาวน์โหลด 20,000 ครั้ง