เปิดไอเดีย ‘5 ซีอีโอดิจิทัล’ ครีเอทบริษัทในฝันคนรุ่นใหม่

เปิดไอเดีย ‘5 ซีอีโอดิจิทัล’ ครีเอทบริษัทในฝันคนรุ่นใหม่

เปิดโผบริษัทไอทีระดับท็อปที่คนไทยยุคดิจิทัลอยากร่วมงานมากที่สุด พร้อมมุมมอง 5 ซีอีโอ คนแบบไหนที่จะใช่ ตำแหน่งใดเป็นที่ต้องการ

ในต่างประเทศเมื่อถามว่าบริษัทไหนที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ อยากทำงานด้วยมากที่สุด แน่นอนว่า กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล เฟซบุ๊ค ติดโผมาโดยตลอด

ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ติดอันดับ คือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน บรรยากาศภายในออฟฟิศ มีบริเวณพักผ่อนสำหรับพนักงานเพื่อคลายเครียด และสร้างแรงบันดาลใจ ส่งผลให้เห็น “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ออกมาให้โลกชื่นชมได้อย่างต่อเนื่อง 

อย่าง “เฟซบุ๊ค” สำนักงานตั้งอยู่ในเมืองเมนโลพาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนีย ออกแบบโดยสถาปนิกที่ต้องการให้บรรยากาศในที่ทำงานดูสดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีคาเฟ่ ตู้อาหาร ร้านขนม มีรถรับส่งพนักงาน เช่นเดียวกับกูเกิลมีห้องอาหาร ตู้น้ำอัดลม ขนม นม เนย ที่พนักงานสามารถหยิบกินได้ฟรี มีฟิตเนส คาเฟ่ ห้องนวดตัว สปา และเคยได้ยินมาว่ามีร้านตัดผมด้วย

หรือล่าสุดอย่าง “แอ๊ปเปิ้ล พาร์ค" แคมปัสรูปวงแหวนแห่งใหม่ของแอ๊ปเปิ้ลบนเนื้อที่ 175 เอเคอร์ พื้นที่สีเขียวใจกลางหุบเขา ในซานตาคลาร่า วัลเลย์ มีศูนย์รองรับผู้มาเยือน มีแอ๊ปเปิ้ล สโตร์ คาเฟ่ สถานที่ออกกำลังกายขนาด 100,000 ตารางฟุตสำหรับพนักงาน พร้อมสวนผลไม้ ทุ่งหญ้า และทะเลสาบภายใน 

สำหรับในประเทศไทยบริษัทอย่าง ไลน์, ขายดี, พันทิป, วงใน และเทนเซ็นต์ คือ 5 อันดับธุรกิจดิจิทัลที่คนอยากทำงานด้วยมากที่สุด เป็นผลสำรวจโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า

“กำพล ปัญญาโกเมศ” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยว่า องค์กรดังกล่าว คือ ตัวเลือกที่โดดเด่นที่สุดเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมการทำงานตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรที่ดี

ไลน์ได้รับคะแนนสูงสุดที่ 65.69% ตามมาด้วย ขายดี 50.80% เว็บไซต์พันทิปดอทคอม 45.74% วงใน 38.83% และเทนเซ็นต์ 37.23% ตามลำดับ

ด้านออฟฟิศในฝันที่มนุษย์เงินเดือนต้องการควรมีมุมทำงานสงบๆ มุมสำหรับพักผ่อน นั่งเล่น พูดคุย ชมวิว มีโซนบันเทิงสำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม มุมกาแฟ ทานขนม รวมถึงโซนกิจกรรมสำหรับผ่อนคลายหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนร่วมงาน

การสำรวจดังกล่าวใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 376 คน 57.71% เป็นเพศชาย 42.29% เป็นเพศหญิง ครอบคลุมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานสายไอที เทคโนโลยี มีคำถามหลัก คือ ให้กลุ่มตัวอย่างบรรยายลักษณะที่ทำงาน “ในฝัน” และระบุชื่อองค์กรด้านเทคโนโลยีที่อยากทำงานด้วย บริษัทนั้นๆ ต้องมีทีมวิศวกรพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอยู่ในไทย ทั้ง 5 บริษัทที่ติดอันดับเป็นนายจ้างยอดนิยมจากบรรดาธุรกิจดิจิทัลที่อยู่ในการสำรวจจำนวน 17 แห่ง

ก้าวทันดิจิทัล

ในมุมของผู้ประกอบการ “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย เผยว่า วันนี้อยู่ในโลกที่ต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะทาง คนที่มีความเป็นผู้นำ สามารถวิเคราะห์ เข้าใจปัญหาที่มีความซับซ้อนได้

แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับแวดวงเทคโนโลยี ถ้าไม่ใช่คนชอบการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว ก็ไม่เหมาะกับวงการนี้ 

อีกด้านหนึ่งโจทย์ของชีวิตคนยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือน ต้องมีความพอใจ ความสบายใจในการทำงาน

ไลน์ไม่ใช่แอพแชทรายแรก แต่เติบโตได้ด้วยความมีนวัตกรรม และความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ในแผนระยะ 3 ปีจากนี้จะไม่อยู่นิ่งแน่นอน ต้องมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ดังนั้นคนที่จะเข้ามาต้องพร้อมที่จะพัฒนาและเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท

อันดับแรกผลิตภัณฑ์ต้องเจ๋งก่อน จากนั้นจะนำฐานลูกค้าที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หากต้องการจะเป็นผู้นำจะตามคนอื่นไม่ได้ ต้องกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ ไม่อยู่นิ่งกับที่ เพราะถ้าอยู่นิ่งคงไปไม่รอด ด้านคู่แข่งไม่ได้มีแค่ในไทย แต่มาจากทั่วโลก ฉะนั้นไม่ควรประมาท

อย่างไรก็ดี อย่าไปดูถูกบริการที่ยังไม่เกิดรายได้ เพราะอาจเป็นอนาคตของบริษัท ต้องสร้างความสมดุลระหว่างผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ปัจจุบันและปูทางสู่อนาคต

พร้อมระบุว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดีของประเทศไทย ประเมินจากตั้งแต่ต้นปีแวดวงไฮเทคและอื่นๆ มีความคึกคัก มีการเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัลกันมากขึ้น เร็วขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ไลน์เองเชื่อว่าจะทำได้ดีเช่นกัน

ในระดับโลกธุรกิจที่ทำกำไรได้ดี ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง แบรนด์ที่คนชื่นชม ล้วนเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ดังนั้นเป็นสัญญาณที่บอกว่าธุรกิจรูปแบบเดิมต้องเปลี่ยนตัวเอง มิเช่นนั้นจะมีคนอื่นมาเปลี่ยนให้ หรืออาจตายไป ยุคนี้ผู้บริหารระดับสูงไม่เข้าใจเทคโนโลยีไม่ได้อีกแล้ว โลกเปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีไม่ได้มาจากแค่ซิลิคอนวัลเลย์ แต่เกิดในเอเชีย และอนาคตฝันไว้ว่าจะได้เห็นมาจากประเทศไทย

ขอคนมีใจ

ด้านบริษัทสัญชาติไทยแท้อย่างพันทิป “อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี เว็บไซต์พันทิปดอทคอม (Pantip.com) มีมุมมองว่า ไทยยังเป็นประเทศที่นำเข้าเทคโนโลยี ผลิตได้บ้าง แต่ค่อนข้างน้อย และยังไม่ได้ส่งออกไปมากนัก ทั้งมีปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ ขาดแคลนบุคลากร ทั้งด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนา

ปัจจุบัน โปรแกรมเมอร์ในไทยมีอยู่ราว 5 หมื่นคน ทว่าความต้องการต้องเป็นหลักแสน และหากต้องการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีถึงหลักล้าน

ปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ฝั่งเอกชนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้มีไอเดียแต่ไม่มีคนทำงาน กระทบกับความเร็ว เรื่องนี้ภาครัฐฝ่ายเดียวคงแก้ลำบาก เอกชนต้องมีส่วนร่วมขับเคลื่อน

ส่วนของพันทิปนอกจากโปรแกรมเมอร์ต้องการคนที่เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจซึ่งหายากมาก ด้วยตำแหน่งนี้ต้องมีความเข้าใจในแวดวงเทคโนโลยีที่ดีมาก ตำแหน่งอื่นๆ ต้องการนักเขียนเชิงแอดเวอร์ทอเรียลแต่จะจ้างรูปแบบฟรีแลนซ์

อย่างไรก็ดี การเลือกคนมองว่าแรงจูงใจที่จะเข้ามาทำงานกับองค์กรสำคัญที่สุด ที่ผ่านมาเคยรับคนที่ไม่จบปริญญา จบไม่ตรงตามสายมาทำงานเพราะพวกเขาแสดงให้เห็นว่าอยากจะทำงาน มองข้ามเรื่องเงินไม่ได้หวังแค่เงินหรือโบนัส

พันทิปดอทคอมผู้ใช้งานที่ลงทะเบียน 3 ล้านราย ผู้เข้าชมต่อวัน 4.5 ล้านราย ขณะที่ต่อเดือนมีผู้เข้าชม 30-40 ล้านราย ในภาพรวมปีนี้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยถึงจุดที่เป็นกระแสหลักแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่สามารถหารายได้จากฐานผู้ใช้ด้วยวิธีการต่างๆ ได้มากขึ้น

ไม่ต้องตอกบัตร

ส่วนสตาร์ทอัพดาวรุ่ง “ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง วงใน (Wongnai) บอกว่า การเลือกคนมาทำงานสำคัญทั้งด้านทักษะ ความสามารถ ความเข้ากันได้กับองค์กร แต่ทั้งนี้ยังขึ้นกับลักษณะงาน และทีมงานจะเข้าไปทำงานร่วมกันด้วย

บริษัทต้องการคนที่มีความพยายาม พร้อมเสี่ยง พร้อมทำงานหนัก และพร้อมที่จะผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ต่อ ขณะนี้ยังมีแผนรับคนเพิ่มต่อเนื่อง ตำแหน่งงานที่ยังต้องการคือวิศวกรซอฟต์แวร์ และยังมีอีกหลายตำแหน่งที่เปิดรับอยู่ตามการขยายตัวของธุรกิจ

ที่ผ่านมาตำแหน่งอย่างวิศวกรซอฟต์แวร์ หรือ โปรแกรมเมอร์ บริษัทพยายามทำฐานเงินเดือนสูงกว่าตำแหน่งอื่นๆ 60%
ด้าน บรรยากาศการทำงานที่คนรุ่นใหม่ชอบควรมีความยืดหยุ่น สามารถทำให้พวกเขาควบคุมชีวิต ควบคุมเวลาของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง มากกว่านั้นสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องตอกบัตร

สำคัญที่ "ทัศนคติ"

“กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมานี้เห็นได้ชัดว่าแวดวงเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างมาก ส่วนขององค์กรกำลังมองหาคนที่สามารถเรียนรู้ รู้จักมองหาสิ่งใหม่ๆ ทำงานตอบโจทย์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ

โดยตำแหน่งงานที่บริษัทยังต้องการคือวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่สามารถเขียนโปรแกรม แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ จะมาจากอุตสาหกรรมไหนก็ได้แต่ขอให้มีความกล้าและพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวันนี้เห็นได้ว่าเด็กไทยเริ่มสนใจบริษัทเทคโนโลยีกันมากขึ้น

“ไม่สำคัญที่จบอะไรมา สำคัญที่ทัศนคติ แรงจูงใจ ที่เรียนจบมาแค่พื้นฐาน เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีให้คนรุ่นใหม่และทำให้วงการเทคโนโลยี เป็นตัวเลือกแรกๆ ของผู้จบใหม่“

กล้าลอง-กล้าล้มเหลว

“ทิวา ยอร์ค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/เฮดโค้ช ขายดีดอทคอม(Kaidee) กล่าวว่า คนไทยมีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ แค่ต้องสร้างโอกาสและบรรยากาศให้สามารถแสดงฝีมือออกมา ธุรกิจดิจิทัลต้องเริ่มจากทีมงาน ถ้าทีมแข็งแกร่ง ผลิตภัณฑ์จะตามมา จากนั้นรายได้จะเข้ามาเอง

ดังนั้นงานสำคัญคือการ การสร้างแรงบันดาลใจ ดึงความคิดของพวกเขาออกมา ผลักดันให้เกิดไอเดีย ปล่อยให้มีอิสระที่จะคิดงาน เรื่องนี้ต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างที่ทำแล้วจะประสบความสำเร็จ ต้องลองอะไรใหม่ๆ ให้พนักงานกล้าแสดงออก กล้าที่จะเสี่ยง แล้วเรียนรู้กับสิ่งที่ได้ทำไปพร้อมปรับแก้ให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น

สำหรับ ตำแหน่งงานที่ต้องการอย่างมากคือ นักวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนการคัดเลือกคนต้องมีความเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กรซึ่งพร้อมจะเปลี่ยน พร้อมจะล้มเหลวและเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว

ที่ผ่านมาขายดีพยายามจ่ายเงินเดือนให้พนักงานมากกว่าปกติ หรือให้สวัสดิการที่มากกว่า เพื่อดึงคนเก่ง โดยมีมุมมองว่าเงินต้องไม่ใช่ประเด็นที่พนักงานกังวล แต่สามารถโฟกัสกับงานที่ทำ มีอิสระกับงานที่ทำ ถ้าใช้เงินฟาดหัวมักจะอยู่ได้ไม่นาน