‘เกษตร4.0’โจทย์วิจัยใหม่โรโบติกส์

‘เกษตร4.0’โจทย์วิจัยใหม่โรโบติกส์

หุ่นยนต์เตะฟุตบอลก็ครองแชมป์โลกสี่สมัยแล้ว หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดก็ทำสำเร็จแล้ว ถึงเวลาบูรณาการความรู้ส่ง “โรโบติกส์-ดิจิทัล” เป็นอาวุธเสริมภาคการเกษตรไทยสู่เกษตรกรรม 4.0 นำร่องด้วย “เครื่องปลูกข้าวแบบหย่อนกล้าสำหรับนาโยน”

หุ่นยนต์เตะฟุตบอลก็ครองแชมป์โลกสี่สมัยแล้ว หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดก็ทำสำเร็จแล้ว ถึงเวลาบูรณาการความรู้ส่ง “โรโบติกส์-ดิจิทัล” เป็นอาวุธเสริมภาคการเกษตรไทยสู่เกษตรกรรม 4.0 นำร่องด้วย “เครื่องปลูกข้าวแบบหย่อนกล้าสำหรับนาโยน”

ผนึกกำลังเสริมแกร่ง

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับคณะเกษตรและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ดิจิทัลและโรโบติกส์เพื่อการวิจัยด้านการเกษตร…มุมมองจากวิศวกร” เพื่อหามุมมองใหม่ที่จะบูรณาการองค์ความรู้เข้าด้วยกัน

รศ.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. กล่าวว่า ในมุมของงานดิจิทัลว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความท้าทายของภาคเกษตรกรรมไทยมีตั้งแต่คุณภาพหน้าดิน ภัยธรรมชาติ แรงงาน ระบบการขนส่งและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคการศึกษาสามารถช่วยได้

ปัญหาระหว่างภาคการเกษตรกับเทคโนโลยีคือ การคิดแก้ปัญหาไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหน หากนำเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่เหมาะกับวัตถุดิบ แต่หากเอาวัตถุดิบเป็นตัวนำก็อาจเลือกเทคโนโลยีไม่เหมาะสมมาใช้ก็เป็นได้ ดังนั้น ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) จึงสำคัญ เพราะจะเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการการเกษตรที่ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูล โดยการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้ามาเสริมศักยภาพการทำเกษตรกรรมหรือฟาร์มปศุสัตว์

“เราเป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์เตะฟุตบอลมาแล้ว 4 สมัยแล้วก็ไปต่อได้ไม่ไกล เพราะต่างชาติก้าวเร็วกว่าเราเป็น 10 ปี จึงเริ่มคิดว่า ถ้านำเทคโนโลยีมาแข่งในสนามที่คู่ต่อสู้เจนจัดแล้วคงไม่ดีแน่” นายปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าว

ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมองหาหนทางอื่นและพบว่า ไทยมีความโดดเด่นเรื่องการเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงควรที่จะขยับฐานการพัฒนาด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาด้านนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤติราคาข้าวจึงมองเห็นโจทย์ที่ท้าทาย ยกตัวอย่างเครื่องดำนาที่เป็นเทคโนโลยีญี่ปุ่นและไม่เหมาะกับบริบทของการทำนาไทย

นวัตกรรมเพื่อนาไทย

เครื่องปลูกข้าวแบบหย่อนกล้าสำหรับการทำนาโยน จึงถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้หลักการทำนาโยนคือ เพาะกล้าจากนั้นนำกล้าที่มีตุ้มดินอยู่ไปโยนในอากาศ ทีมพัฒนาออกแบบตัวเครื่องให้สามารถโยนหรือหย่อนกล้าได้เป็นระเบียบ โดยใช้วิธีการคีบกล้ามาจากที่เพาะแล้วนำไปปล่อยตก ซึ่งทุกขั้นตอนใช้เครื่องทำงานแทนแรงงานคน สามารถติดตั้งหลังรถแทรกเตอร์ รถดำนาหรือรถไถนาที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อรถใหม่

"เราคิดมากว่า 15 โมเดลจึงได้คำตอบดีที่สุดแต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ใช้ไม่เป็น ในขณะเดียวกันก็ไม่มีกำลังซื้อ จากวิศวกร เราก็ต้องข้ามสาขาไปดูเรื่องบัญชี เศรษฐศาสตร์ ความคุ้มทุน เพื่อผลักให้สิ่งที่เราคิดถูกนำไปใช้จริง เกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์” นายปัญญากล่าว

เขาคำนวณจุดคุ้มทุนที่ทำได้ใน 130 วันหรือ 1 ฤดูเก็บเกี่ยว เทียบกับเครื่องของต่างชาติที่จะคุ้มทุนใน 2 เดือน ขณะเดียวกันยังต้องวางโมเดลธุรกิจให้เป็นการร่วมซื้อของวิสาหกิจชุมชนหรือหมู่บ้าน โดยมีนักศึกษาอาชีวศึกษามาดูแลและรับจ้าง ก็สามารถตอบโจทย์เกษตรกรได้

รศ.พันธุ์ปิติ กล่าวว่า การจะประมวลโจทย์จากผู้ใช้ ข้อมูลปฐมภูมิสำคัญที่สุด ส่วนข้อมูลทุติยภูมิไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำฝน อากาศ ฯลฯ รัฐควรให้ข้อมูลที่เพียงพอ อย่างไรก็ดี ดิจิทัลและโรโบติกส์ เป็นเพียงก้าวแรกที่จะร่วมบูรณาการกับภาคการเกษตร ในอนาคตจำเป็นต้องทำวิจัยร่วมกันให้รอบด้านหรือบูรณาการสหสาขาก็จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ตรงความต้องการ