3 ปี 136 คำสั่ง..ม.44 เสื่อมมนต์ขลัง?

3 ปี 136 คำสั่ง..ม.44 เสื่อมมนต์ขลัง?

จับประเด็นร้อน! 3 ปี 136 คำสั่ง..ม.44 เสื่อมมนต์ขลัง?

เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐบาล ผ่านการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เสียงยังไม่ดังมากพอที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลงมาตอบคำถาม

และเสียงวิจารณ์มาพีคสุดๆ เมื่อมีการใช้อำนาจนี้ในการจัดการกับวัดพระธรรมกาย และจับกุมพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สาเหตุที่ถูกวิจารณ์หนัก เพราะเป็นคำสั่งชุดแรกที่ใช้อำนาจไปแล้วมีกระแสต้านจากสังคมอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัดพระธรรมกายมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ศรัทธาจำนวนมาก ผิดกับคำสั่งอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้า ที่แม้จะมีกระแสต้านบ้าง แต่ก็ไม่กว้างขวางขนาดนี้

การเสียชีวิตของคุณลุงที่ผูกคอตายประท้วงการใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมหันมาตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาลและคสช.ว่าพร่ำเพรื่อเกินไปหรือไม่

เพราะหากนับตามเลขคำสั่ง ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 8 มีนาคม 2560 จะเข้าใจว่ามีคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งสิ้น 139 คำสั่ง แยกเป็นปี 2557 หนึ่งคำสั่ง / ปี 2558 สี่สิบแปดคำสั่ง ปี 2559 เจ็ดสิบแปดคำสั่ง และปี 2560 ผ่านมาไม่ถึง 3 เดือน ประกาศไปแล้ว 12 คำสั่ง

แต่แท้ที่จริงแล้วตัวเลขคำสั่งทั้งหมด ต้องหักลบไป 3 คำสั่ง เพราะไม่ใช่คำสั่งหัวหน้า คสช. แต่เป็นคำสั่ง คสช.ที่ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ เท่านั้น และไม่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เป็นฐานในการประกาศ

ทั้ง 3 คำสั่งที่หายไป หากย้อนดูในเว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะถูกข้ามไป และทั้งหมดอยู่ในปี 2558 คือคำสั่งที่ 2 คำสั่งที่ 14 และคำสั่งที่ 15 ฉะนั้นหากนับคำสั่งห้วหน้า คสช.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 จริงๆ แล้วจะมี 136 คำสั่ง โดยคำสั่งแรกที่ พลเอกประยุทธ์ ลงนาม คือคำสั่งที่ 1/2557 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว

จากนั้นก็มีคำสั่งสำคัญที่คล้ายเป็นจุดเริ่มต้นของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.แบบถี่ยิบ นั่นก็คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำนาจข้าราชการทหาร เป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ทดแทนอำนาจตามกฎอัยการศึกที่ประกาศยกเลิกไป

คำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งหมด เป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.ไว้อย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีผลบังคับทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เรียกได้ว่าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงๆ

ตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการออกประกาศ คำสั่ง รวม 3 ประเภท คือ หนึ่ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องนโยบายของ คสช. แล้วประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบ / สอง คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการใช้อำนาจของ คสช.เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว / และสาม คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาหลักๆ ที่ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. คือการยกเว้นกฎหมายปกติเพื่อ “ผ่าทางตัน” การแก้ไขปัญหาชาติให้ได้อย่างทันท่วงทีในมุมมองของ คสช. เช่น เรื่องประมง เรื่องแรงงานต่างด้าว เรื่องรถไฟฟ้า / ขณะที่บางเรื่องก็เป็นประเด็นการเมือง เช่น ถอดยศอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร / และล่าสุดคือการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย

ที่น่าสนใจก็คือ มีคำสั่งจำนวนไม่น้อยที่เป็นการแก้คำผิดของคำสั่งเดิม หรือไม่ก็แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งเก่าเล็กๆ น้อยๆ สะท้อนถึงความสะเพร่าและไม่รอบคอบของทีมกฎหมาย ทั้งๆ ที่เป็นการใช้อำนาจสูงสูดของรัฏฐาธิปัตย์

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 จึงถูกตั้งคำถามเรื่องความรอบคอบและผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยเช่นกัน