ปั้น SCN สู่เวทีโลก ภารกิจ 'ฤทธี กิจพิพิธ'

ปั้น SCN สู่เวทีโลก ภารกิจ 'ฤทธี กิจพิพิธ'

เมื่อ 'สแกน อินเตอร์' ได้เวลาผลัดใบ ผู้เป็นพ่อไม่รีรอส่งไม้ต่อให้ทายาทคนโต 'ดร.ฤทธี กิจพิพิธ' เดินหน้าทำตามฝัน

ปิดดีลปี 2559 ด้วยการสร้างกำไรสุทธิ 307.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 225.39 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและบริการ 2,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 413.56 ล้านบาท หรือ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและบริการ 2,095 ล้านบาท
แต่เหตุใดเหล่านักลงทุนรายใหญ่ และกองทุนในประเทศจึงพร้อมใจกันปล่อยหุ้น?

สะท้อนผ่านรายชื่อผู้ถือหุ้น (วันปิดสมุดทะเบียน 10 พ.ค.2559) ที่ไม่หลงเหลือรายชื่อขาใหญ่อย่าง 'วราณี เสรีวิวัฒนา' ภรรยา 'อาจารย์ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา' นักลงทุนวีไอ ขณะเดียวกันกองทุนในประเทศก็ขายหุ้นทิ้งหมดเกลี้ยง เหลือเพียงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ ที่ถือหุ้น 0.71%

หากย้อนดูความสวยของหุ้น SCN จะพบว่า การเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายเดียวในประเทศไทย ทำให้เหล่าขาใหญ่พากันหาจังหวะจับจองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' เจ้าของห้องวีไอพี ประจำ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
ไม่เว้นแม้กระทั่ง 'สมยศ อนันตประยูร' ประธานกรรมการ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA ส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 พันกว่าล้านบาท จาก 8,580 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 10,800 ล้านบาท ในปี 2559 (SCN เข้าตลาดหุ้นวันที่ 23 ก.พ.2558)

ทว่าวันนี้องค์กรแห่งนี้กำลังถูกผลัดใบ จากมือพ่อสู่รุ่นลูกชายคนโต 'ดร.ฤทธี กิจพิพิธ' หลังเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2559 'ธัญชาติ กิจพิพิธ' ในฐานะผู้ก่อตั้ง และหุ้นใหญ่สัดส่วน 70.56% ยกตำแหน่ง 'กรรมการผู้จัดการใหญ่' ให้ช่วยดูแล

ก่อน 'ดอกเตอร์แชมป์' ดีกรีปริญญาเอก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะถ่ายทอดวิสัยทัศน์เรียกคะแนนเสียง เขายอมรับผ่าน 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ในอดีตไม่ค่อยชื่นชอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นกิจการตั้งต้นของผู้เป็นพ่อเท่าไหร่นัก เพราะคู่แข่งเยอะกำไรน้อยมาก ประมูลงาน 10 ล้านบาท แต่ได้กำไรแค่หลักแสน

แต่เมื่อผู้ให้กำเนิดหันมาทำธุรกิจพลังงานเมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยการสร้างสถานีเติม NGV เป็นครั้งแรก หลังก๊าซธรรมชาติ (NGV) เข้ามามีบทบาทในเมืองไทยมากขึ้น กระบวนการความคิดก็เดินทางถึงจุดเปลี่ยน เพราะธุรกิจ NGV มีสัญญาณการเติบโตที่ดี ยิ่ง SCN เป็นพันธมิตรหลักของเครือปตท.โอกาสประสบความสำเร็จยิ่งมีมาก

ผู้บริหารวัย 33 ปี เล่าว่า แม้จะรับตำแหน่งเอ็มดีได้เพียง 5 เดือน แต่ในความเป็นจริงเข้ามานั่งทำงานตั้งแต่ 5 ปีก่อน ในตำแหน่งกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการสายงานบริหารและการตลาด ที่ผ่านมาพ่อไม่เคยให้โจทย์การทำงาน เพราะวิธีคิดของพ่อและลูกมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้เป็นพ่อมักคิดว่า ต้องได้งานจำนวนมาก กำไรไม่มากไม่เป็นไร แต่เมื่อองค์กรเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกตลาดหุ้นแล้วจะมีความคิดเช่นนั้นคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะสิ่งที่ผู้ถือหุ้นต้องการเห็นมากที่สุด คือ ธุรกิจเติบโตมีกำไรดี ไม่จำเป็นต้องมีวอลุ่มหนาก็ได้

ฉะนั้นการทำงานในยุค 'เจนเนอเรชั่นสอง' เป้าหมายหลัก คือ ผลักดันบริษัทขึ้นสู่ระดับโลก นำทีมโดยธุรกิจเกี่ยวข้องกับ NGV แต่ก่อนไปสู่สเต็ปสูงสุด ภายใน 3 ปีข้างหน้า (2560-2562) ต้องก้าวสู่ “ตลาดอาเซียน” ให้ได้ก่อน (บรูไน,กัมพูชา,อินโดนีเซีย,ลาว,มาเลเซีย,เมียนมาร์,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์,เวียดนาม และไทย)

หลังในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พยายามสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และมียนมาร์

บริษัทเริ่มทำตลาดในเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 2558 ด้วยเข้าไปขายอุปกรณ์ติดตั้ง NGV ถือว่ามียอดขายใช้ได้เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาท หลังผู้ประกอบการหลายรายชื่นชอบในอุปกรณ์ของบริษัท ส่วนประเทศเมียนมาร์จะเป็นตลาดต่อไปที่จะเข้าไปดำเนินการขายอุปกรณ์ ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ

'กลุ่มประเทศใดมีก๊าซธรรมชาติเราจะเข้าไปขายของ แต่ตอนนี้คงต้องรอดูนโยบายของแต่ละประเทศก่อนว่าจะสนับสนุนเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด'

เมื่อถามถึงแผนบุกตลาดอาเซียน นักบริหารหนุ่ม อธิบายว่า คงจะเริ่มจากการขายอุปกรณ์ติดตั้ง NGV ในประเทศอินโดนีเซียก่อน หากไม่มีอะไรผิดพลาดภายในปี 2560 คงได้เห็นความคืบหน้า วิธีการจำหน่ายจะไม่ทำเอง แต่จะทำผ่านตัวแทนจำหน่าย

ในอดีตเคยเข้าไปบุกตลาดอินโดนีเซียแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยุคนั้นอินโดนีเซียยังไม่นิยมใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนโยบายของภาครัฐหันมาสนับสนุนการใช้ NGV มากขึ้น ฉะนั้นคงอาศัยจังหวะนี้เข้าไปทำการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนแผนตะลุยเวียดนาม อยากนำธุรกิจขนส่งก๊าซ NGV เข้าไปทำตลาด วิธีการ คือ เข้าไปเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ NGV และขายให้กับลูกค้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษายังไม่สามารถตอบได้ว่า แผนงานนี้จะได้เห็นช่วงไหน รู้เพียงว่า หากจะดำเนินการต้องได้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ต่ำกว่า 20%

'การก้าวสู่ระดับโลกคงต้องใช้ธุรกิจขายอุปกรณ์ติดตั้ง NGV เป็นตัวนำทาง ผมคงเดินเหมือนที่พ่อเคยทำเมื่อสิบกว่าปีก่อน' 

'กรรมการผู้จัดการใหญ่' ตอกย้ำว่า แม้จะมีความพยายามขยายการลงทุนออกไปนอกบ้านมากขึ้น แต่ปีนี้สัดส่วนรายได้ยังคงอยู่ในประเทศเป็นหลัก หลังวางแผนจะขยายธุรกิจภายในประเทศต่อเนื่อง ด้วยการเปิดสถานีบริการ NGV

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ปลายปีนี้จะมีสถานบริการทั้งหมด 16 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 7 สถานี ตามแผนจะเทกโอเวอร์สถานีบริการ NGV สำหรับยานยนต์ 3 สถานี และจะดำเนินการก่อสร้างเองอีก 6 สถานี ล่าสุดได้ขอสัญญาซื้อขาย NGV กับทางปตท.แล้ว งบลงทุนเฉลี่ย 1.35 พันล้านบาท

'ตั้งใจว่าสิ้นปีนี้ต้องการมีทั้งหมด 19 สถานี นั่นหมายความว่า ต้องเทคโอเวอร์สถานีให้ได้มากกว่า 3 แห่ง' 

'40 เปอร์เซ็นต์' สตอรีปีนี้

'นักธุรกิจรุ่นใหม่' แจกแจงเป้าหมายปี 2560 ว่า ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ที่ระดับ 40% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีรายได้ 2,507.68 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 307.96 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรมยังคงจะเป็นตัวสร้างรายได้หลักของบริษัท

หลังความต้องการใช้ NGV ในภาคธุรกิจขนส่งและโรงงานยังคงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เบื้องต้นคาดว่า ปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะยืนระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรล หลังกลุ่มโอเปกปรับลดการผลิตน้ำมันลง 210,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันในประเทศสูงขึ้น

'น้ำมันดิบปรับตัวขึ้นส่งผลดีต่อบริษัท เพราะภาคขนส่งจะหันมาใช้เชื้อเพลิงที่ มีความคุ้มค่ามากที่สุด ยิ่ง NGV ลอยตัว ยิ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ทำให้หลายรายหันมาใช้ NGV แทนน้ำมันเบนซินมากขึ้น' 

เมื่อถามถึงแผนงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม (iCNG) บริษัทตั้งเป้ารายได้ส่วนนี้ระดับ 500 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 200 ล้านบาท โดยอาจมีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบีทียูต่อวัน ขณะเดียวกันยังได้รับผลดีจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน

'ในปี 2561 อาจมีส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จาก 3% เป็น 4.3% หลังมีปริมาณการขาย NGV ระดับ 300-400 ตันต่อวัน จากปัจจุบันที่มีปริมาณการขายเฉลี่ย 200 ตันต่อวัน'

ส่วนธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) แม้ปัจจุบันจะมีงานในมือ 200 ล้านบาท แต่บริษัทยังคงเดินหน้าประมูลงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะเข้าร่วมประมูลงานมูลค่าเฉลี่ย 500 ล้านบาทต่อปี

สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 16 ไร่ จังหวัดนครปฐม ที่ผ่านมาดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว (COD) โดยจะรับรู้รายได้เฉลี่ย 60 ล้านบาทต่อปี

นายน้อยทิ้งท้ายว่า องค์กรแห่งนี้ยังมีเรื่องเซอร์ไพรส์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้รายได้เฉลี่ยปีละ 110 ล้านบาท จากโปรเจคก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการขุดเจาะน้ำมัน (Associated Gas) จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือการนำบริษัทยย่อย 'สยามวาสโก' ผู้ประกอบกิจการประเภทการขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม เข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มอีไอ (mai) ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า