รีวิวเจ้าแรก ‘เพ็ทอินชัวร์’ ประกันภัยออนไลน์สัตว์เลี้ยง

รีวิวเจ้าแรก ‘เพ็ทอินชัวร์’  ประกันภัยออนไลน์สัตว์เลี้ยง

เพราะอยู่ในกลุ่ม Pet Lover เป็นทุนเดิม และมีความคิดจะยกระดับอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง ในเวลาเดียวกันก็ยังสนใจในธุรกิจไฟแนนซ์ด้วย

"ผมมองว่าธุรกิจประกันภัยมีอยู่หลายเซ็คเตอร์ให้เลือกแล้วแต่เราจะจับจุดไหน ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครโฟกัสที่สัตว์เลี้ยง ด้วยมีข้อจำกัดมากมายคือ ต้องมีแบ็คกราวน์ที่รู้จักใกล้ชิดกับสัตวแพทย์ และโรงพยาบาลสัตว์เป็นอย่างดีเพราะกลุ่มลูกค้าจะอยู่ที่นั่น"

“ชลณัฎฐ์ พูนชัฎกาญจน์” ซีอีโอ เล่าถึงที่มาของ เพ็ทอินชัวร์ (PetInsure)ประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ซึ่งเขาเคลมว่าเป็นรายแรกของประเทศไทย (เริ่มที่หมากับแมว) และได้ชักชวน “พลอยพิชชา บุญทวีพิทักษ์” ซึ่งรักสัตว์เหมือนกันมาทำหน้าที่เป็น ซีเอ็มโอ ร่วมกันขับเคลื่อน

โมเดลธุรกิจของเพ็ทอินชัวร์ไม่ได้มีเป้าหมายไปดิสรับสิ่งเดิมๆ แต่จะจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อโตไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตวแพทย์ ,โรงพยาบาลสัตว์ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้องสัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่นโรงแรม,ร้านเพ็ทช็อบตลอดจนอาหารและขนม, เสื้อผ้าที่นอน, สายจูง, แชมพู, ของเล่น ฯลฯ

"เบื้องต้นเราจะพาร์ทเนอร์เพื่อเดินหน้ากับทางโรงพยาบาลสัตว์เป็นหลัก เพราะเป็นที่ที่กลุ่มคนรักสัตว์ยังไงก็ต้องไป จริงๆแล้วเจ้าของจะคุ้มมากถ้าทำประกันให้สุนัขหรือแมวที่อายุยังน้อยๆ เพราะช่วงแรกมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ มีอะไรที่่ค่อนข้างไม่แน่นอนมากมาย รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเสียชีวิตได้ และยังความไม่แน่นอนซึ่งเกิดจากการที่บางคนซื้อสัตว์มาจากตลาดทั่วไป และมีโรคติดมาด้วย การทำประกันภัยตั้งแต่เริ่มจึงเป็นการลดความเสี่ยงของเขา"

โดยแพ็คเก็จประกันภัยสัตว์เลี้ยงของเพ็ทอินชัวร์ มีการกำหนดอายุของสัตว์เลี้ยงว่าต้องอยู่ระหว่าง 3 เดือนไปถึง 7 ปี และก่อนการซื้อประกันภัยต้องมีการตรวจสุขภาพเสียก่อน ซึ่งเพ็ทอินชัวร์จะส่งทีมสัตวแพทย์ของตนเองไปตรวจให้ถึงที่บ้าน หรือถ้าไม่สะดวกก็จะมีข้อแนะนำกับเจ้าของว่าควรนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งไหน อย่างไร

"แพ็คเก็จประกันของเราจะมีให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเลือกสองแนวทาง คือฝังไมโครชิฟหรือไม่ฝังก็ได้ แต่ละแนวทางก็จะมีแพ็คเก็จย่อยอีก 4 แบบ ซึ่งความต่างเป็นเรื่องของเบี้ยประกัน และทุนคุ้มครองว่าเท่าไหร่ เช่นถ้าไม่ฝังไมโครชิฟราคาจะเริ่มที่ 2,800บาท /ปี คุ้มครองเบื้องต้นในส่วนของเจ็บป่วยได้วงเงินรักษา 5 พันบาท/ปี แบ่งเป็นครั้งละพันบาทได้ 5 ครั้ง แต่แบบมีไมโครชิฟจะถูกกว่าเพราะมันเป็นเหมือนบัตรประชาชนของคน ที่ทำให้สามารถแยกแยะได้ ทำให้เรารู้ข้อมูลสัตว์เลี้ยง ราคาก็จะเหลือแค่ 2,600 บาท ซึ่งกรมธรรม์ของเราจะปีต่อปี ดอกเบี้ยคงที่"

เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้วนับจากที่เพ็ทอินชัวร์ลอนซ์ตัวเองออกสู่ตลาด ซึ่งจำนวนลูกค้าในเวลานี้ยังอยู่ที่หลักร้อย ขณะที่ในเรื่องของพาร์ทเนอร์นั้น ชลณัฎฐ์ บอกว่าก็ต้องคุยกันไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งการนำเสนอจะต้องเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยเป็นค่อยไปและต้องอาศัยเวลา

ถามว่าแล้วส่วนใหญ่ลูกค้าเลือกฝังไมโครชิฟหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ ลูกค้าส่วนใหญ่ถึง 80% ตัดสินใจไม่ฝัง ซึ่งจะว่าไปแล้วถือว่าเป็นเรื่องของแอดติจูดล้วนๆ ดังนั้นหน้าที่ของเพ็ทอินชัวร์ก็ต้องเปลี่ยนความคิดเจ้าของสัตว์เลี้ยงเสียใหม่ว่าการฝังมีส่งผลดีอย่างไร และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามันจะไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อสัตว์เลี้ยงอย่างแน่นอน แต่ก็ยอมรับว่าโรงพยาบาลและคลีนิครักษาสัตว์ขนาดเล็กอาจมีข้อจำกัดในเรื่องนี้

" ข้อเสียของการฝังมีไหม ที่ผ่านมาร้อยเปอรเซ็นต์มีแค่หนึ่ง เช่น อาจทำให้สัตว์เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง เหมือนคนเวลาไปทำศัลยกรรม พอใส่ซิลิโคนก็อาจเกิดการแพ้บ้าง แต่ประโยชน์ของการฝังมันมีเยอะมาก เพราะเราสามารถแทรคได้ว่าชื่อเจ้าของเป็นใคร สัตว์อายุเท่าไหร่ เกิดที่ไหน ชื่ออะไร มันเช็คได้ เพราะเดี๋ยวนี้คนเลี้ยงสุนัขแล้วเอาไปทิ้งกลายเป็นสุนัขจรจัดปัดความรับผิดชอบจนกลายเป็นภาระสังคม คือมันจะทำให้เกิดการจัดระเบียบได้" เป็นความเห็นของ พลอยพิชชา

ดังนั้น แท้จริงแล้วการยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้ประสบผลสำเร็จ ต้องไม่แค่เพียงเพ็ทอินชัวร์เท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่ต้องออกกฏระเบียบเพื่อผลักดันให้คนรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ตลอดจนจรรยาบรรณ รวมถึงเทคโนโลยีในการรักษาดูแลของทางฝั่งของสัตว์แพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ และธุรกิจต่างๆที่ข้องเกี่ยว

"ที่เมืองนอกอย่างที่อเมริกาและยุโรป คนของเขาจะค่อนข้างแอคทีฟกับเรื่องประกันภัยสัตว์เลี้ยงมาก เหมือนกับการซื้อรถก็ต้องซื้อประกัน เมื่อซื้อหมาหรือแมวก็ต้องซื้อประกันด้วย เหมือนเป็นระเบียบวินัยที่พวกเขาต้องซื้อเพราะประกันไม่ได้ช่วยแค่เรื่องค่าใช้จ่ายเวลาสัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น มันยังรับผิดชอบไปถึงบุคคลภายนอกด้วย เช่น ถ้าหมาเราไปกัดคนอื่นก็ต้องมีค่ารักษาให้เขาด้วย ซึ่งมันจะอยู่ในความคุ้มครองอยู่ในวงเงิน" พลอยพิชชากล่าว

อย่างไรก็ดี ในเวลานี้เพ็ทอินชัวร์กำลังจะก้าวสู่เฟสที่สอง ซึ่งพวกเขาทั้งสองคนบอกว่าได้วางกลยุทธ์เรียบร้อยแล้วและจะเริ่มทำภายในเดือนมี.ค.นี้ โดยจะมีการจัดโปรโมชั่นทำการตลาดเพื่อสนับสนุนการขาย มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์แคมเปญ เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น

"เราจะใช้กลยุทธ์เดียวกับแกร็บแท็กซี่ โดยการจัดโปรโมชั่นแจกกรมธรรม์ให้คนได้มาทดลองใช้บริการฟรี หรือมีส่วนลดพิเศษ 50% พอคนได้มาลองก็จะรู้ว่าประโยชน์มันดีอย่างไรและมีการแชร์ เพราะเวลาหนึ่งปีที่กรมธรรม์คุ้มครอง สุนัขหรือแมวของเขาก็ต้องมีป่วย และต้องมีการเคลมประกัน เขาก็จะได้รู้ถึงขั้นตอนต่างๆว่าเป็นอย่างไร พอจ่ายเงินไปเดี๋ยวก็ได้เงินคืน และมีส่วนลด แทนที่ต้องจ่ายเยอะเขาก็เซฟได้ พอในปีต่อไปเขาก็จะต่อกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ"

พวกเขาคาดหวังว่า แผนดังกล่าวจะสร้างจำนวนลูกค้าได้ถึง 1 พันรายต่อเดือน ซึ่งก็เชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้เนื่องจากตลาดสัตว์เลี้ยงถือว่ามีศักยภาพสูงมาก มีผลวิจัยบอกว่าตลาดนี้มีตัวเลขการเติบโตถึง 10-15% ต่อปี และมูลค่ารวมสูงถึง 22,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

“ถ้าเราเปลี่ยนความคิดคนได้ ซึ่งมาจากการที่เขาได้ลองใช้แล้วเห็นประโยชน์ ทางฝั่งพาร์ทเนอร์เองก็ให้ความรู้แนะนำอย่างต่อเนื่อง ที่สุดเราจะขยายลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เป้าหมายที่วางไว้ก็ไม่ได้ยากเลย ”

ทาสแมวจะตีตื้นในไม่ช้า

  "คิดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า แมวจะเยอะขึ้น เวลานี้หมาจะมีสัดส่วน 80% แมวมีแค่ 20% โดยรวมตลาดสัตว์เลี้ยงจะโตขึ้น แนวโน้มคนไทยคนนิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้น จะเห็นว่ามีหลายๆครอบครัวไม่มีลูกแต่เลี้ยงสัตว์เอาไว้เป็นเหมือนลูกเหมือนเป็นเพื่อนเล่นแทน ลูกค้าเป้าหมายของเราจริงๆ ต้องเป็นเป็นคนวัยทำงานที่รักสัตว์เพราะต้องมีค่าใช้จ่าย"

ปัจจุบันเพ็ทอินชัวร์ยังคงยึดหัวหาดที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ๆเป็นหลัก แต่ในอนาคตวางแผนขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ เป้าหมายในระยะยาวจะขยายตลาดไปยังปศุสัตว์และอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงด้วย

"มีแผนขยายไปตลาดต่างประเทศไหม จริงๆแล้วในเรื่องของซอฟท์แวร์หรือเทคนิคคงไม่มีปัญหา แต่มันจะติดเรื่องของนโยบายและกฏหมายของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน เท่าที่ผมเคยไปประชุมที่ฮ่องกงและอีกหลายประเทศที่พบเขาก็ติดปัญหาคล้ายๆบ้านเรา มีเรื่องนโยบายที่ปรับเปลี่ยนช้าก้าวไม่ทันเทคโนโลยีเหมือนกัน ในมุมมองผมเรื่องนี้ ต้องมองกลางๆ จะเอาประโยชน์เข้าบริษัทฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องระวังเรื่องการฉ้อโกงต่างๆ การจะประกาศใช้ในวงกว้างคนออกกฏหมายต้องมองในมุมนี้ด้วย"

ส่วนแผนเรื่องเรสฟันด์ซึ่งแม้ว่าเพ็ทอินชัวร์จะควักกระเป๋าลงทุนเองยังไม่เคยผ่านการระดมทุนเลยสักรอบ ก็มีความสนใจในเรื่องนี้อยู่ ที่คิดไว้ก็คือ เมื่อจบโครงการบ่มเพาะ Digital Ventures Accelerator หรือดีวีเอแล้วจะจับเข่าคุยกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของโครงการถึงรายละเอียดในเรื่องนี้อีกที