ส่อง 'รายได้-ลูกค้า' ค่ายมือถือ เบอร์ 2 เปลี่ยนมือสู่ 'ทรู'

ส่อง 'รายได้-ลูกค้า' ค่ายมือถือ เบอร์ 2 เปลี่ยนมือสู่ 'ทรู'

ปลายปี 59 การอนุมัติเลขหมายโทรคมสำหรับให้บริการ 4จี เอกชนที่ทำหนังสือขออนุญาตมายัง กทค.จะมีเพียง เอดับบลิวเอ็น (เอไอเอส) และกลุ่มทรู

จากการย้อนดูผลประกอบการ กำไรสุทธิ รวมทั้งยอดลูกค้ารวมที่แจ้งอย่างเป็นทางการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแต่ละปี ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557-2559 ของโอเปอเรเตอร์มือถือยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ราย ล้วนมีขึ้นมีลงตามความเปลี่ยนแปลงของกลไกตลาดและปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจ

ขณะที่ พบว่าผู้นำตลาดอย่าง “เอไอเอส” หรือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ยังเป็นผู้นำตลาดทั้งด้านรายได้และผู้ใช้งานรวม ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นปี 2559 แม้ไม่ผิดจากคาดการณ์นัก แต่ก็เป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ที่ผู้เล่น “เบอร์3” อย่างกลุ่มทรู น้องเล็กสุด ขยับขึ้นเป็นเบอร์ 2 แทน “ดีแทค” ไปได้ในที่สุด

ปัจจัย “ทรู” แซงดีแทค
ปัจจัยที่ส่งผลให้กลุ่มทรูแซงดีแทคขึ้นเป็นเบอร์ 2นั้น แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาการอนุมัติเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการ 4จี ส่วนใหญ่เอกชนที่ทำหนังสือขออนุญาตมายังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะมีเพียงบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค (เอดับบลิวเอ็น) และกลุ่มทรู ซึ่งไม่ใช่ว่าดีแทคไม่ทำตลาด 4จี แต่สำนักงานกสทช.จะให้เอกชนรายงานปริมาณยอดขายของเลขหมายที่ขอไปก่อนหน้านี้ หากยังเหลืออยู่ในปริมาณพอสมควรก็จะไม่อนุมัติเลขหมายให้ใหม่

หากพูดตามตรงแล้ว ดีแทคยังมีเลขหมายที่ขอไปคงเหลืออยู่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดีแทคมีอัตราการการขายซิมใหม่น้อยกว่าคู่แข่ง

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า หากให้มองว่าปัญหามาจากเรื่องใด คงตอบว่า การที่ดีแทคไม่สามารถชนะประมูลทั้ง 2 ครั้งที่สำนักงานกสทช.จัดขึ้นได้เลย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่แน่ใจ ลังเลที่จะใช้บริการ เพราะดีแทคมีความถี่ที่ให้บริการได้จากกสทช.ที่มาจากการประมูลเพียง 15 เมกะเฮิรตซ์ในย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ส่วนย่านอื่นๆ ทั้ง 850 และ1800 เมกะเฮิตรตซ์ที่ให้บริการ4จีเป็นหลักขณะนี้อยู่ในระบบสัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยจะสิ้นสุดลงวันที่ 30 ก.ย. 2561 นี้

ชำแหละงบรวม-ลูกค้าตลอด3ปี
จากรายงานผลประกอบการประจำปีที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2558 และปี 2559 ล่าสุด เอไอเอสมีจำนวนผู้ใช้งานรวม 44.3 ล้านราย 38.5 ล้านราย และ 41 ล้านรายตามลำดับ

ส่วนดีแทคมีจำนวนผู้ใช้งานรวม 28 ล้านราย แต่ก็ลดลงเรื่อยๆ ในอีก 2 ปีที่ผ่านมา คือ 25.3 ล้านราย และปีล่าสุด 24.5 ล้านราย ขณะที่กลุ่มทรู มีจำนวนผู้ใช้งานรวม 23.6 ล้านราย ปีต่อมาลดเหลือ 19 ล้านราย และปี 2559 อัตราเพิ่มขึ้นถึง 28.3% เป็น 24.53 ล้านราย

ขณะที่รายได้รวมตลอดช่วง 3 ปีพบว่า เอไอเอสมีรายได้ 150,029 ล้านบาท 155,015 ล้านบาท และ 152,718 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ดีแทคมีรายได้ที่ 90,868 ล้านบาท 88,054 ล้านบาท และ 90,867 ล้านบาท ส่วนกลุ่มทรูฯนั้นมีรายได้รวมดังนี้ 117,660 ล้านบาท 122,949 ล้านบาท และ 131,158 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิพบว่าในปีล่าสุดคือ ปี2559 โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายมีกำไรสุทธิลดลง จากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ประกอบกับรายได้จากบริการด้านเสียงลดลง และรายได้จากบริการดาต้าที่แม้จะมีปริมาณการใช้งานมากขึ้น แต่ยอดรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ก็ยังอยู่ในระดับไม่สูงนักเพราะมีการแข่งขันอย่างสูง

ทั้งนี้ กำไรสุทธิขอเอไอเอสในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 36,033 ล้านบาท 39,152 ล้านบาท และ 30,667 ล้านบาท ส่วนดีแทคอยู่ที่ 10,729 ล้านบาท 5,893 ล้านบาท และ 2,086 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่กลุ่มทรูฯนั้น พบว่ามีกำไรสุทธิจำนวน 1,294 ล้านบาท 4,412 ล้านบาท และในปีล่าสุดมีผลขาดทุนสุทธิ 2,814 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจาก รายจ่ายในการลงทุนขยายโครงข่าย ค่าใบอนุญาต และค่าลิขสิทธิ์คอนเทนท์

ทรูลั่นรักษาความเติบโตมุ่งไอโอที
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวว่า ปี 2559 กลุ่มทรูเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4จี และดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้รายได้จากการให้บริการของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้งอุตสาหกรรมเติบโตถึง 5.4% ในปี 2559 นำโดยการเติบโตของทรูมูฟ เอช ที่มีรายได้จากบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 28% จากปีก่อนหน้า

โดยตลอดปี 2559 ทรูขยายโครงข่าย 4.5จี / 4จี 3จี และ 2จีครอบคลุมกว่า 98% ของประชากรไทย ทั้งเร่งขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ของทรูออนไลน์ครอบคลุม 10 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

จุดแข็งทรูมูฟ เอช มาจากแคมเปญดีไวซ์ร่วมค่าบริการที่หลากหลาย ช่องทางขายทั่วประเทศ เป็นปัจจัยหลักดันรายได้และลูกค้าระบบเติมเงิน และรายเดือนเพิ่มสูงขึ้นสำหรับปี 2560 กลุ่มทรู ยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย และการให้บริการให้ดีขึ้น นำเสนอแพคเกจคอนเวอร์เจนซ์ที่คุ้มค่าและแตกต่าง

ดีแทคมุ่งผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ1
ขณะที่ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ในวันที่เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ว่า ดีแทคมีจำนวนลูกค้าที่ใช้งานอยู่ที่ระดับ 25 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการในระบบรายเดือน (โพสต์เพด) จำนวน 4.7 ล้านเลขหมาย ดีแทคยังให้ความสำคัญลงทุนโครงข่ายต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าในไตรมาส 4/2559 จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเท่าใด และดีแทคยังคงเป็นผู้ให้บริการอันดับที่ 2 ได้หรือไม่ ดีแทคจึงไม่ให้ความสำคัญของการจัดลำดับผู้ให้บริการของประเทศไทย

“จุดยืนของดีแทคยังคงให้ความสำคัญ ขยายโครงข่ายบริการอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาดีแทคขยายสถานีฐาน 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ 10,000 แห่ง และ มีสถานีฐานในระบบ 4จีรวมทั้งคลื่น 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 20,000 แห่ง และบริการ 3จี บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 30,000 แห่ง”

พร้อมแสดงความมั่นใจเรื่องคลื่นความถี่ และต้องการให้หน่วยงานภาครัฐออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการนำคลื่นความถี่ของดีแทคที่จะสิ้นสุดสัมปทาน 30 ก.ย.2561 นี้ คาดว่ากสทช.จะนำคลื่นดังกล่าวมาประมูล ขณะที่คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช.จะนำมาประมูล ดีแทคก็สนใจเข้าร่วมประมูลเช่นกัน

เป้าหมายดีแทค คือแบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่งในไทยภายในปี 2563 โดยคงแผนลงทุนปี 2560 ด้วยวงเงิน 17,000-20,000 ล้านบาทพัฒนาความต่อเนื่องของโครงข่าย

สำหรับแนวโน้มปี 2560 อุตสาหกรรมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากบริการอินเทอร์เน็ต โดยคาดว่า ผู้ใช้บริการมีแนวโน้มบริโภคอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากการใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์ค บริการสตรีมมิ่ง รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางการขายและการตลาดรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนและจำผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาดว่า ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากกิจกรรมการตลาดด้านเครื่องโทรศัพท์และแพคเกจบริการที่ดึงดูดใจ ทั้งนี้ ระบบการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) รูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มใช้เดือน ม.ค.2560 มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อสภาวะการแข่งขันในตลาด