กฟผ.มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเสร็จตามกำหนด

กฟผ.มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเสร็จตามกำหนด

"กฟผ." มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา คาดเสร็จตามกำหนดปี 64 คาดเริ่มกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้ากระบี่ภายใน 3 เดือนนี้

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มั่นใจว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา จะยังคงแล้วเสร็จตามกำหนดเดิมในปี 2564 โดยขณะนี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างตรวจสอบรายงาน EIA และ EHIA ของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ แม้โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าให้เป็น 1 ใน 2 โรงไฟฟ้าพลังงานหลักที่จ่ายไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ในพื้นที่ภาคใต้ จะต้องชะลอการก่อสร้างออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ใหม่ทั้งหมด คาดจะสามารถเริ่มกระบวนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) ได้ภายใน 3 เดือนนี้และขั้นตอนทั้งหมดกว่าจะแล้วเสร็จคาดรวม 2 ปีกว่า หรือเลื่อนจ่ายไฟเข้าระบบไปจากเดิมปี 2564 เป็นปี 2567

“ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 30% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 19% ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่ามาเลเซีย บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาตั้งฐานการผลิต”

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ล่าสุดพบว่าภาคใต้มีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพียง 2 โรงเท่านั้น ที่มีความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับพลังงานหลัก ดังนั้นจึงไม่ตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภาคใต้

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ไม่สามารถดำเนินการได้และต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าก็คงไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ต่อท่อก๊าซให้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าการลงทุน หรือหากต้องนำเข้าแบบคลังลอยน้ำ (FSRU) ก็จำเป็นต้องต่อท่อก๊าซจากทะเลเพื่อขนถ่ายอยู่ดี ซึ่งอาจขัดกับนโยบายที่รัฐจะประกาศให้กระบี่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกด้วย ทำให้ไม่สามารถลงทุนสร้างคลังลอยน้ำได้ตามแผน

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ประเมินมูลค่าแอลเอ็นจีในปี 2565 จะมีต้นทุนผลิตไฟที่แพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 80 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 5,200 ล้านบาทต่อปี แต่แผนระยะยาวมูลค่าจะสูงกว่านี้มาก

"ถามว่าแบบนี้จะเลือกอะไร หากไม่เลือกถ่านหิน กฟผ.ก็พร้อมตามใจลูกค้า" นายกรศิษฏ์ กล่าว

ส่วนของภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศไทยปีนี้คาดจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่กว่า 30,000 เมกะวัตต์ ขยายตัว 1.6% จากปีก่อน ซึ่งมีพีกอยู่ที่ 29,619 เมกะวัตต์ เมื่อ 11 พ.ค.2559