ตลาดหุ้นไทย-มาเลย์ ร่วมมือปั้น 'สตาร์อัพ'

ตลาดหุ้นไทย-มาเลย์ ร่วมมือปั้น 'สตาร์อัพ'

"ตลาดหุ้นไทย-มาเลย์" ร่วมมือปั้นสตาร์อัพ

หากพูดถึงตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนที่มีคล้ายคลึงกับประเทศไทยมากที่สุด นักลงทุนมักจะได้ติดถึงตลาดหุ้นอย่าง เบอร์ซา (BURSA) ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ขนาดที่มีความใกล้เคียงกันเท่านั้น แต่แผนการพัฒนาตลาดทุนทั้ง 2 ประเทศยังมีความใกล้เคียงกัน อย่างน่าทึ่ง ซึ่งทั้ง 2 ตลาดต่างมีเป้าหมายในพัฒนาตลาดหุ้น โดยหันเข้าจับกลุ่มสตาร์ทอัพ

ในด้านประวัติของเบอร์ซานั้น เริ่มต้นก่อตั้งในปี 2532 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.7 ล้านริงกิต หรือใกล้เคียง 15 ล้านล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า จีดีพีปี 2559 ที่ 1.2 ล้านล้านริงกิต   โดยอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดนั้น คือ กลุ่มธนาคาร มีสัดส่วน 18 % ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด รองลงมาคือ กลุ่มอาหารที่สัดส่วน 11 % กลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ 11 % กลุ่มสื่อสาร 10 % 

โดยในจำนวนของบริษัทจดทะเบียนนั้นอยู่ใน ตลาดเบอร์ซ่า 791 บริษัท และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ACE จำนวน 113 บริษัท แบ่งเป็น 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มี 11 บริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนจากประเทศจีน เข้ามาทำการซื้อขายในประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งจุดเด่นของมาเลเซียคือการมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม สามารถเข้าลงทุนได้ถูกต้องตามหลักศาสนาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของการพัฒนาของตลาดหุ้นมาเลเซียนั้น คือการมุ่งเน้นไปดูแลการระดมทุนของกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยทางมาเลเซียคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้   ซึ่งผู้บริหารตลาดหุ้นมาเลเซียไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีกลุ่มอุตสาหกรรมใดเข้าระดมทุน แต่มองว่าจะเป็นการสร้างช่องทางให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ส่วนความร่วมมือกับประเทศไทยนั้น มองว่า การรวมกลุ่มกันของกลุ่มประเทศในอาเซียนจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดหุ้นภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ขนาดของตลาดมีความน่าสนใจลงทุน และมีสินค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้มาเลเซียมองถึงความเป็นไปได้ ที่จะนำหลักทรัพย์ของประเทศไทย 30 บริษัท และมาเลเซีย 30 บริษัท หารูปแบบนำมารวมกัน เพื่อสร้างความสนใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ 

ด้าน เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นมาเลเซียมีความร่วมมือกับอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาตลาดทุนร่วมกัน ซึ่งในด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่าง 2 ประเทศนั้น ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ ของมาเลเซียที่ทำธุรกิจในประเทศไทยประมาณ 4 บริษัท ได้ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ตลาดอยู่แล้ว

สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารตลาดหุ้นมาเลเซียที่จะนำหลักทรัพย์ทั้ง 2 ตลาด มารวมกันนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ มองว่ารูปแบบที่อาจจะสามารถทำได้คือการตั้งกองทุนรวม อีทีเอฟ ของทั้ง 2 ตลาดขึ้นมาเพื่อเสนอขายแลกเปลี่ยนกัน 2 ประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน 

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของตลาดหุ้นไทยกับมาเลเซียจะช่วยเพิ่มศักยภาพและบทบาทในตลาดหุ้นภูมิภาคอาเซียนให้แข็งแกร่งมากขึ้น