หวั่น'รัฐบาล คสช.'หลงกลตั้งศาลสงฆ์ เข้าทาง'ธัมมชโย-ธรรมกาย'

หวั่น'รัฐบาล คสช.'หลงกลตั้งศาลสงฆ์ เข้าทาง'ธัมมชโย-ธรรมกาย'

ยื้อเพื่อไม่ให้จบ! หวั่น "รัฐบาล คสช." หลงกลตั้งศาลสงฆ์ เข้าทาง "ธัมมชโย-ธรรมกาย" พร้อมเผย2แผนเชือดให้จบ

พระพุทธะอิสระ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค แสดงความเห็นโดยสรุป ระบุว่า การออกมาเรียกร้องให้ตั้งศาลสงฆ์มาพิจารณาคดีวัดฉาว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต่างพากันแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าศาลสงฆ์ก็ไม่เอา ศาลโลกก็ไม่รับ แต่พอเห็นว่าจะไปไม่รอด จึงออกมาเรียกร้องให้ตั้งศาลสงฆ์มาพิจารณาคดี

คนไม่รู้ข้อเท็จจริง ก็คงจะนึกว่า น่าจะดีนะตุลาการฝ่ายสงฆ์จะได้ทำหน้าที่ชำระอธิกรณ์เสียทีขอบอกว่า อย่าไปหลงกลพวกเขา เพราะถ้านำคดีเขาสู่กระบวนการศาลสงฆ์ ก็จะต้องเข้าสู่กฎนิคหกรรม จึงจะต้องมีการตั้งองค์คณะขึ้นมาพิจารณาคดีอย่างน้อย ๓ ศาล
คือ ศาลชั้นต้น ได้แก่ เจ้าคณะตำบลคลองหลวง และเจ้าคณะอำเภอ
ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง กับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี
ศาลฏีกา ได้แก่ เจ้าคณะภาค ๑ และเจ้าคณะหนกลาง
การพิจารณาคดีทั้ง ๓ ศาล อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี
ดูตัวอย่าง เช่น ไปยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์ว่าต้องอาบัติปาราชิก ๒ สิกขาบท ตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ถึงวันนี้ ล่วงเลยเวลามาปีกว่าแล้ว ยังไม่มีการพิจารณามูลฟ้องเลย ทั้งที่เอกสารการฟ้องก็มีแค่ ๗ ฉบับเท่านั้น

คนคิดมุขนี้ขึ้นมาเล่นก็เพียงเพื่อประวิงเวลาให้ทอดยาวออกไป จนกว่ารัฐบาล คสช. จะพ้นจากอำนาจ แค่นี้พวกมันก็ร้องตะโกนออกมาดัง ๆ ได้แล้วว่า กูรอดแล้ว ด้วยเหตุผลเหล่านี้แหละที่พุทธะอิสระจำเป็นต้องเตือนกันดัง ๆ ว่ารัฐบาล และสำนักพุทธฯ อย่าเดินไปตกหลุมพราง หากจะถามว่า ถ้าไม่นำเข้าสู่กระบวนการศาลสงฆ์โดยใช้กฎนิคหกรรมแล้วยังมีกระบวนการที่จะฝ่าทางตันครั้งนี้ได้

พุทธะอิสระก็ต้องตอบว่า ไม่เห็นมีอะไรจะตันเลย เรื่องไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร ก็แค่
ใช้พระอำนาจที่มีอยู่ในองค์สมเด็จพระสังฆราช ดังปรากฏในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๖๐ หมวด ๑ ว่าด้วยเรื่องสมเด็จพระสังฆราช มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดํารงตําแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม เมื่อพระบัญชา สมเด็จพระสังฆราชถือเป็นกฎหมาย ตามมาตรา ๘

ท่าน ผอ.สำนักพุทธคนใหม่ก็แค่นำคดีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน นำขึ้นกราบทูลให้ทรงมีพระวินิจฉัยบัญชาการด้วยลายลักษณ์อักษรสั่งการให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางควบคุมดำเนินการจับถอดจีวร ในความผิดฐานต้องอาบัติปาราชิก เท่านี้ก็จบ

หรือจะให้ยุ่งยากขึ้นอีกนิด ก็ใช้ พรบ.คณะสงฆ์ฉบับเดียวกันนี้ มาตรา ๑๕ จัตวา ความว่า เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกําหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครองสําหรับ พระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้ พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ

วิธีปฏิบัติ ท่าน ผอ. สำนักพุทธฯในฐานะเลขามหาเถรสมาคมจะต้องรวบรวมคดีความต่าง ๆ ทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักรที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีกรณีถูกถอดยศ นำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถร เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณา กำหนดบทลงโทษอันสมควรแก่โทษานุโทษ โดยมิต้องเข้าสู่กระบวนการนิคหกรรมใด ๆ เลย
เพราะมหาเถรฯ ซึ่งมีองค์พระสังฆราชทรงเป็นประธานในที่ประชุม ก็มีหน้าที่ระงับปัญหาหรืออธิกรณ์ตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งอยู่แล้ว เท่านี้ก็จบ ไม่ต้องคิดมาก ไม่สลับซับซ้อน