ตื่นขายหุ้น 'ลีสซิ่ง' ยกกลุ่ม

ตื่นขายหุ้น 'ลีสซิ่ง' ยกกลุ่ม

ตื่นขายหุ้นลีสซิ่งยกกลุ่ม "กรุ๊ปลีส" แจงข้ามประเทศยันปล่อยกู้โปร่งใส โบรกหวั่นติดบัญชีแคชสัปดาห์หน้า 

หุ้นกลุ่มลีสซิ่งร่วงยกแผง นักลงทุนกังวลกรณีผู้สอบบัญชีกรุ๊ปลีสตั้งข้อสังเกตการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ ด้านผู้บริหารชี้แจงปล่อยกู้โปร่งใส ผู้กู้ส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าที่ทำธุรกิจยาวนานและไม่เคยเบี้ยวหนี้ ขณะศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ยืนยันคุมมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ เดินหน้าโรดโชว์กองทุนต่างประเทศ

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มลิสซิ่งวานนี้ (9มี.ค.) ปรับตัวลดลงเกือบทุกบริษัท โดยบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) GL ปิดการซื้อขายที่ 35.75 บาท ลดลง 12.25 บาท หรือ 25.52% มูลค่า 10,848 ล้านบาท  บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) MTLS ปิดที่ 30 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขาย 943 ล้านบาท บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด(มหาชน) SAWAD ปิดการซื้อขายที่ 41 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ 4.09% มูลค่าการซื้อขาย 1,220 ล้านบาท และบริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) SGF ปิดการซื้อขายที่ 0.39 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 4.88% มูลค่าการซื้อขาย 90.36 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้นบริษัท กรุ๊ปลีส ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลกรณีที่ผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตถึงการปล่อยกู้ของบริษัทให้กับลูกหนี้ในสิงคโปร์และไซปรัส รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทร่วมในศรีลังกา

นาย มิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด(มหาชน) GL กล่าวว่า การปล่อยกู้ดังกล่าวเป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่มีสัมพันธ์การทำธุรกิจ 4-5 ปี ซึ่งไม่เคยมีประวัติการเบี้ยวหนี้ และไม่เคยเป็นเอ็นพีแอล ส่วนกรณีที่บริษัทยืดกำหนดการชำระเงินจาก 3 เดือน เป็น 3 ปี ให้กับผู้กู้บางรายนั้นเป็นการดำเนินการตามปกติ เมื่อผู้กู้ครบกำหนดชำระในระยะ 3 เดือนแล้ว ก็มาขอโรลโอเวอร์ต่อไป เป็นระยะ 1 ปี และ 3 ปี และที่ผ่านมาก็มีการชำระคืนอย่างต่อเนื่อง

ต่อข้อซักถามว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันคุ้มค่าเงินกู้ 3,000 ล้าน หรือไม่นั้น ขอแจงว่า ลูกค้ามีการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันหลายอย่าง อาทิ หุ้นของกรุ๊ปลีสที่ผู้กู้เคยเข้ามาลงทุนเมื่อนานแล้ว และหุ้นของบริษัทอื่น รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในบราซิลและไซปรัส และพันธบัตรรัฐบาลของไซปรัส มูลค่าแท้จริงของหลักประกันเหล่านี้สามารถรองรับมูลค่าหนี้กว่า 3,000 ล้านบาทได้ โดยเฉพาะในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตีมูลค่าครึ่งเดียวของราคาตลาดนั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 68% ของมูลค่าเงินกู้

นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า จากการซื้อขายที่สูงในวันนี้ และราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก ทำให้มูลค่าตลาดรวมลดลงมากตามไปด้วย เมื่อคำนวณจากราคาซื้อขายตอนนี้ที่ 39 บาท ทำให้ %Turnover ตอนนี้เกิน 40% ไปแล้ว และราคาหุ้นยังมี P/E ที่สูง ซึ่งหากจะให้ P/E ไม่เกิน 40 เท่า ราคาหุ้นต้องไม่เกิน 27.75 บาท จึงคาดว่า GL จะติด Cash Balance ในสัปดาห์หน้า

บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า กรณีข่าวเกี่ยวกับความโปร่งใสในการปล่อยกู้ให้แก่ผู้กู้ในสิงคโปร์และไซปรัส ไม่ใช่ประเด็นใหม่ ทางบริษัทได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ทั้งสองรายมาแล้ว 2-3 ปี และมีการเปิดเผยมาตลอด เรียกว่าสินเชื่อ SME โดยผู้กู้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่บริษัททำการกระจายสินค้าและปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้า ซึ่งรู้กระแสเงินสดของผู้กู้เป็นอย่างดี จึงยังคงมุมมองเดิม

โดยคาดว่าปี 2560 จะเห็นกำไรเติบโตจากการรับรู้กำไรของ CCF เข้ามาได้เต็มปี บวกกับธุรกิจเดิมในต่างประเทศทั้งในกัมพูชา พม่า และอินโดนีเซียจะยังเติบโตได้ดี ส่วนธุรกิจในไทยคาดว่าจะเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังธนบรรณจะรุกปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียน และรถจักรยานยนต์มือสอง โดยคาดกำไรอยู่ที่ 2,049 ล้านบาท เติบโตราว 93% จากปีก่อน และในช่วงปี 2559-2561 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 84% โดยประมาณการดังกล่าวไม่รวมถึงการขยายธุรกิจประเทศใหม่ๆ ทั้งในไซปรัส แอฟริกา และลาตินอเมริกา

บัวหลวงแนะระวัง‘ดีดับบลิว’ 

นายมนู ตังทัตสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ออกและผู้ดูแลสภาพคล่องของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ GL01C1704A ได้จำหน่ายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ออกจนเหลือปริมาณไม่เพียงพอต่อการรักษาระดับราคาของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ให้สัมพันธ์กับระดับราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงได้ ดังนั้น การซื้อขายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จึงเกิดตามอุปสงค์และอุปทานของนักลงทุนโดยทั่วไปซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของผู้ดูแลสภาพคล่องและอาจเกิดการซื้อขายที่ระดับราคาสูงราคารับซื้อคืนของผู้ดูแลสภาพคล่องได้

‘ศรีสวัสดิ์’ยันคุมคุณภาพหนี้

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) SAWAD กล่าวว่า กรณีที่เกิดความกังวลเรื่องการปล่อยกู้สำหรับธุรกิจลีสซิ่งในระบบนั้น บริษัทไม่มีข้อความเสี่ยงดังกล่าว โดยในกระบวนการปล่อยสินเชื่อรายย่อยจะมีการควบคุมคุณภาพสินเชื่อโดยเจ้าหน้าที่ที่มีการดำเนินงานตามมาตรฐานบริษัท ทำให้คุณภาพพอร์ตสินเชื่อของบริษัทค่อนข้างดีและมีระดับหนี้เสียที่สามารถบริหารจัดการได้

ล่าสุดบริษัทได้ศึกษาผลกระทบจากการใช้ระบบมาตรฐานทางบัญชีใหม่ (IFRS9) ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้จริงในวันที่ 1 ม.ค.2562 พบว่า บริษัทจะต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือคิดเป็น ต่ำกว่า 1% ของกำไรสุทธิในปี 2559 ที่อยู่ที่ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงศึกษากฎระเบียบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหากมาตรฐานทางบัญชีใหม่ข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ บริษัทก็พร้อมปรับตัว

ทั้งนี้บริษัทมีแผนไปนำเสนอข้อมูลแก่สถาบันต่างประเทศวันนี้ (9มี.ค.) ซึ่งจะพบผู้จัดการกองทุนประมาณ 20 ราย