หุ้นไฟแนนซ์อ่วม ขายยกลุ่มหวั่น 'กรุ๊ปลีส' ลาม

หุ้นไฟแนนซ์อ่วม ขายยกลุ่มหวั่น 'กรุ๊ปลีส' ลาม

"หุ้นไฟแนนซ์" อ่วม ขายยกลุ่มหวั่นกรุ๊ปลีส ลาม

ภาพรวมดัชนีหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.ปรับลดลง 1.26% หากพิจารณาดัชนีหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ 17.16% จะเห็นว่า ปรับลดมากสุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆในตลาดหุ้นไทย และหุ้นส่วนใหญ่ที่ลดลงมากสุดอยู่ในกลุ่มลีสซิ่ง ประกอบด้วยหุ้นกรุ๊ปลีส (GL) ปรับตัวลดลง 57% หุ้น ไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) IFS ลดลง 12.07% หุ้นเอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) ลดลง 10.78% หุ้นเจเอ็มที (JMT) ลดลง 7.45% และหุ้นราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ลดลง 7.41% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของกลุ่มไฟแนนซ์พบว่า ปรับตัวลดลง6.17 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้จะเห็นว่าหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรงส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจลีสซิ่งทุกบริษัทดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นวูบเช่นนี้ก็คงเกิดจากปัญหาของบริษัทกรุ๊ปลีส ซึ่งนักลงทุนตื่นตระหนกทำให้เกิดแรงเทขายลุกลามไปยังหุ้นตัวอื่นๆ ด้วย

สอดคล้องกับ บล.กรุงศรี ระบุว่า ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นตอนนี้คือ ความกังวลความโปร่งใสในการทำธุรกิจของบริษัทกรุ๊ปลีส ทำให้หุ้นดังกล่าว ยังมีความเสี่ยงปรับตัวลงเป็นลบต่อ Sentiment การลงทุนในกลุ่มลีสซิ่ง และหุ้นขนาดกลางและเล็กอื่นๆด้วย

ขณะที่บล.เมย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มีความเห็นว่า การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อความเห็นผู้สอบบัญชีของบริษัทกรุ๊ปลีส ทำให้หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลดลงถึง 15.50% รวมทั้งยังมีปัจจัยลบอื่นๆ ที่มีผลกระทบคือปัจจัยต่างประเทศที่รอฟังความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐหลังการประชุมวันที่ 15 มี.ค.นี้ด้วย

บล.เอเซียพลัสประเมินว่า หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามกระแสโลกคาดว่าจะทำให้ กนง. อาจจะต้องกลับมาทบทวนการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะกระทบต่อตลาดหุ้นโลก เพราะต้นทุนการเงินจะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่พึ่งพาการกู้ยืม และมีสัดส่วนดอกเบี้ยลอยตัวสูง ขณะที่ผลตอบแทนหรือราคาขายปรับเพิ่มไม่ได้หรือได้น้อย เช่น บริษัทที่มี D/E สูงเกิน 1 เท่า และมีส่วนต่างของดอกเบี้ยสุทธิลอยตัวสูง (ดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) เช่น กลุ่ม leasing/Hi-perchase จึงได้รับผลกระทบมากสุด เรียงลำดับกระทบจากมากไปน้อยคือ IFS (ส่วนต่าง 96%), S11(77%), LIT (69%) ที่เหลือจะกระทบรองลงมาคือ ASK (35%), THANI(30%), SAWAD(28%), AEONTS (9%), TK(8%) ส่วน JMT เป็นผู้บริหารหนี้เสีย โดยไปรับซื้อหนี้รายย่อยจากสถาบันการเงินจึงน่าจะกระทบดอกเบี้ยขาขึ้นน้อย แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์นี้น่าจะหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มนี้ไปก่อน

โดยสรุปเชื่อว่าแม้เฟด จะนำร่องขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ดังกล่าวข้างต้น และอาจส่งผลให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกลับเป็นขาขึ้นหลังจากนี้ จึงกระทบต่อผู้ประกอบการบางรายที่พึ่งพาการกู้ยืม และมีต้นทุนการกู้ยืมมีสัดส่วนดอกเบี้ยลอยตัวสูง ขณะที่ผลตอบแทนหรือราคาขายปรับเพิ่มไม่ได้หรือได้น้อย ดังที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ อาทิ ธุรกิจการเงินรายย่อยในกลุ่ม leasing/hire perchase (ASK, THANI) ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง-เล็ก (BAY, TMB, KKP, TISCO) ผู้ประกอบการมือถือและโครงข่าย (DTAC, JAS) สายการบิน (THAI) รับเหมาก่อสร้าง (ITD)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงภาพรวม จะเห็นได้ว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของกลุ่ม Non-Bank ณ สิ้นงวด 2559 อยู่ที่เพียง 1.19 เท่า (อ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ) ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมาก จึงเชื่อว่าผลกระทบโดยรวมน่าจะจำกัด ในทางตรงข้าม ยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น คือ หุ้นที่มีภาระหนี้สินในระดับต่ำ มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวน้อย หรือเป็นบริษัทที่มีเงินสดสุทธิ (Net Cash) อาทิ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มประกัน โรงพยาบาลรับเหมาฯ หรือแม้แต่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ก็ยังมีหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น