มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

มีหลายอาชีพเหลือเกินที่ถูกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดสร้างภาพจำผิด ๆ ให้กับคนดู ร้อนถึงนักโบราณคดี และเอฟบีไอที่ต้องออกมาชี้แจงว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เป็นแบบในหนังนะ

ละคร และภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงที่ทรงอิทธิพลมหาศาล อย่างเวลาพูดถึงนักโบราณคดีขึ้นมา เชื่อเถอะว่าคนจะนึกถึง “อินเดียนา โจนส์” ตัวละครอันโด่งดังที่รับบทโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด มากกว่าที่จะนึกถึงนักโบราณคดีตัวจริง


นั่นก็เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่เข้าถึงคนทุกหมู่เหล่าได้มากกว่าข่าวหรืองานวิชาการนั่นเอง

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

ทว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถึงแม้ภาพยนตร์จะทำให้คนหันมาสนใจอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น (เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค เคยรายงานว่าหนังแฟรนไชส์เรื่องอินเดียนา โจนส์ ทำให้คนหันมาสนใจโบราณคดีกันเยอะมาก) แต่ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์หรือละครก็สร้างภาพจำที่ผิด ๆ ให้กับหลายอาชีพเช่นกัน


วันนี้ เราเลือก 2 อาชีพ ได้แก่ นักโบราณคดี และเอฟบีไอ มาพูดถึงกันว่าถูก “มายาคติจากฮอลลีวู้ด” สร้างภาพจำที่ผิด ๆ อะไรไปบ้าง



มายาคติผิด ๆ ของนักโบราณคดี

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด



Business Insider ได้ไปพูดคุยกับนักโบราณคดีตัวจริงเพื่อขอความเห็นว่าพวกเขามีความคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับเพื่อนร่วมอาชีพของตัวเองที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ และละคร ซึ่งก็ได้คำตอบมาดังนี้


นักโบราณคดีไม่ใช่นักล่าสมบัติ


ดร. บิล เคลโซ ผู้อำนวยการแผนกวิจัยและตีความประจำ Historic James towne บอกว่าตั้งแต่อินเดียนา โจนส์ออกฉายเขาจะเจอคนที่คิดว่างานของนักโบราณคดีคือการล่าสมบัติบ่อยมาก ทั้งที่จริงแล้ว งานส่วนใหญ่คือการสร้างภาพหรือตอบคำถามเกี่ยวกับอดีตมากกว่า
“คนจะคิดกันว่าโบราณคดีคือการค้นหาวัตถุที่สามารถเก็บกลับไปได้ ต้องใช้เวลาซักพักเลยกว่าพวกเขาจะเข้าใจกันเวลาที่ผมบอกว่า หลุมเสานี่เป็นสิ่งน่าตื่นเต้นที่สุดที่ผมเคยค้นพบเลยนะ แล้วคุณก็เก็บมันใส่กระเป๋า เอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ด้วย”


เชลซี โรส จากคณะวิจัยมหาวิทยาลัยเซาเธิร์โอเรกอน บอกว่า หนังส่วนใหญ่จะให้ภาพโบราณวัตถุที่ผิด ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นเล็ก ๆ เหมือนแก้วหรือจานแตก ต้องเอามาประกอบเข้าด้วยกันถึงจะได้เรื่องราวที่มีความหมาย ไม่ใช่เทวรูปทองคำสมบูรณ์ไม่มีที่ติแบบในหนัง


มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

นักโบราณคดีไม่ได้ทำงานให้พิพิธภัณฑ์

โรสบอกว่าการเน้นตามล่าสมบัติที่หายไปจึงเกิดภาพจำผิด ๆ ว่านักโบราณคดีออกไปหาของในนามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้หนังไปเน้นแต่ความตื่นเต้นในการตามล่า แต่กลับหลงลืมเรื่องหลังจากนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วสำคัญกว่ามาก นั่นก็คือ การศึกษาว่าใครเป็นคนสร้างโบราณวัตถุชิ้นนั้นขึ้นมา และสร้างขึ้นมาได้ยังไง


โบราณวัตถุจะเสียหายบ้างก็ไม่เป็นไร

สิ่งหนึ่งที่นักโบราณคดีตัวจริงเห็นแล้วปวดใจก็คือพระเอกในหนังไม่ว่าจะเป็นอินเดียนา โจนส์ หรือเดอะ มัมมี่ ดูจะสนใจแต่ของชิ้นใหญ่อย่างเทวรูปทองคำ แล้วทำทุกอย่างให้ได้มันมาโดยไม่สนใจเลยว่าของอื่นจะถูกทำลายป่นปี้แค่ไหน


เคลโซยังจำได้ดีถึงฉากในหนัง Indiana Jones and the Last Crusade ที่พระเอกใช้กระดูกขาของโครงกระดูกที่ถูกรักษาเอาไว้อย่างดีไปทำเป็นคบเพลิง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีตัวจริงไม่มีวันทำเด็ดขาด


“มันไม่ถูกแตะต้องมาหลายร้อยปีแล้ว เราต้องศึกษาว่าคน ๆ นี้ตายยังไง อายุเท่าไร เป็นใคร แล้วยังจะความเปราะบางของมันอีก เราไม่มีทางฉีกมันออกเป็นชิ้น ๆ แบบในหนังแน่

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

งานโบราณคดีอยู่แต่ในถิ่นทุรกันดาร
สโตนเฮนจ์ในอังกฤษ หลุมศพทหารจิ๋นซีในจีน และพีระมิดในอียิปต์ ได้สร้างภาพจำว่าแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีต้องอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด


แต่จริง ๆ แล้ว โรสบอกว่างานโบราณคดีในสหรัฐเกิดได้ทุกที่ เวลามีโครงการพัฒาอย่างจะสร้างถนนสายใหม่ ก็จะส่งนักโบราณคดีไปสำรวจให้แน่ใจว่าไม่มีโบราณสถานที่สำคัญอย่างพื้นที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในบริเวณนั้น


“จริง ๆ แล้ว งานโบราณคดีเกือบทั้งหมดในสหรัฐเกิดขึ้นริมถนนนี่เอง”



ภาพจำผิด ๆ ของเอฟบีไอ

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด


เจ้าหน้าที่เอฟบีไอเป็นอาชีพที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ และซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนของสหรัฐบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นคู่หู “โมลเดอร์กับสกัลลี่” จาก The X-Files หรือ “เดล คูเปอร์” เอฟบีไอนิสัยประหลาด ชอบดื่มกาแฟจาก Twin Peaks และแก๊งเจ้าหน้าที่สุดเท่จาก Criminal Minds ที่มักจะใส่สูท แว่นดำ ยืนเป็นแบ็คกราวด์อยู่ด้านหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด


แต่ความจริง เอฟบีไอจะเป็นแบบที่เห็นในหนังในละครหรือเปล่า เรามาฟังจากปากเจ้าหน้าที่ตัวจริงกันดีกว่า


เอฟบีไอไม่ถูกกับหน่วยงานอื่น


เจ้าหน้าที่เอฟบีไอชอบวางท่า จู่ ๆ ก็เข้ามายึดการสืบสวนไปจากมือเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายท้องถิ่นซะงั้น เป็นฉากที่พบบ่อยมากในหนังและซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็น Die Hard, Law and Order หรือ Dexter


เรื่องนี้ อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เจอร์รี วิลเลียมส์ บอกว่า พอเห็นฉากนี้ทีไรก็อดคิดไม่ได้ว่าไปเอาเรื่องนี้มาจากไหนกัน ที่สำคัญ เรื่องนี้ได้กลายเป็นภาพจำจนทำให้ตำรวจหรือนายอำเภอท้องถิ่นมองเอฟบีไอด้วยความกังขาไปแล้ว จนพวกเขาทำงานลำบาก


ด้าน โจ นาวาร์โร อธิบายว่าเวลามีเรื่องที่เอฟบีไอต้องเข้าไปดูแลจะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แล้วเอฟบีไอก็จะให้ข้อมูลการสืบสวนซึ่งหน่วยงานที่เล็กกว่าไม่มีแค่นั้น


“เราไม่ได้เดินเข้าไปแล้วพูดว่า โอเค เราจะมาเทคโอเวอร์คดีนี้แล้วนะ” นาวาร์โรกล่าว


เอฟบีไอสู้แต่กับฆาตกรต่อเนื่อง


นวนิยายที่ถูกดัดแปลงไปเป็นหนังดังเรื่อง Silence of the Lambs เป็นตัวจุดกระแสเรื่องนี้ ก่อนที่ซีรีส์ Criminal Minds จะมาตอกย้ำด้วยการตามล่าฆาตกรต่อเนื่องไปทั่วประเทศ


วิลเลียมส์ที่เป็นเอฟบีไออยู่ 26 ปี แล้วสอบสวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลักบอกว่าจริง ๆ แล้วเอฟบีไอสอบสวนคดีฆาตกรต่อเนื่องในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย ขณะที่ ดร. สกอตต์ บอนน์ ผู้เขียนหนังสือ Psychology Today มองว่าการที่หนังหรือละครมีภาพเอฟบีไอต่อกรกับฆาตกรต่อเนื่องออกมามาก สะท้อนภาพว่าสังคมของเราต่างหากที่หลงใหลฆาตกรต่อเนื่อง แต่ไม่ได้สะท้อนว่าเอฟบีไอทำงานอย่างไร


เอฟบีไอบู๊เป็นอย่างเดียว


อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอยังบอกด้วยว่าละครดัง ๆ อย่าง The X-Files, Twin Peaks และ 24 ตัดแง่มุมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งออกไปจากการทำงานของเอฟบีไอ นั่นคือ ต้องนั่งโต๊ะจัดการเอกสารด้วย ไม่ใช่ออกไปลุยจับผู้ร้ายอย่างเดียว แต่พวกเขาก็เข้าใจว่าถ้ามีภาพพระเอกนางเอกนั่งจมอยู่กับกองเอกสารท่วมหัวแล้วจะทำให้หนังออกมาไม่สนุก

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด



หลักฐานทางนิติเวชคือทุกอย่าง
นาวาร์โรที่เป็นเอฟบีไอและซูเปอร์ไวเซอร์มา 25 ปี พูดถึง CSI effect ว่าซีรีส์ดังเรื่องนี้ทำให้คนทั่วไปมีภาพจำเกี่ยวกับนิติเวชว่าสามารถคลี่คลายคดีทุกอย่าง เวลาที่มีการพิจารณาคดีในศาล คณะลูกขุนก็มักจะคาดหวัง และขอให้ทนายนำตัวอย่างดีเอ็นเอมาให้ดูด้วย หรือไม่ก็บอกว่าทำไมไม่มองหาเส้นผมในท่อน้ำ หรือไม่ใช้สารลูมินอลหาเลือดในห้องล่ะ


นาวาร์โรบอกว่าเรื่องนี้กลายเป็นดาบสองคมคือพอคนมีความรู้ก็มีข้อเรียกร้องมากขึ้นตามไปด้วยโดยที่ไม่รู้ว่าในที่เกิดเหตุไม่จำเป็นต้องมีลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเออยู่เสมอไป

มายาคติผิด ๆ จากหนังฮอลลีวู้ด


ยังมี “มายาคติ” ที่ผิด ๆ อีกหลายข้อไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เอฟบีไอเหมือนหุ่นยนต์ ไร้หัวใจ ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งวิลเลียมส์บอกว่าถึงแม้จะทำงานกันจริงจัง แต่พวกเขาไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ขณะที่นาวาร์โรบอกว่า

เอฟบีไอก็มีครอบครัว มีลูก มีลาป่วย แล้วก็ไปงานวันเกิดเหมือนคนทั่วไปน่ะแหละ