BTS - ซื้อ

BTS - ซื้อ

ธุรกิจหลักพร้อมผลักดันการเติบโต

ประเด็นการลงทุน

ความคิดเห็นที่เราได้รับจากนักลงทุนภายในประเทศที่เราได้พบบ่งชี้ถึงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในระยะกลางถึงยาว ซึ่งจะหนุนโดย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจขนส่งมวลชน, ธุรกิจสื่อโฆษณา และ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามนักลงทุนดูเหมือนจะมีมุมมองเชิงบวกต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมากกว่าโครงการสายสีชมพูเนื่องจาก
สร้างบนพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทั้งนี้เราได้สรุปสาระสำคัญต่างๆไว้ดังนี้

#1: ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าใหม่และรถไฟฟ้าโมโนเรล คาดว่าจะเซ็นสัญญาในเร็วๆนี้

ธุรกิจขนส่งมวลชนจะยังคงเป็นปัจจัยหลักซึ่งหนุนการเติบโตของ BTS โครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง- สมุทรปราการ; ระยะทาง 12.8 กม.), โครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต – คูคต; ระยะทาง 18.4 กม.), โครงการสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.), และโครงการสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง; ระยะทาง 30.4 กม.) ซึ่งคาดว่าจะเซ็นสัญญาเร็วๆนี้ ช่วยตอกย้ำถึงแนวโน้มการเติบโตในระยะกลางของ BTS ทั้งนี้สัญญาการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษารถไฟฟ้า (O&M) ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทลูกของ กรุงเทพมหานคร กับ BTS ในส่วนโครงการต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้คาดว่าจะเซ็นสัญญาก่อนที่จะเปิดให้บริการสถานีแรก (สำโรง) ในวันที่ 1 เม.ย. 2560

สำหรับสัญญาการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษารถไฟฟ้าสำหรับโครงการต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต – คูคต) คาดว่าจะเซ็นสัญญาภายในช่วงเดียวกัน นอกจากนั้นสัญญาสำหรับโครงการรถไฟโมโนเรลสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งทำระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) และ BSR ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) (ถือหุ้น 75%), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) (ถือหุ้น 15%) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) (ถือหุ้น 10%) คาดว่า จะเซ็นสัญญาภายในเดือน เม.ย. นี้

#2: ธุรกิจขนส่งมวลชนยังเป็นเป็นปัจจัยหลักในการเติบโต

ธุรกิจขนส่งมวลชนของ BTS จะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งเมื่อรถไฟฟ้าสายใหม่ๆเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้และสายสีเขียวเหนือคาดว่าจะเริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2561 และ 2563 ตามลำดับ ขณะที่โครงการสายสีชมพูและสายสีเหลือง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ซึ่งทั้งสองสายคาดว่าจะมีจำนวน
ผู้โดยสารที่แข็งแกร่งเนื่องจากสร้างผ่านพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นได้แก่ จังหวัดกรุงเทพ, นนทบุรี และสมุทรปราการ ต่างกับสายสีม่วงซึ่งส่วนมากเป็นบริเวณที่ผู้คนอาศัยอยู่น้อย

อย่างไรก็ตาม การขยายการเชื่อมต่อของรถไฟสายสีชมพู (ขยายการเชื่อมต่อเพื่อไปยังเมืองทองธานี; ระยะทาง 2.8 กม.) และสายสีเหลือง (ขยายการเชื่อมต่อเพื่อไปยังรัชโยธิน; ระยะทาง 2.6 กม.) (ยังอยู่ในช่วงการหารือกับ MRTA) จะทำให้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการสายหลักเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้รถไฟฟ้าทั้งสองสายยังวิ่งผ่านเขตกรงุเทพฯ ซึ่งผู้คนส่วนมากมี กำลังในการจ่ายค่าบริการ เนื่องจากมีรายได้ต่อเดือนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ


ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้โดยสารต่อวันจะอยู่ที่ราว 1 แสนคนต่อเส้นทาง หากเป็นไปตามที่คาดการณ์จะทำให้รายได้จากธุรกิจขนส่งมวลชนเติบโตเป็นสองในสามของรายได้โดยรวมของบริษัทเทียบกับ 39% ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 โดยโครงการต่างๆดังกล่าวจะทำให้ผลประกอบการของ BTS เติบอย่างมีนัยสำคัญในระยะกลาง-ยาว

#3: ธุรกิจสื่อโฆษณาและอสังหาริมทรัพย์ เป็นตัวช่วยเร่งการเติบโตให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การขยายตัวของธุรกิจขนส่งมวลชนจะทำให้การเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณาของบริษัทและธุรกิจอสังหาฯเติบโตตามไปด้วย โดยสื่อโฆษณาใหม่สำหรับ VGI จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะสามารถขายโฆษณาบนรถใหม่ 184 ตู้และมีสถานีรถไฟฟ้าใหม่อีก 78 แห่ง สำหรับธุรกิจอสังหาฯ นอกจากโครงการคอนโดใหม่ 4 แห่ง (มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท) ภายใต้การร่วมทุนของ BTS-SIRI ซึ่งจะเปิดภายในปีนี้ ยังมีโครงการอื่นๆอีก 13 โครงการ (มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท) คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) (U) ซึ่ง BTS ถือหุ้นอยู่ 35.64% มีแผนที่จะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูสถึงสองแห่งในเขตกรุงเทพฯ หนึ่งในสองโครงการคาดว่าจะเปิดตัวในปีนี้ และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีกสี่ปีข้างหน้า

#4: ฐานะการเงินแข็งแกร่งสำหรับการลงทุนและการจ่ายปันผล

เรามองว่า BTS จะสามารถลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนใหม่ซึ่งจะต้องใช้เงินจากส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 2.1 หมื่นล้านบาทได้อย่างไม่มีปัญหา และบริษัทน่าจะสามารถรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผลดังเช่นในอดีตที่ประมาณ 80% เทียบกับนโยบายที่จ่ายไม่ต่ำกว่า 50% เนื่องจากงบดุลที่แข็งแกร่งโดยมีเงินสดในมือ 2.3 หมื่นล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 0.3 เท่า