ปอย-ตรีชฎา แบ็กอัพธุรกิจด้วยวิจัย

ปอย-ตรีชฎา แบ็กอัพธุรกิจด้วยวิจัย

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหารทดแทนฮอร์โมนเพศหญิง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรลดน้ำหนักตามกรุ๊ปเลือด ตัวอย่างความสำเร็จจากการผนวกไอเดียกับงานวิจัย

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหารทดแทนฮอร์โมนเพศหญิง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรลดน้ำหนักตามกรุ๊ปเลือด ตัวอย่างความสำเร็จจากการผนวกไอเดียกับงานวิจัยสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว การันตีโดย 2 องค์กรวิจัยชั้นนำ “สวทช.-สกว.”


ปอย-ตรีชฎา มาลยาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเฟอร์ฟู แปซิฟิก จำกัด เจ้าของ 2 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคือ ต้องมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จากการสนับสนุนทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทางวิชาการจากงานวิจัยสามารถสร้างมูลค่าและเพิ่มทางเลือกให้กับสมุนไพรไทย ลดการใช้สารเคมีอันตราย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและยื่นขอเลขทะเบียน อย.ได้ง่ายขึ้น


ไอเดียจากประสบการณ์ตรง


ปอย-ตรีชฎา หนึ่งในผู้ประกอบการนำร่อง 100 คนที่เป็นต้นแบบการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัย ผลผลิตจาก “โครงการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง” เฟสที่ 1 โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อร่วมกันสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงและนำนวัตกรรมไปใช้แก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถผลักดันสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง ผ่านการทำงานร่วมกันของโปรแกรม ITAP สวทช. และชุดโครงการ Innovative house สกว.


“ขณะที่เรียนในสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เกิดแนวคิดที่จะทำผลิตภัณฑ์ตอบความต้องการของตนเองในการรักษาเพศสภาพ จากเดิมที่กินฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ ซึ่งมีผลข้างเคียงคือคอเลสเตอรอลสูง จึงพยายามพัฒนาสูตรสมุนไพรทดแทนฮอร์โมนสังเคราะห์”


เธอ กล่าวอีกว่า ไอเดียเกิดทุกครั้งที่เรียนบวกกับประสบการณ์ ทำให้สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเฉพาะจริงๆ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรลดน้ำหนักที่อ้างอิงตามกรุ๊ปเลือด มีความคงตัวทางเคมีและกายภาพที่อุณหภูมิห้องอย่างน้อย 1 ปี ก็มาจากการศึกษาพบว่า กระบวนการดูดซึมและเผาผลาญในแต่ละกรุ๊ปเลือดแตกต่างกัน ต่อยอดจากผลงานวิจัยของ ศ.ภก.จีรเดช มโนสร้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชสมุนไพร และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่


“แม้คอนเซปต์จะดีแต่ยังไม่พอสำหรับการทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทำให้ต้องค้นหางานวิจัยสมุนไพรที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนในแต่ละผลิตภัณฑ์ จึงอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับงานวิจัยและคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้งานวิจัยเข้ามาต่อยอดธุรกิจ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์มากขึ้น ที่สำคัญคือ การขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทำได้ง่ายขึ้นด้วย”


2 องค์กรทุนตอบโจทย์ธุรกิจ


นางสาวจันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการวิจัยมุ่งเป้า กล่าวว่า สกว.ร่วมกับ สวทช. สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันได้ รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยให้สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีคุณภาพ


โครงการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีในระยะที่ 1 ได้รับการตอบรับที่ดี เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องสำอางกว่า 100 รายการ หลายผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการทดสอบตลาด และบางผลิตภัณฑ์เริ่มจะผลิตจริงแล้ว เช่น เช่น ผลิตภัณฑ์เยลลี่บรรจุน้ำผลไม้สำเร็จรูป อุดมด้วยคุณค่าจากผลไม้สดและใยอาหาร สบู่ฟิล์มถั่งเช่าผสมสารสกัดเมล็ดลำไยและขมิ้นชัน


สำหรับความร่วมมือในระยะที่ 2 (2560-2562) สวทช.จัดสรรงบ 35 ล้านบาท และ สกว.10 ล้านบาทรวมทั้งสิ้น 45 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการ 110 ราย ผลักดันงานวิจัยให้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมทั้งยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอี เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศและก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง