'สมองเสื่อม' ภัยร้ายสำหรับผู้สูงวัย

'สมองเสื่อม' ภัยร้ายสำหรับผู้สูงวัย

แม้การแพทย์ จะทำให้คนเราเจ็บป่วยน้อยลง และมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีอีกหนึ่งโรคภัยสำหรับผู้สูงวัย คือ “ภาวะสมองเสื่อม”

ถึงแม้วิวัฒนาการทางการแพทย์ จะทำให้คนเราเจ็บป่วยน้อยลง และมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีอีกหนึ่งโรคภัย   ที่ยังเป็นภัยร้ายสำหรับผู้สูงวัย คือ “ภาวะสมองเสื่อม” เพราะไม่สามารถรักษาได้หายขาด และนับวันก็จะยิ่งมีปริมาณสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น “ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค” ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น    จึงจัดงาน “พาราไดซ์ พาร์ค สูงวัยอย่างมีคุณภาพ” แนะนำแนวทางการป้องกันและชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเชิญชวนผู้สูงวัยมาร่วมหาคำตอบว่า ทำอย่างไรให้เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ  กับหลากหลายกิจกรรมสำหรับสุขภาพ อาหารการกิน และกิจกรรมสันทนาการ ที่รวบรวมมาไว้ในงานนี้งานเดียว ในระหว่างวันพุธที่ 15 –  วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 19.00 น. ณ รอยัล พาร์ค พลาซ่า ชั้น 1 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ถนนศรีนครินทร์    

คุณนันทวัฒน์ เนาวรัตน์พงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาราไดซ์ พาร์ค จำกัด กล่าวว่า “การให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สังคมควรหันมาให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งการป้องกัน    และการดูแลรักษา เพื่อให้ผู้สูงอายุตลอดจนคนรอบข้างได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค จึดจัดงาน      “พาราไดซ์ พาร์ค สูงวัยอย่างมีคุณภาพ” เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ ตลอดจนภาวะ        สมองเสื่อม ที่กลายเป็นโรคภัยลำดับต้นๆ ที่ผู้สูงอายุพึงระวัง พร้อมรวบรวมหลากหลายกิจกรรมสำหรับสุขภาพ อาหารการกิน และกิจกรรมสันทนาการ รวมทั้งสินค้าและบริการ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุมาไว้อย่างครบครันในงานนี้เท่านั้น”  

พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ภาวะสมองเสื่อมเป็นความถดถอยในการทำงานของสมอง ซึ่งเกิดจากการสูญเสีย       เซลล์สมอง โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งอาจใช้เวลาถึง     10 ปี กว่าที่จะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ ซึ่งสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม ขึ้นอยู่กับประเภทของภาวะสมองเสื่อมนั้น เช่น       สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ แม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่สาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม             โรคประจำตัวต่างๆ ได้แก่ โรคของหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงการใช้ยาที่มีผลกดการทำงานของสมองในระยะเวลานาน”

“อาการที่เด่นชัดมากของภาวะสมองเสื่อม คือ หลงลืม ซึ่งไม่ใช่การขี้หลงขี้ลืมแบบเป็นนิสัย หรือเป็นความจำที่   เสื่อมถอยลงตามกาลเวลา แต่ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันถดถอยไป อาทิ เริ่มจำไม่ได้ว่าไปไหนมา หรือเมื่อสักครู่พูดอะไร ถ้าอาการหนักอาจถึงขั้นจำคนในครอบครัวไม่ได้ จนอาจลืมว่าตัวเองเป็นใครในที่สุด ซึ่งนอกจากอาการหลงลืมแล้ว อาจจะส่งผลให้มีบุคลิกภาพเปลี่ยนเป็นก้าวร้าว หรือเงียบซึมได้”

“ถึงแม้ภาวะสมองเสื่อม จะยังไม่มียาป้องกัน หรือยารักษาให้หายขาด แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ อาทิ คนที่มีโรคหลอดเลือด ก็ต้องดูแลหลอดเลือดให้ดี ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ  อย่างไขมันจากปลาทะเล รวมไปถึงการออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมอง นอกจากนี้       การบริหารสมองและอารมณ์ให้มีความสมดุลก็มีความสำคัญ ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม เล่นเกม เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ท่องเที่ยวพักผ่อน แต่ทั้งหมดนี้จะต้องเกิดจากความพึงพอใจ ไม่ใช่ทำเพราะถูกสั่งให้ทำ เพราะมีงานวิจัยพบว่า อารมณ์ที่     ไม่มีความสุข ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม”

“การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้ได้ผลดีที่สุด นอกจากการรักษาของแพทย์แล้ว การดูแลของคนใกล้ชิดให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เป็นปัญหาเพียงเฉพาะกับตัวผู้ป่วย แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม โดยผู้ดูแลจะต้อง “ทำความเข้าใจและยอมรับกับอาการ” เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำ การใช้ความคิด ไปถึงจนสูญเสียการควบคุมตนเอง จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ “ให้ความรัก” เพราะเมื่อมีความรัก ผู้ดูแลก็จะมอบกำลังใจดีๆ ให้กับผู้ป่วย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน อาทิ รับประทานอาหาร ขับถ่าย อาบน้ำ เป็นต้น “รู้ขีดจำกัดของตัวเอง” ผู้ดูแลควรดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองด้วย เพราะอาจเกิดความเครียด หรือปัญหาด้านอารมณ์ หากรู้สึกเหนื่อยก็ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วค่อยกลับมาดูแลใหม่ ด้วยสภาพอารมณ์และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย ผู้ดูแลจึงควรเป็นคนใกล้ชิด   ในครอบครัว ที่รู้จักและเข้าใจผู้ป่วยดี รู้ว่าผู้ป่วยชอบหรือไม่ชอบอะไร สามารถทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยได้ เพราะการดูแลด้วยความรักและความเข้าใจ จากบุคคลในครอบครัวนั้น จะช่วยส่งเสริมภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก” อ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าวปิดท้าย

โดยภายในงาน “พาราไดซ์ พาร์ค สูงวัยอย่างมีคุณภาพ” นอกจากจะได้ฟังความรู้เพิ่มเติมเรื่องภาวะสมองเสื่อม ในหัวข้อ ‘รู้ทันสัญญาณเตือน และอาการโรคสมองเสื่อม’ จาก อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ยังจะได้พบอีกหลากหลายกิจกรรม อาทิ กิจกรรมพัฒนากาย จิตใจ และสังคม เพื่อผู้สูงวัย โดยทีมงานอาสาสมัครบ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ, สนุกกับการทดสอบสมรรถภาพผู้สูงอายุ “Senior Fitness Test” เพื่อประเมินความสามารถช่วยเหลือตัวเอง ในการทำกิจวัตรประจำวันในอนาคต, ตรวจคัดกรองสุขภาพฟรี!! โดยมีให้เลือกทั้งแผนไทย โดยโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน แพทย์แผนจีน โดยคณะแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เฉลิมพระเกียรติฯ และการตรวจวัดสายตา          โดยโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พิเศษ!! เต็มอิ่มไปกับสาระความรู้หลากหลายหัวข้อ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ  ปรับกิจวัตร พัฒนาสมอง, การออกกำลังกายบนเก้าอี้ สำหรับผู้สูงอายุ, ใช้ชีวิตอย่างไร ห่างไกลโรคร้าย, หัวเราะบำบัด, ทางเลือกการรักษาพยาบาลที่ผู้สูงวัยควรทราบ, ปลุกพลังสมองด้วยเสียงดนตรี, คน...จำ...เป็น ฯลฯ