งานร้อน 'สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนกลาง' กรณีสึกธัมมชโย?

งานร้อน 'สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนกลาง' กรณีสึกธัมมชโย?

ชำแหละประเด็นร้อน! หลุมพรางและเผือกร้อน..ในมือ "สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนกลาง" กรณีสึกธัมมชโย

ประเด็นที่ "พระพุทธะอิสระ" วิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊ค กรณีคำร้องขอของ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นั้น ขอให้ มหาเถรสมาคม (มส.) พิจารณาโทษต่อ พระธัมมชโย หรือพระไชยบูลย์ สุทธิผล ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 ที่ว่าด้วยการให้ภิกษุสละสมณเพศ โดยเสนอใช้ข้อ 3 ความว่า ในกรณีพระภิกษุรูปใด

(1) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเรื่องเดียวกัน หรือหลายเรื่องเป็นอาจิณ ให้เจ้าอาวาสวัด ซึ่งพระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือพํานักอาศัยมีอํานาจหน้าที่แนะนํา ชี้แจง ตักเตือน ให้พระภิกษุรูปนั้นประพฤติตามพระธรรมวินัยเป็นลายลักษณ์อักษร โดยกําหนดเวลาให้ปฏิบัติ หากพระภิกษุรูปนั้นไม่ปฏิบัติตาม คําแนะนํา ชี้แจง ตักเตือน ภายในเวลาที่กําหนด ให้เจ้าอาวาสซึ่งพระภิกษุรูปนั้น สังกัดหรือพํานักอาศัย รานงานโดยลําดับ จนถึงเจ้าคณะอําเภอเจ้าสังกัด เพื่อวินิจฉัยให้สละสมณเพศต่อไป

(2) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง หรือไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ให้พระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองวัดหรือพระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองคณะสงฆ์ ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้น มีอํานาจหน้าที่วินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

ทั้งนี้ "มหาเถรสมาคม" กลับโยนลูกไปให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง นั่นคือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) หรือสมเด็จสมศักดิ์ แห่งวัดพิชยญาติ ไปดำเนินการความผิดทางพระธรรมวินัย

เท่ากับว่า "มหาเถร" ปฏิเสธที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วยหรือไม่ ปล่อยให้เจ้าคณะปกครองไปดำเนินการกันเอง ฉะนั้นใครที่คิดว่ามหาเถรสั่งให้เจ้าคณะปกครองจับสึกในเร็ววันนั้น คงจะเร็วเกินไป

งานร้อน \'สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนกลาง\' กรณีสึกธัมมชโย?

เนื่องจาก กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ยังมี ข้อ 4 ในกรณีที่มีการฟ้องร้องว่าพระภิกษุรูปใดกระทําความผิดอันเป็น "ครุกาบัติ" เมื่อคณะผู้พิจารณาชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ( พ.ศ. 2521 ) ว่าด้วยการลงนิคหกรรมแล้ว มีคําสั่งประทับฟ้องเพื่อดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยต่อไปก็ดี คณะผู้พิจารณาชั้นต้นวินิจฉัยแล้วไม่ว่าจะลงนิคหกรรม หรือไม่ก็ตาม และเรื่องยังอยู่ภายในกําหนดเวลาอุทธรณ์ก็ดี หรือมีการอุทธรณ์ ภายในกําหนดเวลาแล้วไม่ว่า คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์แล้วแต่กรณี รายงาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพระธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องต่อมหาเถรสมาคม

ในกรณีที่การพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมอยู่ในชั้นฎีกา กรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดรูปหนึ่ง อาจรายงานต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ดําเนินการตามข้อนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมก็ได้

ในกรณีที่มหาเถรสมาคม พิจารณาจากรายงานดังกล่าวและพยานหลักฐานอื่นประกอบกันแล้ว เห็นว่าพระภิกษุผู้เป็นจําเลยประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัย เรื่องเดียวกัน หรือหลายเรื่องอันเป็นโลกวัชชะเป็นอาจิณ ทั้งความประพฤตินั้นเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ที่ล่วงมาแล้ว หากให้ดํารงเพศบรรพชิตต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนา และการปกครองคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมมีอํานาจวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ ทั้งนี้ไม่กระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัย การลงนิคหกรรมที่กําลังดําเนินการอยู่ไม่ว่าในชั้นใดๆ
ข้อ 5 คําวินิจฉัยให้พระภิกษุสละสมณเพศตามข้อ 3 หรือข้อ 4 ให้เป็น อันถึงที่สุด
ข้อ 6 เมื่อคําวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปใดสละสมณเพศตามข้อ 3 หรือ 4 แล้ว ให้เจ้าอาวาสซึ่งพระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือพํานักอาศัย หรือพระภิกษุผู้ดํารง ตําแหน่งปกครองวัด หรือพระภิกษุผู้ดํารงตําแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในเขตท้องที่ที่พบพระภิกษุรูปนั้นแล้วแต่กรณี แจ้งผลคําวินิจฉัยให้พระภิกษุรูปนั้นทราบ และ จัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ ในกรณีที่ไม่อาจพบพระภิกษุรูปนั้น หรือพระภิกษุรูปนั:นไม่ยอมรับทราบคําวินิจฉัยเมื่อปิดประกาศคําวินิจฉัยไว้ ณ ที่พํานักอาศัยของพระภิกษุรูปนั้น ถือว่า พระภิกษุรูปนั:นทราบคําวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว
ข้อ 7 พระภิกษุผู้ต้องคําวินิจฉัยให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคําวินิจฉัยนั้น ในกรณีที่พระภิกษุรูปนั้นไม่สึกภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้พระภิกษุผู้มีหน้าที่จัดการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณะเพศอารักขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามคําวินิจฉัย
ข้อ 8 ให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์แล้วแต่กรณี ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา วินิจฉัยการลงนิคหกรรมตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรมและการพิจารณานั้นยังไม่ถึงที่สุด ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2521) ต่อไป

"หากเจ้าคณะใหญ่หนกลางคิดจะช่วยเหลือหรือไม่ ประวิงเวลาให้ทอดยาวออกไป เจ้าคณะใหญ่หนกลางอาจจะใช้กฎข้อ 4 ตั้งองค์คณะพิจารณาคดีชั้นต้นขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งก็จักเข้าสู่กระบวนการนิคหกรรมทันที" พระพุทธะอิสระ ระบุ

พระพุทธะอิสระ อธิบายว่า ตามหลักกฎนิคหกรรม คณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็คือ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสเจ้าสังกัด..งานนี้ไม่รู้ว่า 3 ปี จะจบหรือเปล่า เคยบอกแล้วว่า ระวังจะไปตกหลุมพรางของพวกเขา สุดท้ายก็ตกหลุมจนได้ สุดท้ายชาวพุทธอย่างพวกเราคงได้แต่หวังว่าท่านเจ้าคณะหนกลาง ใช้อำนาจทางการปกครองสั่งการให้เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด อำเภอ ตำบล ใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ข้อที่ 3 ดำเนินการ

"พวกเราหวังว่าเจ้าคณะหนกลางจะไม่ไปใช้ ข้อ 4 และข้อ 8 มาดำเนินการจัดการ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ต้องทวงถามความรับผิดชอบจากท่านกันอีกซักครั้ง..ขอตั้งข้อสังเกตว่า หากเจ้าคณะหนกลางคิดจะใช้กฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๑ จริงๆ คงจัดการไปนานแล้ว ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่มายืนตากแดดหัวแดงเป็นพันๆ คนเช่นนี้ดอก" พระพุทธะอิสระ ระบุ

งานร้อน \'สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนกลาง\' กรณีสึกธัมมชโย?

อย่างไรก็ตาม เจ้าประคุณสมเด็จฯ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งเป็นผู้ปกครองสงฆ์โดยตรง แต่ในทางปฏิบัติกลับเงียบหายเข้าฌานไปในกลีบเมฆ เพราะไม่ว่าจะต่อสายไปที่วัดพิชยญาติการามทุกทาง ลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาสต่างส่งเสียงกลับมาอย่างเดียวกันว่า เจ้าประคุณไม่สะดวกคุยในเรื่องนี้

เมื่อเอ่ยถึง วัดพิชยญาติการาม ก็คงคุ้นชื่อกับแม่ชีทศพร ชัยประคอง โด่งดังมากเมื่อราวปี 2547-2548 ในช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสและดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโมลี ครั้งนั้นท่านเคยยกธรรมาสน์ให้แม่ชีทศพร ชัยประคอง ขึ้นเทศน์ แก้กรรม ให้กับผู้คนที่ศรัทธาคราวหนึ่งหลายร้อยคนจนถึงหลักพันในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก่อนที่คลิปแก้กรรมหนึ่งที่หลุดออกมาจากวัดแล้วแชร์สนั่น จนทำให้หัวใจผู้ชมจะวาย หลังจากนั้น แม่ชีก็ย้ายสำนักไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วไม่หวนกลับมากรุงเทพอีกเลย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย นามเดิม สมศักดิ์ ชูมาลัยวงศ์ ฉายา อุปสโม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2504 ณ พัทธสีมาวัดละมุด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูนครวิหารคุณ (ฟัก) วัดบันได เป็นพระอุปัชฌาย์ ,พระอธิการเมี้ยน วัดละมุด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า อุปสโม มีความหมายว่า ผู้มีจิตใจสงบในธรรมอันลึกซึ้ง ในปี 2515 ท่านสอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค หลังจากนั้น ท่านเติบโตทางสายงานบริหารมาโดยตลอด อดีตหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 1 อดีต คณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) , กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์, อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, อดีตคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ปัจจุบัน เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬศึกษาพุทธโฆส นครปฐม และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ผู้ปกครองสายตรง พระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย (ภาพจาก - เฟซบุ๊ค วัดพิชยญาติการามวรวิหาร)

งานนี้..จึงต้องจับตาว่า สมเด็จฯเจ้าคณะใหญ่หนกลาง จะดำเดินการอย่างไรกรณีสึกพระธัมมชโย!?