'สมคิด' เดินหน้าผุด 'มหานครการบิน'

'สมคิด' เดินหน้าผุด 'มหานครการบิน'

"สมคิด" เดินหน้าดันแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ผุด "มหานครการบิน" ชงบอร์ดอีอีซีชุดใหญ่ บี้คมนาคมเปิดทีโออาร์รถไฟความเร็วสูง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ว่าที่ประชุมได้เร่งรัดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ โดยกำหนดให้มีการจัดทำเอกสารเสนอราคา (ทีโออาร์) แล้วเสร็จในช่วงกลางปี และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าลงทุนประมูลภายในปลายปีนี้ ซึ่ง กรศ.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม หารือกับกองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำรายละเอียดเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (คนพ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในวันที่ 5 เม.ย.นี้

ทั้งนี้ กรศ.มีแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพิ่มเติม 1 ทางวิ่ง เป็น 2 ทางวิ่ง จากปัจจุบันมี 1 ทางวิ่ง แผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและการค้า บนพื้นที่ 6,500 ไร่ เพื่อเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกที่สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีมากขึ้นในอนาคตจนเกินความจุของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ โดยตั้งเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน ภายใน 5 ปี รองรับ 10 ล้านคน ภายใน 10 ปี และรองรับ 15 ล้านคน ภายใน 15 ปี

นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้จัดทำรายละเอียดแผนพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานให้ลักษณะเขตการค้าเสรี เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อมโยงกับสนามบิน กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศทั้งลักษณะคาร์โก้ สินค้าทางไปรษณีย์ และคลังสินค้าเทคโนโลยีสูง กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบินเพิ่มเติมจากศูนย์ซ่อมของการบินไทยในปัจจุบัน และกลุ่มศูนย์ฝีกอบรมบุคคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบแผนพัฒนาเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะผลักดันให้เมืองการบินภาคตะวันออกกลายเป็น "มหานครการบิน" โดยเร็วที่สุด

ส่วนการติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เส้นทางดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ-สนามบินอู่ตะเภา ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาด้านเทคนิคเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างเต็มที่กลับมาเสนอ กรศ. ครั้งหน้าก่อนเสนอให้ คนพ. พิจารณา