“ไจปูร์” เมื่อโลกสีชมพูมีอยู่จริง

“ไจปูร์” เมื่อโลกสีชมพูมีอยู่จริง

ถ้าความรักทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นสีชมพู “ไจปูร์” ก็คงจะเต็มไปด้วยเรื่องราวของความรักเช่นกัน

..............

ไม่ได้ตกหลุมรัก แต่บรรยากาศรอบๆ ตัวที่ฉันกำลังยืนอยู่นี้มีแต่สีชมพูจริงๆ

เหนือช่องหน้าต่างที่ฉลุช่องลมสีชมพูอมส้มนั้นคือยอดพระราชวังที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ “ราชปุต” รูปทรงดูแปลกตา ชดช้อยสวยงามราวว่าเป็นมงกุฎเทพที่อยู่ในตำนานของชาวฮินดูเลยทีเดียว

ว่ากันว่า นี่คือสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองหลวงในรัฐราชาสถาน(Rajasthan) ที่มีนามว่า ไจปูร์ (Jaipur)

เริ่มอยากรู้แล้วสิว่า ทำไมนคราแห่งนี้จึงมีแต่สีชมพูเต็มไปหมด

................

หากจะไปเยือนเมืองไจปูร์ก่อนหน้านี้อาจต้องบินไปลงที่นิวเดลีแล้วต่อรถอีกทีเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่ปัจจุบัน สายการบินไทยสมายล์ ให้บริการบินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองไจปูร์แล้ว เราจะพลาดโอกาสดีๆ แบบนี้ไปได้อย่างไร

แอร์บัส A320-200 พาเราร่อนลงที่สนามบินเมืองไจปูร์ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังหลับสนิท หลังออกจากสนามบินแล้วเราจึงรีบเดินทางไปยังโรงแรมเพื่อทำการเช็คอิน และทำเวลา “นอน” ให้เพียงพอต่อความต้องการทันที

ไจปูร์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ชัยปุระ” เป็นเมืองหลวงของรัฐราชาสถานที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งคำว่า ไจปูร์ หรือ ชัยปุระนั้น มีความหมายแบบตรงตัวว่า “เมืองแห่งชัยชนะ” เมืองนี้สร้างขึ้นราวปี ค.ศ.1727 ตรงกับมหาราชาสะหวายไจ ซิงห์ที่ 2 ที่สืบเชื้อสายมาจากราชปุต(นับถือฮินดู)ราชวงศ์ “กาญจวาหา” ซึ่งราชวงศ์นี้ถือเป็นราชวงศ์ของชาวฮินดูกลุ่มแรกๆ ที่ผูกมิตรสัมพันธ์กับโมกุล(นับถืออิสลาม)ของจักรพรรดิอักบาร์ ตั้งแต่สมัยมหาราชามัน ซิงห์ที่ 1

มหาราชาสะหวายไจ ซิงห์ที่ 2 เป็นผู้มองการณ์ไกล และมองว่าการรบไม่สำคัญเท่าการค้า เศรษฐกิจที่กำลังจะเติบโตนั้นสำคัญกว่า จึงมาตั้งเมืองใหม่ที่ไจปูร์ และให้สถาปนิกชาวเบงกอลเป็นผู้ออกแบบผังเมือง โดยผังเมืองนั้นถูกวางให้เป็นรูปตารางสี่เหลี่ยม 9 ช่องตัดกัน แต่ละช่องตารางห่างกัน 7 ช่วงตึก คั่นด้วยถนน ซึ่งผังรูปสี่เหลี่ยมแบบนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงทวีปทั้ง 9 ในจักรวาล ส่วนรอบนอกนั้นมีกำแพงสูงใหญ่ และก็มี “พระราชวังซิตี้พาเลซ” ตั้งเป็นหัวใจอยู่กลางเมือง

เพราะเป็นหัวใจสำคัญดังว่า เราจึงถือโอกาสเดินทางไปทำความรู้จักพระราชวังซิตี้พาเลซกันก่อน ซึ่งตลอดเส้นทางที่รถแล่นผ่านอาคารบ้านเรือนต่างๆ นั้น เราพบว่าแทบทุกหลังคาทาสีบ้านด้วยสีชมพูอมส้ม โดยไม่ปล่อยให้เรางง วินดี้ ไกด์สาวของเรา ก็เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า

ราวปี ค.ศ.1876 ในสมัยมหาราชาซาราม ซิงห์ ปกครองเมืองไจปูร์อยู่นั้น “เจ้าชายแห่งเวลส์” มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ (ต่อมาคือกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7) มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยือนเมืองไจปูร์เพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรี มหาราชาซาราม ซิงห์ จึงมีรับสั่งให้ประชาชนทาบ้านเรือนของตนด้วยสีชมพูเพื่อแสดงถึงไมตรีจิตที่ดีในการต้อนรับ ซึ่งก็เป็นภาพที่งดงาม ต่อมารัฐบาลอินเดียจึงมีกฎหมายควบคุมให้สิ่งก่อสร้างภายในกำแพงเมืองโบราณทาด้วยสีชมพูทั้งหมด จนภาพเมืองสีชมพูปรากฏอยู่ในความทรงจำของคนทั้งโลก และแน่นอนว่า ใครๆ ก็อยากมาเห็นด้วยตาตัวเอง

เรามาถึงพระราชวังซิตี้พาเลซในตอนสายๆ ผู้คนไม่มากมายเท่าไร แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องต่อแถวซื้อบัตรเพื่อเข้าชมพระราชวังกันยาวเหยียดอยู่ดี

พระราชวังซิตี้พาเลซ (City Palace) สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1797 โดยมหาราชาสะหวายไจ ซิงห์ที่ 2 ซึ่งตอนนั้นความสัมพันธ์ของราชปุตกับโมกุลถือว่าดีงาม สถาปัตยกรรมต่างๆ จึงมีผสมผสานกันระหว่างราชปุตกับโมกุล คนนอกแบบเรามองไม่ออกหรอกว่าอันไหนราชปุต อันไหนโมกุล รู้สึกแค่ว่ามันกลมกลืนและกลมกล่อมดีเท่านั้น

เดินเข้ามาตรงกลางพระราชวังก่อน ซึ่งบริเวณนี้เรียกว่า “ดิวันอิกัส” ( Diwan-i-khas ) เป็นศาลาว่าการหรือที่ทำงาน ลักษณะเป็นอาคารโปร่งๆ สีชมพูอยู่ตรงกลาง ที่มุมประตูด้านหนึ่งมีเหยือกเงินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 2 ใบ ซึ่งเหยือกนี้เคยใช้ใส่น้ำศักดิ์สิทธิ์มาจากแม่น้ำคงคามาแล้ว

ถ่ายรูปกันพอหอมปากหอมคอก็เดินทะลุ “ดูบาร์ฮอลล์” ( Durbar Hall ) ที่จัดแสดงภาพวาดมหาราชาแห่งไจปูร์เกือบทั้งราชวงศ์ไว้ไปจนถึง “ปิทัมนิวาสชอว์ก” ( Pitam Niwas Chawk ) หรือลานนกยูง ซึ่งสมัยก่อนนั้นมหาราชามักจะมาชมการแสดงของนางรำที่ลานแห่งนี้ โดยรอบๆ ลานจะมีประตูที่สวยงามอยู่ 4 บาน แต่ละบานมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด และเป็นสัญลักษณ์แทนฤดูกาลทั้ง 4 คือ ฤดูฝน(ประตูนกยูง), ฤดูร้อน (ประตูดอกบัว), ฤดูหนาว(ประตูลายดอกไม้) และฤดูใบไม้ผลิ(ประตูสีเขียว)

เดินออกจากดูบาร์ฮอลล์มาพบว่าด้านบนดิวันอิกัสมีประชาชนจำนวนมากพากันมาเล่นว่าว เราจึงเดินขึ้นไปดู ซึ่งช่วงต้นปีแบบนี้ลมพัดดี ชาวบ้านจะนิยมพากันมาเล่นว่าวบนดาดฟ้า ดูๆ ไปก็คล้ายๆ กับสนามหลวงบ้านเรา ผิดแค่เขาเล่นกันบนดาดฟ้าสูงๆ เท่านั้น

ก่อนออกจากพระราชวังเราแวะเข้าไปชมภายใน “พระตำหนักมูบารักมาฮาล” ( Mubarak Mahal ) กันก่อน พระตำหนักนี้สร้างขึ้นเพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง หลายคนจึงเรียกติดปากว่า Welcome Palace

ตัวอาคารดูโคโลเนียลนิดๆ เพราะมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษด้วย ด้านในคล้ายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่เก็บรวบรวมเอาเครื่องแต่งกายของมหาราชาและมหารานีแต่ละสมัยไว้ ชมได้แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป เราเอาแต่นึกเสียดายเพราะผ้าแพรทุกผืนในนั้นช่างสวยงามเกินบรรยายจริงๆ (เราชอบตึกนี้มาก)

ออกจากพระราชวังซิตี้พาเลซมาได้นิดเดียวก็ไปมุงดูเขาเป่าปี่เรียกงูแบบที่เคยเห็นในทีวี คราวนี้ได้เห็นของจริงถึงกับอเมซิ่ง งูมันโดนวางยาหรือเปล่านะ ดูสะลึมสะลือมาก แต่ไม่ทันเอ่ยปากถามใคร วินดี้ก็พาเราเดินข้ามถนนไปดูความมหัศจรรย์อีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ หอดูดาวจันทาร์ มันทาร์ ( Jantar Mantar ) ที่น่าทึ่งจนองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกเลยทีเดียว

จันทาร์ มันทาร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านดาราศาสตร์ที่สร้างขึ้นโดยมหาราชาสะหวายไจ ซิงห์ที่ 2 เมื่อตอนสร้างเมืองไจปูร์ เพราะพระองค์ทรงสนพระทัยและมีพระปรีชาในเรื่องดาราศาสตร์ จึงทรงรับสั่งให้สร้างหอดูดาวแห่งนี้ขึ้นพร้อมๆ กับการก่อสร้างพระราชวังซิตี้พาเลซ

ภายในจันทาร์ มันทาร์ มีหอนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ที่วัดเวลาได้ย่างแม่นยำ ในสมัยโบราณใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการคำนวณฤกษ์เวลาในการออกรบ ซึ่งนอกจากที่นี่แล้ว มหาราชาสะหวายไจ ซิงห์ที่ 2 ก็ยังทรงสร้างหอดูดาวลักษณะใกล้เคียงกันขึ้นมาอีก 4 แห่งในอินเดีย คือ Deli, Ujjain, Varanasi และ Matura แต่นาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมืองไจปูร์แห่งนี้ โดยมีความสูง 28 เมตร มีความเที่ยงตรง แต่ไม่ตรงกับเวลามาตรฐานของอินเดียเพราะเส้นศูนย์สูตรต่างกัน

นอกจากความมหัศจรรย์ที่ได้สัมผัสแล้ว เราพบว่าวิทยากรที่ให้ความรู้บริเวณนั้นก็มีความสามารถด้านดาราศาสตร์เอามากๆ คือสามารถทำนายทายทักชะตาของผู้คนได้โดยอาศัยเพียงดูฤกษ์วันเวลาในการเกิด ทักแม่นยำถึงขนาดที่เราอยากจะนั่งปูเสื่อดูดวงกันเป็นเรื่องเป็นราวตรงนั้นเลย(ฮา) 

มาถึงไจปูร์ถ้าไม่อยากเดินก็แนะนำให้ใช้บริการ “ริกชอว์” (Rickshaw) หรือสามล้อที่จะพาเราไปในสถานที่ที่เราปรารถนาได้ อย่างคราวนี้ขอนั่งไปชมความงดงามของพระราชวังที่ได้ชื่อว่า “สวยที่สุด” อีกแห่งหนึ่งในไจปูร์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก

แสงสีส้มยามเย็นส่องกระทบกับกระจกในช่องหน้าต่างส่งให้ ฮาวามาฮาล (Hawa Mahal) หรือ พระราชวังแห่งสายลม ที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเมืองไจปูร์นั้นดูงดงามและโรแมนติกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ว่ากันว่า พระราชวังแห่งนี้เคยมีสถานะเป็น “ฮาเร็ม” ของมหาราชา ลักษณะเป็นอาคารหินทรายสีชมพูขนาด 5 ชั้น มีหน้าต่างฉลุลายและติดกระจกสีมากมายนับร้อยช่อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้นางในวังได้มองกิจกรรมที่อยู่ภายนอกได้

เราไม่ได้เข้าไปชมพระราชวังสายลม แต่เลือกที่จะเดินข้ามฝั่งเพื่อขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าของอาคาร และนั่งชมพระราชวังแห่งนั้นอยู่ไกลๆ สายลมพัดผ่านมาเบาๆ ทำให้บรรยากาศยามเย็นที่อยู่รอบตัวเราดูอ่อนหวานและโรแมนติกมาก แบบนี้จะไม่หลงรักได้ยังไง

ไม่เพียงแค่พระราชวังสายลมเท่านั้นที่สวยงามแปลกตา พระราชวังสายน้ำ หรือ ไจมาฮาล(Jal Mahal) ที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบมาน ซาการ์(Man Sagar Lake) ก็สวยงามน่าประทับใจไม่แพ้กัน เพราะตัวอาคารก่อสร้างด้วยหินทรายสีเปลือกไข่ เดิมใช้เป็นที่พักระหว่างมหาราชาออกมาทำกิจกรรมล่าสัตว์ แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนให้เป็นร้านอาหารสุดหรูหรา นักท่องเที่ยวที่กระเป๋าไม่หนักพออย่างเราก็ทำได้เพียงแค่ยืนชื่นชมอยู่ไกลๆ

และก็มาถึงแลนด์มาร์คสำคัญอีกแห่งของไจปูร์ นั่นก็คือ ป้อมแอมเบอร์ (Amber Fort) ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ด้านล่างเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของราชวงศ์กาญจวาหาอยู่หลายร้อยปี

การเข้าชมป้อมเบอร์แห่งนี้ควรอย่างยิ่งที่จะนั่งช้างขึ้นไป เพราะถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของที่นี่ แต่ท่าทางการนั่งช้างจะค่อนข้างต่างจากบ้านเรา คือเขาจะให้นั่งด้านข้างเหมือนผู้หญิงนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์แบบพาดขาทั้งคู่มาด้านข้างนั่นแหละ เวลาช้างขยับตัวทีก็เกร็งตัวที กลัวจะไหลลื่นลงไป แต่เขาก็มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี ถ้าไม่เผอเรอเกินไปไม่ร่วงแน่ๆ

ช้างมาส่งเราด้านบนแล้วเราก็ลงเพื่อเดินเข้าไปชมสิ่งสวยงามภายใน แอมเบอร์ฟอร์มแห่งนี้มีโครงสร้างที่งดงามโดดเด่นไม่แพ้พระราชวังอื่นๆ ในไจปูร์ ลักษณะการก่อสร้างใช้รูปแบบของการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบราชปุตและโมกุล ดูอ่อนช้อยงดงาม

เมื่อเราเดินผ่านบันไดที่ไม่สูงมากนักขึ้นมาจะถือว่าเป็นเขตพระราชฐาน ซึ่งจะมีลานกว้างขนาดใหญ่ มีอาคารโล่งๆ ที่สร้างจากหินทรายสีชมพูเข้มอยู่ตรงกลาง ใกล้ๆ กันเป็นศาลาสีขาว ที่ใช้ในราชการ ซึ่งจุดเด่นของอาคารทั้งคู่นั้นคือความโค้งมนของเสา ประตู หน้าต่าง ที่สะท้อนวัฒนธรรมอันรุ่มรวยและความเจริญรุ่งเรืองของศิลปะเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา

ด้านในลึกเข้าไปเป็นเขตพระตำหนักที่มีความสวยงามล้ำค่า คือมีทั้งตำหนักที่ประตูทำด้วยงาช้าง และตำหนักส่วนพระองค์ของมหาราชาและมหารานีที่ตกแต่งอย่างดงามด้วยเศษกระจกและกระเบื้อง เมื่อยามจุดเทียนหรือมีแสงตะวันสีทองสาดส่องจึงดูระยิบระยับวับวาวสวยงาม

เราเดินขึ้นไปชมจุดสำคัญๆ ต่างๆ ก่อนจะกลับลงมาจากป้อมปราการด้วยรถจี๊ปที่มีให้บริการอยู่มากมาย แต่ไหนๆ ก็มาแล้ว วินดี้แถมป้อมปราการให้อีกแห่ง นั่นคือ ไจการ์ ฟอร์ด (Jaigarh Fort) ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล ตรงนี้ดูจะไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของนักท่องเที่ยวเท่าไร เราจึงเดินผ่านผู้คนไม่มากมายเท่าแอมเบอร์ฟอร์ด

...............

ตลอดเวลาที่เดินอยู่ในเมืองไจปูร์ สิ่งที่เราได้รับรู้มีมากกว่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันรุ่มรวยหรือความสวยงามของสถาปัตยกรรม แต่เราได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ยังงดงามและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและศรัทธาในความเป็นอินเดียของพวกเขาอย่างแท้จริง

แน่นอนว่า มันสะท้อนภาพประชากรชาวอินเดียทั้งประเทศได้ดีมากๆ ด้วย

ไม่มีแฟชั่นรันเวย์ไหนๆ จะมาดึง “ส่าหรี” ออกจากร่างกายของหญิงสาวชาวอินเดียได้ และไม่ว่าพิซซ่าจะอร่อยเพียงใด “จาปาตี”(แผ่นแป้งสาลี) ก็ยังเป็นที่หนึ่งในใจของพวกเขาเสมอ ที่สำคัญ ไม่มีกฏหมายใดที่จะมาบังคับหรือริดรอน “อิสรภาพ” ที่มีอยู่ในหัวใจของชาวอินเดียได้

และทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นอินเดียที่แท้จริง อินเดียในแบบที่ทุกคนเห็นแล้วต้องร้องว่า Incredible India!!!