แอนิเมชั่นไทยสะพัด 1.45 หมื่นล. ไอคอมเทคชูซอฟต์แวร์ 3มิติ

แอนิเมชั่นไทยสะพัด 1.45 หมื่นล. ไอคอมเทคชูซอฟต์แวร์ 3มิติ

“ไอคอมเทค” ชูซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น 3 มิติ “ไอโคลน” สัญชาติไต้หวัน บุกตลาดดิจิทัลคอนเทนท์ไทย

“ไอคอมเทค” ชูซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น 3 มิติ “ไอโคลน” สัญชาติไต้หวัน บุกตลาดดิจิทัล คอนเทนท์ไทย เผยเทรนด์ตลาดแอนิเมชั่น 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้เกินกว่า 5% มั่นใจปีนี้จะขยับได้ถึง 10% จากมูลค่าตลาดรวม 14,500 ล้านบาท เร่งกลยุทธ์พัฒนาศักยภาพแอนิเมเตอร์ไทยตั้งแต่ในรั้วมหาลัยฯ ที่มีกว่า 1,000 คน ป้อนตลาดโลก ตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านปีนี้

นายริกส์ เซียว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอม เทค จำกัด กล่าวว่า บริษัทในฐานะเป็นผู้ได้รับไลเซ่นสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ภาพเคลื่อนไหว หรือ แอนิเมชั่น 2 มิติ และ 3 มิติ ปีนี้ยังมองว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น ดิจิทัลคอนเทนท์ ประเภทแอนิเมชั่น ยังมีโอกาสสร้างรายได้อีกมาก โดยเม็ดเงินในตลาดแอนิเมชั่นไทยตั้งแต่ปี 2556-2559 มีอัตราการเติบโตถึง 5-10% ปีนี้ มองว่าตลาดแอนิเมชั่นน่าจะเติบโตได้เกิน 10% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมกว่า 14,500 ล้านบาท

ในส่วนนี้มาจากแอนิเมชั่นเกม 70% และแอนิเมชั่นภาพยนตร์ คาแร็คเตอร์ การ์ตูน และหนังสั้นรวมกัน 30%

ส่วนเป้าหมายธุรกิจปีนี้ไอคอม เทค มั่นใจว่า จะขยายตัวมากขึ้นเท่าตัว หรือ 100% เนื่องจากมั่นใจจุดแข็งของบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ และมัลติมีเดียไทย มีทักษะความเชี่ยวชาญระดับสูง ในด้านเทคนิคฝีมือการผลิตที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและปราณีต ส่งผลให้อุตสาหกรรมดิจิทัลมีโอกาสเติบโต อีกทั้งปัจจุบัน พบว่า เด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษามีความสนใจ และมีความต้องการเรียนรู้เรื่องการสร้างมัลติมีเดีย และแอนิเมชั่นมากขึ้น พร้อมมีความต้องการด้านแรงงานอาชีพแอนิเมเตอร์ และด้านมัลติมีเดียประยุกต์ยังมีความต้องการอีกมาก

“เราพยายามเดินหน้ากลยุทธ์ส่งเสริมทักษะความรู้ให้นักศึกษาที่สนใจด้านมัลติมีเดีย และการผลิตดิจิทัลคอนเทนท์ เริ่มต้นการจัดการแข่งขันแอนิเมชั่นระดับเอเชีย ภายในการแข่งขัน Asiagraph Reallusion Award 2017 เพื่อหาแอนิเมเตอร์เข้าสู่ตลาด โดยสถิติปัจจุบันแต่ละปีมีนิสิตจบทางด้านนี้ 2,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการตลาด และในบางครั้งยังหางานให้เข้ากับคนไม่ได้ คือ ไม่มีช่องทาง ดังนั้นพอมีงานนี้จึงเหมือนเป็นตัวกลางการเป็นมาร์เก็ตเพลส ระหว่างคนกับงานด้านนี้” นายเซียว ระบุ

ปัจจุบัน ไอคอม เทค ทำธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ 1.ตัวแทนขายแอนตี้ไวรัส แบรนด์แคสเปอร์กี้ 2.ตัวแทนขายโปรเจคเตอร์ รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ภายใต้แบรนด์ วีวีเทก และ 3.ขายซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น 2 มิติ และ 3 มิติ ซึ่งสัดส่วนรายได้ขณะนี้ยังมาจาก 2 ธุรกิจแรกรวมกันกว่า 80-90%

ส่วนซอฟต์แวร์ 2 มิติ และ 3มิติ มีราว 10% แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังทำการตลาดไปยังสถาบันการศึกษา ประกอบกับอนาคตธุรกิจแอนิเมชั่น และดิจิทัลคอนเทนท์มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จึงเชื่อว่ารายได้จากส่วนนี้จะขึ้นมาเป็น 50% และหากเจาะลงไปในหน่วยธุรกิจที่เป็นซอฟต์แวร์ 2 มิติ และ 3 มิติ จะมีรายได้มาจาก 3 กลุ่มลูกค้า คือ ภาคการศึกษา 50% คอร์ปอเรท 25% และลูกค้ารายย่อยทั่วไป 25%

ทั้งนี้ ผลประกอบการไอคอมเทค ที่ผ่านมาเติบโตได้ต่อเนื่องอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจซอฟต์แวร์ 2 มิติ และ 3 มิติ คาดว่า จะมีรายได้ 100 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 100% เพราะเพิ่งเข้ามาทำตลาดนี้ เริ่มธุรกิจปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่ารายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะมียอดสั่งซื้อซอฟต์แวร์เข้ามาในภาคปีการศึกษาใหม่นี้ ที่ผ่านมาไอคอม เทคมีซอฟต์แวร์ที่เป็นเวอร์ชั่นทดลองให้ใช้ในการเรียนการสอนสำหรับการออกแบบแอนิเมชั่นกับ 18 มหาวิทยาลัย มากกว่า 3,000 ไลเซ่นส์

จัดเวทีเฟ้นหา “แอนิเมเตอร์”
นายจามร วิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ไอคอม เทค กล่าวเสริมว่า การแข่งขัน Asiagraph Reallusion Award เป็นเวทีประกวดแข่งขันของนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีการมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนด้านมัลติมีเดียเป็นพิเศษจากประเทศสมาชิก ซึ่งจัดขึ้นทุกปี การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 2 รอบด้วยกัน คือ รอบแรก (Local Round) คือ รอบคัดเลือกของประเทศแต่ละประเทศ และรอบสุดท้าย (Final Round) คือรอบชิงแชมป์ จัดที่ประเทศไต้หวัน เป็นการประกวดแข่งขันแบบไลฟ์ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลก

สําหรับการประกวดแข่งขันรอบแรก (Local Round) ครั้งนี้ ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจาก Asiagraph Reallusion โดยกติกา ข้อกำหนด และเกณฑ์การตัดสินทั้งหมด จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันทุกประเทศ ถือเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชีย ซึ่งผลงานของนักศึกษาที่ได้เข้าแข่งขันรอบสุดท้าย จะถูกนำไปแสดงที่ หอแสดงผลงาน ที่ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ บริษัท ไอคอม เทค จำกัด เป็นผู้นำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟแวร์ไอโคลน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Reallusion จากประเทศไต้หวัน ได้รับลิขสิทธิ์จัดประกวดแข่งขัน รอบแรก (Local Round) แต่เพียงผู้เดียวในไทย ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการศึกษามัลติมีเดียให้การตอบรับถึง 20 สถาบัน การประกวดแข่งขันรอบแรก จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มี.ค.2560 เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศ 2 ทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อรอบสุดท้าย (Final Round) ที่ประเทศไต้หวัน พร้อมรับทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่าหนึ่งแสนบาท