ครม.ไฟเขียวร่างพรบ.2ฉบับปฏิรูปประเทศ

ครม.ไฟเขียวร่างพรบ.2ฉบับปฏิรูปประเทศ

ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศ มีผลภายใน 120 วันหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ "กอบศักดิ์" ชี้เป็นกฎหมายวางอนาคตประเทศระยะยาว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอโดยร่างกฎหมายทั้งสองฉบับจะนำข้อเสนอแนะของ ครม.ไปปรับปรุง และนำไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ภายใน 120 วันหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการประกาศใช้

ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็น ครม.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

นอกจากนี้ที่ประชุมฯครม.ได้มีการหารือเรื่องการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ในอนาคต โดยได้มีการหารือว่าจะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถทบทวนยุทธศาสตร์ชาติได้ทุกๆ 5 ปี ขณะเดียวกันการเสนอการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ หรือการไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติเนื่องจากสาเหตุอันสมควร เช่น การเปิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติ ก็สามารถที่จะขอปรับเปลี่ยนหรือละเว้นการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติได้โดยเสนอให้รัฐสภามีมติรับรอง

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ สภาพบังคับของแผนการปฏิรูปประเทศ การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล รวมทั้งกำหนดกลไก การมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย สาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งกำหนดการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

โดยกฎหมายทั้ง2ฉบับที่ออกมานี้ จะเป็นกรอบป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากนี้ ออกนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ20ปี ซึ่งแผนแม่บทที่มีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติจะครอบคลุมแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น เรื่องการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งแต่ละเรื่องจะกำหนดขั้นตอนและเรื่องสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการตามระยะเวลา 20 ปีซึ่งคาดว่าในส่วนของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ จะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และส่วนของร่าง พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายลูกจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 ปี เพื่อเป็นกฎหมายที่สร้างการพัฒนาประเทศระยะยาว

“รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถทำนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่มีการหาเสียงไว้ได้ เช่น รัฐบาลเน้นเรื่องหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี ก็สามารถที่จะทำได้ แต่ก็ต้องเน้นในเรื่องนโยบายที่เป็นหลักในการพัฒนาประเทศระยะยาวในสัดส่วนประมาณ 20 – 30% ของนโยบายทั้งหมด เช่น เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็ต้องทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้มีความต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาว”

สำหรับกฎหมายทั้ง2ฉบับนี้ จะมีกรอบบังคับให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องเดินตามแผนพัฒนาประเทศระยะยาวนี้ หากเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรืออกจากราชการไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป

กรณีที่ 2 เมื่อปรากฏว่ามีการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้แจ้งหน่วยงานของรัฐทราบถึงความไม่สอดคล้องและข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุง หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง หรือไม่แจ้งผลการดำเนินการภายใน60วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรายงานต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ หรือแจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินงานตามอำนาจต่อไป ถ้าหน่วยงานของรัฐนั้นไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุผลอันควรให้ถือว่าเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้แจ้งต่อ ป.ป.ช. ดำเนินการเอาผิดต่อไป

"หลังจากกฎหมายทั้ง2ฉบับออกมา จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ตัวชีวัดให้กับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ ประชาชนก็สามารถร้องต่อสภา หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พิจารณาส่งเรื่องให้กับ ป.ป.ช. ดำเนินการเอาผิดได้"