บอร์ดปปช.ตั้ง 9 กรรมการไต่สวนสินบนโรลส์รอยซ์

บอร์ดปปช.ตั้ง 9 กรรมการไต่สวนสินบนโรลส์รอยซ์

บอร์ดปปช.ตั้ง 9 กรรมการพร้อมดึงผู้แทนอัยการสูงสุด-ตำรวจ-ปปง.ร่วมองค์คณะ ไต่สวนสินบนโรลส์รอยซ์ ช่วงปี2547-2548 รวม 26 คน

หลังจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตขั้นร้ายแรงแห่งอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยอมความของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ของประเทศอังกฤษในคดีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนในไทย เริ่มขึ้นในช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534 - 30 มิ.ย. 2535 ช่วงที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2535 - 31 มี.ค. 2540 และช่วงที่ 3 เกิดขึ้นระหว่าง วันที่ 1 เม.ย. 2547 - 28 ก.พ. 2548 เกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อเครื่องยนต์เทรนต์ 800 หรือที-800 ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)นั้น

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.วานนี้ (9 มี.ค.) ถึงความคืบหน้าการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ ของการบินไทย ว่าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งกับเครื่องบิน และการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องแอร์บัสA340-500/600 จำนวน 6 ลำ เพิ่มเติม รวม 7 เครื่องจากบริษัทโรลส์รอยซ์ ในช่วงปี2547-2548

โดยพบผู้เกี่ยวข้องรวม 26 คน ประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี2547-2548 รวม 15 คน และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย 9 คน

ทั้งนี้ จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า มีการจัดซื้อเครื่องยนต์ใน 3 ระยะ ระหว่างปี 2534-2548 โดยระยะที่ 3 คือ ปี 2547-2548 มีการดำเนินการเสนอราคาส่อเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือบริษัทโรลส์รอยซ์ ให้ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์ให้กับบริษัทการบินไทย ได้มอบให้คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวน โดยมีนางสุภา ปิยะจิตติ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

พร้อมทั้งแต่งตั้งที่ปรึกษาองค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมด้วย

ระบุพฤติกรรมจัดซื้อจัดจ้างมิชอบ

นายสรรเสริญ กล่าวว่าจากการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 กลุ่ม มีพฤติการณ์ในการจัดการ จัดซื้อ จัดหา เครื่องบินและเครื่องยนต์ โดยมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยมิชอบ และได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้บริษัทโรลส์รอยซ์ได้ทำสัญญากับบริษัทการบินไทย จึงถือว่า เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างในระยะที่ 1 ช่วงปี 2534-2535 และระยะที่ 2 ช่วงปี 2538-2539 นั้น ยังไม่มีรายละเอียดเพียงพอว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนบ้าง จึงให้แสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป เช่นเดียวกับกรณีการจัดซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรมพลังงานให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และมีมติให้แยกข้อกล่าวหาในส่วนของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สผ. ออกเป็นเรื่องกล่าวหาใหม่ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวมรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับการจ่ายสินบนนั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า รู้ตัวคนกลางในการดำเนินการประสานงานเรื่องนี้แล้วว่า เป็นคนของบริษัทเอกชน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับข้อมูลจากป.ป.ช.อังกฤษ ยังอยู่ระหว่างการประสานงาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากป.ป.ช.อังกฤษ ไม่ส่งข้อมูลเรื่องของการจ่ายสินบนมาให้ จะทำให้การตรวจสอบเรื่องสินบนลำบากมากขึ้นหรือไม่ นายสรรเสริญ ยอมรับว่าคงจะยากขึ้น แต่ถ้าโชคดีไปตรวจพบเส้นทางการเงินในการจ่ายสินบนพอดีก็จะตามจับคนรับสินบนได้

โฉมหน้าบอร์ดบินไทยปี47-48

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการการบินไทยช่วงปี 2547-2548 มี 15คน ประกอบด้วย นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการ นายศรีสุข จันทรางศุ รองประธานกรรมการ เสียชีวิตแล้ว นายสมใจนึก เองตระกูล รองประธานกรรมการ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รองประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วย นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายถิรชัย วุฒิธรรม นายธัชชัย สุมิตร นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล นายโอฬาร ไชยประวัติ นายกนก อภิรดี นายวิโรจน์ นวลแข นายชาติศิริ โสภณพณิช

ส่วนคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย 9 คน ประกอบด้วย นายกอบชัย ศรีวิลาศ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายสนับสนุนวิสาหกิจ นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ นายกวีพันธ์ เรืองผกา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ร.ท.วีรชัย ศรีภา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ นท.ศุภชัย ลิมปิสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายช่าง ร.ท.ชินวุฒิ นเรศเสนีย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายรักษามาตรฐานและบริหารทั่วไป นายชาญชัย สิงห์โตโรจน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และนายแสงเงิน พรไพบูลย์สถิต ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวางแผน เป็นเลขานุการ

“ทนง”ระบุพร้อมให้ความร่วมมือปปช.

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ป.ป.ช. จะไต่สวนกรณีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้การบินไทยซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER พร้อมเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งเครื่องบินระหว่างปี 2547-2548 ซึ่งมีตนนั่งเป็นประธานบอร์ดการบินไทยขณะนั้นว่า เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการ ซึ่งตนเองคงไม่สามารถพูดอะไรได้ แต่ก็พร้อมให้ความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว มาถึงวันนี้ ตนเองก็คงไม่สามารถพูดอะไรได้ และจำเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้แล้ว

“อาคม”ชี้หน้าที่ปปช.สอบอดีตรมต.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ายังไม่ทราบกรณีที่ป.ป.ช.มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีโรลส์รอยซ์ ติดสินบนการซื้อเครื่องยนต์ การบินไทย โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้บริหารการบินไทยรวม 26 คนกรณีนี้เป็นเรื่องที่ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบและสามารถดำเนินการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวนได้อยู่แล้ว

ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็ได้เร่งรัดให้การบินไทย ส่งรายงานผลการสอบสวนภายในมาให้โดยเร็ว เนื่องจากเกินกรอบระยะเวลา 30 วัน ที่กำหนดไว้และ ป.ป.ช.ได้จัดตั้งองค์คณะไต่สวนแล้ว ซึ่งข้อมูลใดๆ ที่การบินไทยรายงานไปทาง ป.ป.ช. ก็ต้องส่งมาให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ เพื่อให้กระทรวงคมนาคมตอบคำถามสังคมได้ว่ากำลังดำเนินการอะไรอยู่

เปิดกระโปรงรถเบนซ์รับ400ล้าน

“กรุงเทพธุรกิจ”ได้สอบถามไปยังนายหน้าจัดหาเครื่องยนต์ที-800 จากโรลส์รอยซ์ สำหรับสัญญาที่3.เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2547 - 28 ก.พ. 2548 โดยระบุว่าสัญญารอบนี้เป็นผู้ชายมีตำแหน่งหน้าที่สูงมีส่วนในการจัดการ เสนอขอรับสินบนแลกกับการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์โดยมีการเจรจาตกลงรับสินบนในการจัดหาเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ไปร่วม 400 ล้านบาท ผู้รับสินบนรายนี้ ได้เสนอขอให้นายหน้านำเงินไปจ่ายให้ที่ใต้อาคารของกระทรวงแถวๆถนนราชดำเนิน มีการเจรจาตกลงให้นำเงินสดจำนวน 400 ล้านบาทไปใส่ในกระโปรงเป็นรถเบนซ์ขนาดใหญ่ ผู้รับเงินอ้างว่าต้องนำเงินส่วนนี้ไปให้ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง