สุขา for all ขอที่ยืน...ให้เธอ

สุขา for all ขอที่ยืน...ให้เธอ

เมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่หญิง-ชาย แล้วทำไมห้องน้ำต้องจำแนกเพศแค่เพียงชายกับหญิง

ที่ห้องน้ำ โรงเรียนประถม ถ้าใครถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด ระวังเถอะ! จะมีเพื่อนมุดใต้ประตู แอบดูตอนทำธุระ

ที่ห้องน้ำ มหาวิทยาลัย ถ้าเป็นกระเทย แล้วยังไม่แปลงรูปลักษณ์ให้เหมือนผู้หญิง กลัวจริงๆ ว่าพวกเธอจะโดนโห่ไล่

ส่วนที่ทำงานเคยมีป้ายติด“ไม่ยินดีเมื่อเพศที่สามเข้าห้องน้ำหญิง” แต่จะให้พวกเขาไปใช้ห้องน้ำผู้ชายนะเหรอ…เป็นพวกเธอกล้าเข้า ?

นี่ยังไม่นับเรื่องเล่าอีกด้านที่ยังไร้ข้อพิสูจน์ เช่น ว่ากันว่า...ห้องน้ำห้างบางแห่งต้องติดป้ายระวังการทำอนาจาร, สัญลักษณ์แบบนี้ที่ห้องน้ำชายเขารู้กัน, ห้องน้ำหญิงตรงนี้คือเขตปลอดทอม และอีก ฯลฯ ที่อธิบายว่าห้องน้ำไม่ใช่แค่ที่ทำธุระแล้วก็ไป

 

ห้องน้ำ...พื้นที่แบ่งแยก?

ข่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งยกเลิกนโยบายห้องน้ำนักเรียนข้ามเพศในโรงเรียนรัฐบาลทุกแห่งของสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน อาจเป็นข่าวเล็กๆ ในสังคมไทย แต่เชื่อไหมว่าสำหรับคนที่ติดตามเรื่อง LGBT (lesbian, gay, bisexual, and transgender) นี่คือเรื่องใหญ่ที่น่าติดตาม

หนึ่งเพราะนี่คือนโยบายซึ่งมีจุดเริ่มต้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งกำลังถูกยกเลิกจากประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม

กับสอง เรื่องของห้องน้ำกลุ่มข้ามเพศ มันไม่ได้จำกัดความหมายเฉพาะพื้นที่ปลดทุกข์ของกลุ่มเพศที่สามเท่านั้น แต่ด้านหนึ่งมันเปรียบได้กับพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่มผู้มีความแตกต่าง ทั้งเป็นการให้พื้นที่กับความหลากหลายซึ่งมีความหมายอย่างมากในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมซึ่งเคลื่อนไหวในประเด็นความหลากหลายทางเพศ เชื่อมโยงว่า ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือในพื้นที่อื่นทั่วโลก กลุ่ม LGBT จะประสบกับการถูกล้อเลียน เหยียดหยาม (Bullying) อยู่เสมอ หากแต่มากน้อยแตกต่างไปตามวัฒนธรรมและกรอบของสังคม

อย่างไรก็ตามพื้นที่ “ห้องน้ำ” คือบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดมากที่สุด นั่นเพราะพื้นที่แห่งนี้จะถูกแบ่งออกโดยใช้กรอบความเป็นชายและหญิงเข้ามากำกับเท่านั้น

“ไม่ว่าคุณจะมีนิสัย มีความสามารถ มีรูปลักษณ์อย่างไร แต่เมื่อมาสู่พื้นที่ห้องน้ำ ลักษณะเฉพาะตัวที่อาจยืนหยุ่นจากสังคมด้านนอก ก็จะกลับมาสู่กรอบของความเป็นเพศกำเนิดของตัวเองอยู่ดี ซึ่งสังคมกำหนดไว้มีแค่ชายกับหญิงเท่านั้น ดังนั้นก็อยู่ที่ตัวเองแล้วว่าจะจำกัดตัวเองเข้ากรอบไหน”

มันจะไม่ใช่อุปสรรคใดๆ แน่ๆ ถ้าเพศกำเนิดคุณตรงกับเพศสภาวะ แต่สำหรับเพศทางเลือกที่ไม่ได้อยู่ในกรอบหญิง-ชาย พวกเขาต้องสุ่มเสี่ยงต่อการพบกับการคุกคามสิทธิความเป็นส่วนตัว ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ ทำให้การเข้าห้องน้ำซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานต้องกลายเป็นปัญหาหนักอก

 “กลายเป็นว่าคนข้ามเพศต้องทำอะไรให้มันสุดทางไปเลย ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่มีที่ยืน อย่างกลุ่มกระเทยถ้าเขายังไม่ได้ผ่าตัดรูปลักษณ์ให้เปลี่ยนไปจากเพศกำเนิด หรือยังดูออกว่าเป็นผู้ชายอยู่ก็จะมักถูกกีดกันไม่ให้เข้าน้ำหญิง ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าห้องน้ำผู้ชายได้ หรือถึงเข้าไปได้ก็สุ่มเสียงต่อการถูกคุกคามทางเพศ เช่น บางคนถูกปีนแอบดู บางคนถูกลวนลาม ถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา”

 “หรือกับกลุ่มทอม ซึ่งแม้จะมีพฤติกรรมคล้ายผู้ชาย แต่ถ้ายังไม่มีการรับฮอร์โมนเพียงพอที่เปลี่ยนลักษณะภายนอกอย่างชัดเจนก็มักจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าห้องน้ำผู้ชายได้ ขณะเดียวกันก็ถูกกีดกัน ถูกเหยียดหยามจากสายตาเมื่อต้องกลับเข้าไปใช้ห้องน้ำหญิงอีกทั้งที่เป็นเพศกำเนิดตัวเอง และการจะรับฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนจากหญิงให้ดูเป็นชายมันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย มีระยะเวลาถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่าถึงแม้เขาจะอยากเข้าห้องน้ำชายก็ทำไม่ได้ จะไปห้องน้ำหญิงก็ไม่ได้"

พื้นที่ห้องน้ำซึ่งแบ่งแยกด้วยกรอบของ 2 เพศ คือเพศหญิงและเพศชายจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลกก็ตาม

 

เรื่องเล่า เมื่อเข้าห้องน้ำ

ไม่ได้มีแค่กลิ่นและคราบสกปรก ที่เป็นปัญหาในห้องน้ำสาธารณะที่ถูกลิสต์ขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ เพราะสำหรับ “ฟาง” พนักงานบริษัทเอกชน เธอยอมรับตรงๆ ว่า รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องเห็นกระเทยเข้าห้องน้ำผู้หญิง นั่นเพราะไม่แน่ใจเลยว่าบุคคลนั้นเป็นสาวประเภทสองจริงหรือไม่ หรือแค่คนแต่งตัวเหมือนเพราะต้องการฉวยโอกาส

“เราเคยได้ยินเรื่องเล่าทำนองว่ามีผู้ชายแกล้งแต่งกายคล้ายผู้หญิงเพราะต้องการใช้ห้องน้ำหญิงมาแล้ว เวลาเห็นกระเทยหรือสาวประเภทสอง เราจะรอดูให้แน่ใจเสียก่อนว่าเขามีพฤติกรรมปกติหรือไม่ จึงค่อยใช้ห้องน้ำ หรือไม่จะวางใจได้ก็ต่อเมื่อในห้องน้ำมีคนอื่นๆ อยู่ด้วย เพราะเราไม่อยากเข้าห้องน้ำกับกลุ่มสาวประเภทสองเพียงลำพัง”

ดร.กังวาน ฟองแก้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บอกว่า ห้องน้ำกับเพศทางเลือกมีปัญหามานานแล้ว นั่นเพราะสังคมไทยจำแนกการใช้ห้องน้ำตามเพศเท่านั้น ไม่ได้จำแนกตามพฤติกรรมการใช้คือนั่งหรือยืน ซึ่งส่งผลให้เพศทางเลือกอื่นต้องจำกัดอยู่ในกรอบหญิง-ชาย ต้องทนเข้าห้องน้ำตามเพศกำเนิดของตน ไม่ก็ต้องต่อสู้กับสายตาของผู้ที่ไม่เข้าใจ หรือต้องเลือกเข้าไปในพื้นที่ที่คิดว่าจะมีปัญหาน้อยที่สุด

“เราเจอกับปัญหานี้มาตลอด ถ้าเป็นเด็กก็จะถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด เวลาเข้าห้องน้ำก็จะมีเพื่อนมาแอบดู เข้ามาแกล้ง บางคนก็รับได้ แต่บางคนก็มีปัญหา และพยายามกำจัดปัญหานี้อย่างไม่ถูกต้องก็มี เช่น เราเคยเห็นเพื่อนที่เป็นกระเทยถึงขนาดกินยากันไว้ด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้ขับถ่ายช่วงอยู่ในโรงเรียน เพราะไม่อยากเข้าห้องน้ำในโรงเรียน เขากลัวโดนเพื่อนล้อ”

 คาณัสนันท์ ดอกพุฒ นักกิจกรรมทรานส์แมนจากกลุ่ม FTM BANGKOK บอกอีกมุมว่า ผู้ชายข้ามเพศจะมีความมั่นใจที่จะเข้าห้องน้ำผู้ชายเลย เพราะภายนอกเป็นผู้ชายเต็มตัวแล้ว อย่างไรก็ตามก็จะไม่ยืนปัสสาวะเหมือนผู้ชายทั่วไป ต้องเข้าห้องน้ำแบบมีประตูปิด และห้องน้ำแบบนี้มีจำนวนน้อย

บางที่ต้องใช้เวลาต่อคิวนาน แย่กว่านั้นคือห้องน้ำมีแต่ภายในชำรุดใช้ไม่ได้จริง ทำให้ผู้ชายข้ามเพศต้องทนอั้นปัสสาวะ หรือต้องเลือกใช้บริการเฉพาะร้านที่มีจำนวนห้องน้ำไม่น้อยเกินไป

“เรื่องอั้นฉี่นี่ธรรมดามาก เจอประจำ เพราะเราต้องเข้าห้องน้ำที่มีประตูปิดทุกครั้ง ยิ่งกินน้ำมากนี่เดินเข้าห้องน้ำบ่อย บางคนคิดว่าเราท้องเสียก็ถามว่าทำไมถึงไม่กลับบ้านไป เราก็ไม่อยากอธิบายกับคนทุกคน” เขาบอกเรื่องเล่าที่พบเจอยามเข้าห้องน้ำ

 

ขอห้องน้ำให้คนข้ามเพศ

ถ้าโลกที่อยู่ไม่ได้มีแค่ชายกับหญิง แล้วเหตุใดห้องน้ำที่มีอยู่จึงจำกัดแค่ห้องน้ำหญิงกับห้องน้ำชาย

นี่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องสร้างห้องน้ำทางเลือกเพื่อเป็นห้องน้ำสำหรับเกย์ ห้องน้ำสำหรับทอม หรือห้องน้ำสำหรับเลสเบี้ยน แต่เรากำลังมองหาห้องน้ำสำหรับใครก็ได้เพื่อเป็นห้องน้ำทางเลือกที่ไมว่าเพศไหนๆ ก็เข้าถึงมันอย่างไม่เคอะเขิน

นัยนา สุภาพึ่ง  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งขับเคลื่อนประเด็นเรื่องเพศทางเลือกมาตลอด อธิบายอย่างชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายให้ต้องโต้เถียงถึงการเลือกปฏิบัติ เพราะเรื่องจบได้เพียงใช้ “หัวใจ” ประเมินความรู้สึก นั่นเพราะห้องน้ำถือเป็นเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะใครๆ ก็ต้องปวดหนัก-ปวดเบาได้ ดังนั้นการจะปิดโอกาสเพื่อมีห้องน้ำสนองไว้เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคงไม่ถูกนัก

“นี่ไม่ใช่เรื่องของหญิง-ชาย หรือ LGBT นะ แต่ต้องมองข้ามออกไป ถึงพื้นที่ตรงกลางซึ่งจะมีความปลอดภัยในทุกฝ่าย เช่น ลองคิดดูสิว่าเราอยากพาพ่อแม่ที่แก่แล้วไปข้างนอก แล้วเวลาคุณพ่อเข้าห้องน้ำ เรากลัวเขาล้ม อยากจะเข้าไปช่วย แต่ก็ได้แต่ยืนรอ จะเข้าไปกับเขาก็เข้าไม่ได้ ขณะเดียวกันจะให้เขามาเข้าห้องน้ำหญิงก็ไม่ได้อีก กลายเป็นว่าก็ต้องปล่อยเขาไป หรือบางคนพาลูกไปที่ที่คนเยอะๆ กลัวเขาจะหลง เราก็ทำได้แค่ยืนรอ”

ความหมายของ “ห้องน้ำทางเลือก” จึงไม่ใช่แค่ห้องน้ำของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่คือการจัดสรรและ “ออกแบบ” ห้องน้ำธรรมดาๆ ให้เป็น “ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ” (All Gender Restroom) เหมาะสำหรับคนทุกกลุ่ม สามารถใช้ทำธุระ เปลี่ยนเสื้อผ้าตามรูปลักษณ์ของตัวเอง โดยมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ

พงศักดิ์ กันเดิน เจ้าของร้านนิวไก่ย่างบัวตอง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งจัดสรรห้องน้ำของคนทุกเพศในร้านอาหารทั้ง 2 สาขามานานนับปี บอกว่า แม้ตอนแรกจะมีแต่คนขอเข้าชมเพราะเป็นของแปลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่าได้ตอบสนองประโยชน์การใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรณีตายายวัยชรากับหลานที่เฝ้าดูแล

 ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างคนข้ามเพศแน่ว่า พวกเขาไม่ได้บอกตรงๆ ว่ารู้สึกดีแค่ไหน แต่ตอบแทนด้วยจำนวนการแวะเวียนมาเป็นลูกค้าประจำที่ร้าน ทั้งยังช่วยแชร์ ช่วยบอกต่อ จนกิจการร้านดีขึ้นและเป็นที่รู้จัก

“การออกแบบห้องน้ำอีกห้องเพื่อเป็นห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศไม่ได้ใช้เงินมากกว่าเดิม หรือทำห้องน้ำที่ดีกว่าห้องน้ำอื่นๆ แต่เรากำลังสร้างห้องน้ำที่มองข้ามเรื่องเพศไป ใครๆ ก็สามารถเข้าได้”

เพศสภาพนั้นลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้ ห้องน้ำก็เช่นกัน ดีที่สุดคือต้องทำให้ทุกคนเข้าถึง

แม้จะไม่ใช่ผู้หญิงและผู้ชาย