'ฟู้ดอินโนโพลิส' บ่มเพาะความแปลกใหม่ให้อาหารที่คุ้นเคย

'ฟู้ดอินโนโพลิส' บ่มเพาะความแปลกใหม่ให้อาหารที่คุ้นเคย

“นำเชา” ตั้งเป้าผลิตเบบี้แครกเกอร์สูตรโภชนาการสูงและไม่ติดคอเด็ก ส่วน “เคซีจี” แสวงหางานวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างความแตกต่างกับผลิตภัณฑ์ในตลาด

สองอุตสาหกรรมอาหารข้ามชาติในไทยนำร่องเข้าร่วมโครงการฟู้ดอินโนโพลิส “นำเชา” ตั้งเป้าผลิตเบบี้แครกเกอร์สูตรโภชนาการสูงและไม่ติดคอเด็ก ส่วน “เคซีจี” แสวงหางานวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างความแตกต่างกับผลิตภัณฑ์ในตลาด

โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารหรือฟู้ดอินโนโพลิส เป็นหนึ่งในซูเปอร์คลัสเตอร์ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใช้งบลงทุนระยะแรกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และจัดเตรียมพื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ล้อมรอบด้วยหน่วยวิจัยและมหาวิทยาลัยพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนภาคเอกชนพัฒนานวัตกรรมอาหารในรูปแบบต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งเป้า 5 ปีแรกของโครงการ หรือปี 2564 สร้างเครือข่ายวิจัยในบริษัทอาหารชั้นนำไม่น้อยกว่า 100 ราย


บริษัท นำเชา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวอบกรอบขึ้นรูปแบรนด์ชินมัย ซึ่งแต่ละปีบริษัทใช้วัตถุดิบข้าวหลายหมื่นตันในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไป 70 ประเทศทั่วโลก เป็น 1 ในกลุ่มผู้ประกอบการนำร่องที่เข้าร่วมโครงการฟู้ดอินโนโพลิส โดยตั้งศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวด้วยการทำขนมขึ้นรูปหรือแครกเกอร์จากข้าว นายเควิน ลี ผู้จัดการทั่วไปบริษัทนำเชา กล่าวว่า บริษัทจะพัฒนาสูตรแครกเกอร์ที่มีส่วนผสมจากข้าวสำหรับทารกวัย 6-9 เดือนที่ฟันเริ่มขึ้น มีคุณสมบัติพิเศษคือ คุณค่าทางโภชนาการสูงและเพียงพอสำหรับเด็กวัยนี้ ที่สำคัญคือมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภคไม่ติดคอโดยออกแบบให้แครกเกอร์ละลายในปาก
             “เรามุ่งพัฒนาแครกเกอร์เสริมสารอาหารที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย เช่น แครกเกอร์เบบี้สูตรละลายในปาก แครกเกอร์ของวัยรุ่นที่ต้องการความกรอบ รสชาติอร่อยและบรรจุภัณฑ์สวยงาม ส่วนแครกเกอร์สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้เหงือกในการบดเคี้ยวอาหารต้องเป็นอีกสูตรหนึ่งที่มีสารอาหารครบถ้วนเช่นกัน” นายเควินกล่าว
           นอกจากนี้ยังจะมีผลิตภัณฑ์ข้าวพร้อมกิน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ทั้งยังได้ขยายพื้นที่ 46 ไร่ด้านข้างโรงงานเดิมเพื่อรองรับไลน์นวัตกรรมอาหารที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริม อาทิ การแปรรูปด้วยไมโครเวฟ (microwave assisted thermal process) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจอาหาร โครงการดังกล่าวจะเริ่มภายใน 2 ปีนี้ มีนักวิจัยในโครงการฟู้ดอินโนโพลิสเข้ามาเสริมหรือทำงานร่วมกันผ่านกลไกที่ชื่อทาเลนท์โมบิลิตี้ ที่สนับสนุนนักวิจัยภาครัฐ/มหาวิทยาลัยช่วยงานวิจัยภาคเอกชน รวมถึงการสร้างโรงงานใหม่ที่จะมีส่วนของศูนย์วิจัยอาหารเพื่อเด็กเล็ก ที่มีโซนสาธิตกระบวนการผลิตอาหารสำหรับเด็กเล็กแบบครบวงจรสำหรับผู้บริโภคทั่วไปอีกด้วย
           นายเควิน กล่าวอีกว่า จากนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการผลักดันประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ บริษัทในฐานะผู้ผลิตจึงเข้าร่วมโครงการฟู้ดอินโนโพลิส เพราะเชื่อว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทยได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งออกถึง 1 หมื่นล้านตันทุกปี แต่ใช้เพียง 10% ที่มีการเพิ่มมูลค่าและส่งออกไปยังตลาดโลก เชื่อว่ารายได้จะมากกว่าการขายข้าว 1 หมื่นล้านตัน


:: คุกกี้อิมพีเรียลแสวงหางานวิจัยเชิงลึก
              ผู้ผลิตคุกกี้อิมพีเรียลและน้ำผลไม้เข้มข้นซันควิก ก็เป็นอีกผู้ประกอบการข้ามชาติในไทยที่สนใจเห็นประโยชน์จากโครงการนวัตกรรมเมืองอาหาร นางลลานา ธีระนุสรณ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเนยอลาวรี่ คุกกี้อิมพีเรียล น้ำผลไม้เข้มข้นซันควิก ฯลฯ กล่าวว่า ความสนใจที่มีต่อโครงการนี้จะมุ่งเป้าไปที่การแสวงหาองค์ความรู้ในเชิงลึก ที่สามารถนำมาผสมผสานกับการพัฒนาสินค้าของบริษัท
            “ที่ผ่านมา เราไม่ได้ลงทุนเรื่องการวิจัยในเชิงลึก แต่มุ่งพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโดยใช้งานวิจัยของมาต่อยอดเป็นสินค้าสู่ตลาด แต่ปัจจุบันเทรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพฟังก์ชันนัลฟู้ดมาแรง ในต่างประเทศมีมานานแล้วแต่ในประเทศไทยเริ่มที่จะเข้ามาและให้ความสนใจมากขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงอยากจะนำผลงานวิจัยด้านดังกล่าวมาพัฒนาเพิ่มความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีหลากหลาย ทั้งนม เนย ชีส แป้ง เบเกอรี่ เยลลี่ คุกกี้ บิสกิต ให้มีคุณค่ากับผู้บริโภคมากขึ้น" 
                โมเดลนี้ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเนื่องจากมีเครื่องจักรและนักวิจัยในองค์กรอยู่แล้ว แต่จะต้องคัดเลือกงานวิจัยจากโครงการฟู้ดอินโนโพลิส ว่าชิ้นใดที่น่าจะประยุกต์ใช้ได้กับการพัฒนาสินค้าของบริษัทก็ดึงมาใช้ด้วยการซื้อสิทธิบัตร และอาจต้องลงลงทุนเครื่องจักรบางอย่างที่จะมาเสริมกับไลน์หลักของโรงงานรวมถึงเรื่องของบรรจุภัณฑ์ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้คือ การร่นระยะเวลาในการวิจัยเหลือ 6 เดือนจากเดิม 1-2 ปี ทำให้พัฒนาสินค้าใหม่สู่ตลาดเร็วขึ้น คาดว่าผลิตภัณฑ์แรกจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพด้านแดรี่โพรดักส์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้มีเครือข่ายกับบริษัทผลิตอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งนักวิจัย ที่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
 “ยุคนี้การพัฒนาสินค้าต้องเป็นนวัตกรรมแบบเปิด คือต้องแชร์และร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วน เพราะเราไม่ได้รู้ทุกเรื่องจึงต้องพึ่งพาข้อมูลจากข้างนอก ผิดกับสมัยก่อนที่เป็นนวัตกรรมแบบปิดหรือการทำนวัตกรรมภายในองค์กร ปิดประตูห้ามบอกใครเพราะกลัวความลับรั่วไหล ฉะนั้น ต้องเปิดองค์กรรับไอเดียใหม่และแชร์ไอเดียของตนเองสู่ภายนอก” นางลลานากล่าว

:: ฟู้ดคอมเพล็กซ์ทัดเทียมเกาหลี
             นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดเตรียมพื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตร บริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี รองรับการตั้งศูนย์วิจัยของภาคเอกชนในโครงการฟู้ดอินโนโพลิส
          “เราตั้งใจวางระบบต่างๆ ในอาคารนวัตกรรม 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟู้ดอินโนโพลิสให้เป็น อินโนเวชั่น คอมเพล็กซ์ ที่มีขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนและทัดเทียมเกาหลีกับญี่ปุ่น พรั่งพร้อมด้วยปัจจัยเกื้อหนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งมีนักวิจัยกว่า 2,000 คน ขณะเดียวกันยังมีนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเครือข่ายอีก 22 แห่ง”
             เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.ใหม่ว่าด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอาหารด้วย โดยขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปถึง 15 ปี ทั้งยังมี กองทุนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน มีมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2,500 ล้านบาท ที่ช่วงแรกสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในรูปแบบของเงินให้เปล่า แต่คงต้องมีเงื่อนไขอื่นเข้ามาประกอบ เช่น ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาเข้ามาอยู่ในแลบเอกชนได้ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างประเทศให้กับบริษัทเอสเอ็มอีไทย เป็นต้น
           ในส่วนของบุคลากรนักวิจัยสนับสนุนโครงการฟู้ดอินโนโพลิสนั้น ปัจจุบันมีนักวิจัยจากโครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ ที่ช่วยบริษัทเอกชนทำวิจัยมากกว่า 500 คน เป็นนักวิจัยอาวุโส 300 คน พ่วงนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอก 200 คน ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น จึงมีแนวคิดส่งเสริมทาเลนท์โมบิลิตี้จากทั่วโลกเข้ามาร่วมกันสร้างนวัตกรรมในไทย หรือเป็นการเคลื่อนย้ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เข้ามาในประเทศไทย