หุ้น‘เถ้าแก่น้อย’โยนบิ๊กล็อต

หุ้น‘เถ้าแก่น้อย’โยนบิ๊กล็อต

หุ้น‘เถ้าแก่น้อย’โยนบิ๊กล็อต 30 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 810 ล้านบาท โบรกชี้จุดแข็งมาร์จินสูงหลังรุกต่างประเทศ

หุ้นเถ้าแก่น้อยมีรายการบิ๊กล็อต 30 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 27 บาท รวมมูลค่า 810 ล้านบาท ขณะโบรกเกอร์ประสานเสียงกำไรไตรมาส4 ดีตามคาด พร้อมระบุจุดแข็งคือมาร์จินสูงหลังโหมบุกตลาดต่างประเทศ 

รายงานจากตลาดหลักทรัพย์ระบุถึงการซื้อขายในกระดานรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) วานนี้ (7 มี.ค.) มีการทำรายการของหุ้นบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) TKN จำนวน 30 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 27 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่า 810 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่ทำรายการบิ๊กล็อต คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.8% ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วของบริษัท

นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 2559 ของเถ้าแก่น้อย มีกำไร 211 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรทั้งปี 2559 อยู่ที่ 782 ล้านบาท เติบโต 100% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตสอดคล้องกับที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 

ส่วนแนวโน้มปี 2560 ประเมินว่ากำไรจะสดใสจากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 90% เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2560 

นักวิเคราะห์ บล.เคจีอ ระบุว่า ในขณะที่ฝ่ายวิจัยคาดว่ารายได้ในประเทศจะชะลอตัว แต่ปรากฏว่ารายได้รวมยังโตเกินคาดในไตรมาส 4 และทั้งปี2559 โดยอัตราการเติบโตของยอดขายในประเทศชะลอลงมาอยู่ที่ 6% จากปีก่อน และลดลง 9% ในไตรมาส 4 ปี 2559 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งถึง 55% จากปีก่อน ทั้งนี้ จากการส่งออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดปี 2559 ทำให้สัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในไตรมาส4 ปี2559 ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจในประเทศลดลงเหลือ 35% ในไตรมาส4 ปี2559 จาก 49% ในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ แม้ว่าต้นทุนสาหร่ายจะแพงขึ้น แต่มารจินยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 36.1% ในไตรมาส4 ปี2559 จาก 35.5% ในไตรมาส3 ปี2559 และ 35.8% ในปี 2559 การที่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นสูงมาก จึงทำให้ค่าใช้จ่าย SG&A ลดลง4% จากไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 42.9% จากงวดเดียวกันปีก่อน ในไตรมาส4 ปี2559 และ เพิ่มขึ้น 81% ในปี 2559 ดังนั้น สัดส่วน SG&A/ยอดขายจึงลดลงมาอยู่ที่ 19.7% ใน 4Q59 และ 20.3% ในปี 2559 จาก 21.4% ในปี 2558

ผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2559 ทำให้ฝ่ายวิจัยมีมุมมองที่เป็นมากขึ้นต่อแนวโน้มระยะยาวในปี 2560-2561 แม้ว่าต้นทุนสาหร่ายจะสูงขึ้น แต่สถานการณ์น่าจะดีขึ้นในปี 2560 จากอุปทานสาหร่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุนสาหร่ายได้ดีขึ้น