นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี พา’มัดแมน’บุก’ซีแอลเอ็มวี’

นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี พา’มัดแมน’บุก’ซีแอลเอ็มวี’

6 ปี 6 แบรนด์‘ทรัพย์ศรีไทย’หุ้นใหญ่‘มัดแมน’ ‘นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี’ส่งแบรนด์ ‘ดังกิ้น โดนัท’ ’โอ บอง แปง’ บุกลาว-กัมพูชา หวังร้านอาหารโลก

เมื่อกลางปี 2555 บมจ.ทรัพย์ศรีไทย หรือ SST ผู้ประกอบกิจการประเภทคลังสินค้า ประกาศซื้อหุ้น 100% ในบริษัท มัดแมน จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจถือสิทธิในการประกอบธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ “ดังกิ้น โดนัท” และเครื่องดื่มแบรนด์ “โอ บอง แปง” ในไทย สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก กับการกระโดดเข้ามาในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

“นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. มัดแมน หรือ MM บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะได้ SST เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นคนใหม่ ต่อจากกลุ่มผู้ร่วมทุน Navis Capital จุดที่เลือกกลุ่ม SST มาจากวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่

“ต้องการสร้างการเติบโตในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มและไม่คิดขายหุ้น”

เมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ SST ให้ “มัดแมน” เป็นหัวหอกในการรุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากนั้นไม่ถึง 6 เดือน บริษัทยังได้ขยายกิจการต่อไปในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยได้ซื้อสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจจำหน่ายไอศกรีมแบรนด์ “บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์” แต่เพียงผู้เดียวในไทย

ทว่า ทั้ง 3 แบรนด์ เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศ ซึ่งมัดแมนเป็นเพียงผู้ถือสิทธิในการขยายแฟรนไซส์ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ ฉะนั้นในกลางปี 2557 จึงเกิดดีลซื้อหุ้นบริษัท เกรฮาวด์ จำกัด (แฟชั่น) 969,900 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท และหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด (คาเฟ่) 107,843 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท จาก ภาณุ อิงคะวัต

“การซื้อแบรนด์เกรฮาวด์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ดำเนินธุรกิจใน 2 กลุ่ม คือ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์”

ล่าสุดธุรกิจ “ครัวเอ็ม” ประกอบธุรกิจศนูย์อาหารในโรงพยาบาล (Cafeteria) และบริหารการประกอบอาหารและส่งอาหารและส่งอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปัจจุบันมี 1 สาขา อยู่ที่โรงพยาบาลรามคำแหง

จากอดีตรายได้เติบโตมาจากขยายสาขาจากแบรนด์ที่บริษัทเป็นผู้ถือสิทธิอย่างเดียว

ทว่า ปัจจุบันหลังมีแบรนด์เป็นของตัวเองแล้ว ต่อไปธุรกิจของบริษัทจะมีมาจาก 2 ทาง คือ การขยายสาขาจากแบรนด์ที่เป็นผู้ถือสิทธิจากต่างประเทศและแบรนด์ตัวเอง และการขายแฟรนไซส์ในแบรนด์เกรฮาวด์

“ช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาไม่สามารถขยายสาขาได้เนื่องจากไม่มีเงิน แต่หลังจากมีเงินทุนจากผู้ร่วมทุนแล้วกลยุทธ์ คือ การมุ่งเปิดสาขาใหม่อย่างเดียวทั้งแบรนด์ ดังกิ้น โดนัท และ โอ บอง แปง ทำให้บริษัทกลับมาเทิร์นอะราวด์ และมีการเติบโตเฉลี่ย 20% ทุกปี”

เมื่อธุรกิจกลับมาแข็งแรงแล้ว “ซีอีโอมัดแมน” บอกว่า เกมธุรกิจต่อไปคือ “ต้องการเติบโตในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม” แต่การที่จะโตต้องมีเงินลงทุน ฉะนั้น จึงพาบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) แม้ว่าผลการดำเนินงานที่ยัง “ขาดทุน” โดยในงวด 9 เดือน ปี 2559 มีขาดทุนสุทธิ 151 ล้านบาท ทำให้บริษัทเข้าตลาดในไตรมาส 2 ปี 2560 ด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป (Market Capitalization)

ทว่า เป็นผลการขาดทุนมาจากการตัดขาดทุนของการด้อยค่าของธุรกิจแฟชั่นมูลค่า 155 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตัดขาดทุนเพียงครั้งเดียว ในปี 60 จะไม่มีการตัดขาดทุนแล้ว ขณะเดียวกันในธุรกิจแฟชั่นจะเริ่มพลิกเป็นกำไร

แม้มัดแมนยังมีผลประกอบการขาดทุน แต่บริษัทมีจุดเด่นด้านวงจรเงินสดหมุนเวียนอยู่ในระดับที่ดี สะท้อนผ่านตัวเลขกำไรก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยจ่าย (อิบิด้า) ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) อยู่ที่ 215 ล้านบาท 216 ล้านบาท และ 253 ล้านบาท

ก่อนจะวาดภาพธุรกิจให้ฟังว่า ต่อจากนี้ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จะเป็น “พระเอก” ของ บมจ.มัดแมน เพราะว่าอนาคตจะเป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้ประจำให้กับบริษัท จากให้ขายแฟรนไซส์กับผู้ที่ได้รับสิทธ์ในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ปัจจุบันมีรายได้จากค่าลิขสิทธิแฟรนไซส์ประมาณ 50-60 ล้านบาท ซึ่งมีแฟรนไซส์ในตลาดเอเชียอยู่ที่ 11 สาขา ในประเทศ ฮ่องกง ,ปักกิ่ง,เซียงไฮ้,มาเลเซีย,สิงคโปร์ และในประเทศ 13 สาขา รวมทั้งหมด 24 สาขา

ในปีนี้ เกรฮาวด์ คาเฟ่ มีแผนขยายธุรกิจผ่านการขายแฟรนไซส์ออกไปในต่างประเทศใหม่ ซึ่งกำลังคุยกับลูกค้า ไต้หวัน ,ฟิลิปินส์ ,อินโดนีเซีย ตามแผนบริษัทต้องขายแฟรนไซส์ให้ได้ปีละ 1-2 ตลาดใหม่ สำหรับการลงทุนต่อสาขา 15-20 ล้านบาท

“ปัจจุบันได้ค่าลิขสิทธิจากการขายแฟรนไซส์ปีละ 50-60 ล้านบาท หากขายแฟรนไซส์ได้มากขึ้นก็ยิ่งได้ค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น”

ในช่วงปลายปีนี้ จะขยายเกรฮาวด์ คาเฟ่ สาขาแรกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเป็นการลงทุนเองให้เงินลงทุน 80-90 ล้านบาท เพื่อเป็นการปูทางขยายออกไปในตลาดยุโรป หลังจากใช้เวลาศึกษาตลาดดังกล่าว 2 ปี บริษัทต้องการสร้างแบรนด์เกรฮาวด์ให้เป็นที่รู้จักก่อน เมื่อประสบความสำเร็จก็จะขยายสาขา รวมทั้งขยายออกไปในประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส ,เยอรมัน และตลาดสหรัฐอเมริกา

สำหรับ “เกรฮาวด์ แฟชั่น” บริษัทอยู่ระหว่างทยอยปิดสาขาปัจจุบันมี 16 สาขา เพราะว่าธุรกิจขาดทุนจากคู่แข่งจำนวนมาก และการแข่งขันรุนแรง ธุรกิจแฟชั่นในกลุ่มมี 4 แบรนด์ โดยจะมีการปิด 2 แบรนด์ เหลือแบรนด์สไมล์ฮาวด์ ที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่น และเป็นแบรนด์ที่สร้างกำไร โดยบริษัทจะมีแค่ 2-3 สาขา หรือปรับมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ และจะมารับจ้างออกแบบดีไซน์ให้กับแบรนด์ใหญ่ด้วย

“เป้าหมาย 3 ปี (2560-2562) จะไม่มีขาดทุนและมีอัตราการโตเฉลี่ยทุกปี 20% จากการศึกษาซื้อแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ล่าสุดกำลังเจรจาซื้อแบรนด์ใหม่ๆ คาดว่าจะเห็นการซื้อกิจการในเร็วๆ นี้ ฉะนั้น ในอนาคต MM จะมีแบรนด์มากขึ้น ถือว่าเป็นวิธีการโตแบบง่ายสุด โดยไม่เสียเวลาสร้างแบรนด์ใหม่ รวมทั้งการเร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้น”

สำหรับแผนธุรกิจแบรนด์ต่างประเทศที่มัดแมนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แฟรนไชส์ ประกอบด้วย ดังกิ้น โดนัท มีสาขา 269 สาขาทั่ว ประเทศ และเพิ่มเป็น 300 สาขา ส่วน โอ บอง แปง มีจำนวน 71 สาขา และเพิ่มเป็น 100 สาขา ตามสัญญาต้องขยายสาขาปีละ 10 แห่ง

นอกจากนี้ กำลังศึกษานำทั้ง 2 แบรนด์ เข้าไปลงทุนในประเทศลาว และกัมพูชา ซึ่งบริษัทกำลังคุยกับเจ้าของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ระดับโลกดังกล่าวมองว่าไม่คุ้มค่าหากเขาจะมาลงทุนเอง เพราะว่าเป็นประเทศเล็ก ซึ่งเจ้าของแบรนด์ก็เปิดประตูให้หากมัดแมนเจอพาร์เนอร์ที่ดีก็สามารถไปเปิดแฟรนไซส์ที่นั้นได้ ที่ผ่านมามีการคุยกันในรายละเอียดเบื้องต้นไปบางแล้ว คาดว่าจะมีความคืบหน้าหลังขายหุ้นไอพีโอเรียบร้อย

ส่วน บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ ตามสัญญาเปิดปีละมากกว่า 5 แห่ง ล่าสุดมี 31 สาขา แต่ปัจจุบันยังขาดทุนจากต้นทุนสูง เพราะว่าบริษัทต้องนำเข้าไอศกรีมจากประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเสียภาษี 30% ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเปลี่ยนมานำเข้าไอศกรีมจากโรงงานที่ประเทศเกาหลีแทน กระบวนการอยู่ระหว่างการขอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าจะเสร็จราวปลายปี 2560 ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะว่าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แบรนด์บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ จะดีขึ้นในปีหน้า

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ เกรฮาวด์ คิดเป็น 25.12% ดังกิ้น โดนัท คิดเป็น 39.61% โอ บอง แปง คิดเป็น 24.72% ส่วนอีก 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเปลี่ยนไปโดยเกรฮาวด์ สัดส่วนรายได้จะขึ้นมาอีก 10%

สำหรับแบรนด์ร้านครัวเอ็ม จะดำเนินธุรกิจรับบริหารศูนย์อาหารในโรงพยาบาล (Cafeteria) และบริการอาหารสำหรับผู้ป่วยใน (IPD Food Services) โดยเริ่มต้นดำเนินธุรกิจดังกล่าวที่โรงพยาบาลรามคำแหง และมีแผนที่จะขยายธุรกิจบริหารศูนย์อาหารในสถานที่ต่าง ๆ ไม่จำกัดเพียงแต่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังพิจารณาในการขยายสาขาไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจะขยายสาขาปีละ 1 แห่ง

สุดท้ายซีอีโอ MM ทิ้งท้ายว่า “ในระยะยาว 5 ปี เป้าหมายขยายตลาดเพิ่มอีก 5-6 ประเทศ และนำแบรนด์เกรฮาวด์ขึ้นระดับโลก”