ไทยติดภาวะศก.'โตช้า' แนะใช้ดอกเบี้ยกระตุ้น

ไทยติดภาวะศก.'โตช้า' แนะใช้ดอกเบี้ยกระตุ้น

"ไอเอ็มเอฟ" ชี้เศรษฐกิจไทยติด "ภาวะโตช้า" ซ้ำยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง แนะใช้นโยบายการเงินควบการคลัง ติงอย่าเน้นระยะสั้น

คณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นำโดย นางแอนนา กอร์บาโซ มาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 16 ก.พ.-1 มี.ค.2560 เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2560 ตามนัยแห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และแลกเปลี่ยนความเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกับหน่วยงานราชการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันภาครัฐอื่นๆ

ไอเอ็มเอฟ ได้สรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2560 ว่า ไทยมีลักษณะที่จะติด “new mediocre” หรือ ภาวะที่เศรษฐกิจโตเชื่องช้าและอัตราเงินเฟ้อต่ำเช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลักบางประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการจ้างงานและการลงทุนทำให้การคาดการณ์อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง

“ไทยยังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอจะลดความเสี่ยงที่อาจจะติดกับดักเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำ”

เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ แนะนำให้ไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผสมผสานทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศระยะสั้น และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวยังช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะปานกลาง และช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงปรับแข็งค่าขึ้นผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ โดยการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนควรเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ซึ่งทางการสามารถเข้าดูแลได้เมื่อจำเป็นในกรณีที่เกิดความผันผวนที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังแนะนำให้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ควบคู่กับการปรับปรุงการสื่อสารนโยบาย เพื่อช่วยให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย

ทั้งนี้การใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนผสมผสานกับนโยบายการคลังที่ผ่อนปรนมากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน และป้องกันการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และภาระหนี้ที่แท้จริง

นอกจากนี้การที่เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วจะช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากภาวะดอกเบี้ยต่ำได้เร็วขึ้น และทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินเข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย

ดึงแม็คโครพรูเด็นเชียลอุดช่องโหว่

สำหรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยยังมีจำกัด การใช้นโยบายแม็คโครพรูเด็นเชียล (การกำกับดูแลเศรษฐกิจมหภาคผ่านระบบสถาบันการเงิน) และการปฏิรูปเกณฑ์กำกับดูแลจะช่วยจัดการปัญหาความเปราะบางของภาคการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้

ส่วนข้อกังวลที่ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ทางการสามารถใช้นโยบายแมคโครพรูเด็นเชียลที่เหมาะสม เพื่อปิดช่องโหว่จากความแตกต่างของกฎเกณฑ์กำกับดูแลได้

นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการพัฒนากรอบนโยบายแมคโครพรูเด็นเชียวในการดูแลสถาบันการเงินประเภทต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะไม่ส่งผลให้มีการก่อหนี้เกินตัวและเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ขณะเดียวกันการพัฒนากรอบการดูแลเสถียรภาพทางการเงินอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งช่วยเสริมเสถียรภาพโดยรวมให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย

จี้รัฐเพิ่มจัดเก็บรายได้

ไอเอ็มเอฟ ยังสนับสนุนให้ใช้นโยบายการคลังกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นแรงส่งสำคัญในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและเงินเฟ้อ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการนำเข้า สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและทำให้ฐานะต่างประเทศสมดุลมากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนมาตรการระยะสั้นที่ไม่ตรงเป้าหมายและไม่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว อีกทั้งภาครัฐมีความจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการปรับโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับรายจ่ายสวัสดิการสังคมที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและช่วยรักษาความยั่งยืนของหนี้สาธารณะในระยะยาว

แนะยืดอายุเกษียณ

ไอเอ็มเอฟ ยังเห็นว่า ไทยควรดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง การปฏิรูปร่วมกันโดยทุกภาคส่วนควรพิจารณาปัจจัยทั้งหมดที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับความท้าทายที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

“การเพิ่มกำลังแรงงานด้วยการลดความไม่เท่าเทียมทางเพศและการเพิ่มอายุเกษียณ การอำนวยความสะดวกการย้ายถิ่นฐานของแรงงานฝีมือ และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดผลกระทบจากปัญหาโครงสร้างประชากร”

ส่วนการเคลื่อนไหวเงินบาท วานนี้ (14 มี.ค.) ยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ปิดตลาดที่ 35.30-35.32 บาทต่อดอลลาร์ โดยนักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะรู้ผลประชุมในวันที่ 15 มี.ค.นี้

‘กสิกร’คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย2ครั้ง

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นในการประชุมรอบนี้ และปรับอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ จากเดิมที่เฟดประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่กดดัน ทั้งต้นทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยมากๆจะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐ ที่มีกำไรจากการลงทุนต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 19% กำไรส่วนนี้ก็จะลดลง และไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐ

ชี้ดอลลาร์แข็งเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐคงไม่แข็งค่ามาก และแกว่งตัวเป็นฟันปลา ยกเว้นว่าในการประชุมเฟดจะมีการพูดถึงการปรับลดสินทรัพย์จากการทำนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ คิวอีลง โดยไม่มีการโรลโอเวอร์ตราสารที่ครบกำหนด ซึ่งจะกดดันให้กระทรวงการคลังของสหรัฐต้องออกไปกู้เงินที่อื่น ซึ่งเป็นการดึงสภาพคล่องกลับประเทศ

นักวิเคราะห์ในต่างประเทศ คาดว่า เฟด อาจเร่งการขึ้นดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น หลังที่ผ่านมาต้องพยายามอย่างหนักในการดันให้ระดับเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยครั้งกว่าที่ทั้งธนาคาร และตลาดคาดการณ์ไว้

นายทิม ดุย ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิยาลัยโอเรกอน ระบุว่า เฟดไม่มีพื้นที่ว่างให้อดทนรอเหมือนที่เคยทำมาก่อน โดยเขาคาดว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายเฟด จะปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้

เขาบอกด้วยว่า บรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายให้ความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการจ้างงาน และเงินเฟ้อ 2% ซึ่งยิ่งเศรษฐกิจบรรลุเป้าเหล่านี้ได้เร็วเท่าใด เฟดก็จะยิ่งต้องการคุมเข้มนโยบายให้เร็วเท่านั้น เพื่อเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยลง