ป.ป.ช.จ่อตั้งอนุฯไต่สวนสินบนโรลส์รอยซ์

ป.ป.ช.จ่อตั้งอนุฯไต่สวนสินบนโรลส์รอยซ์

ป.ป.ช.เตรียมตั้งอนุกรรมการไต่สวนสอบคดีสิบนโรลส์-รอยซ์ ระบุหลักฐานชัด ระบุมีชื่อคนรับสินบนแล้ว คาดเสนอชุดใหญ่สัปดาห์หน้า

การสอบสวนสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด (Rolls-Royce) ที่มีการจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เตรียมตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

กรณีการจ่ายสินบนของ บริษัท โรลส์-รอยซ์ จำกัด บริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ เกิดขึ้นภายหลังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงของอังกฤษ (เอสเอฟโอ) แถลงเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่ามีการจ่ายสินบนในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

ในกรณีของบริษัท การบินไทย มีการระบุว่ามีการจ่ายเงินสูงถึง 1,253 ล้านบาท ระหว่างปี 2534-2548 เพื่อให้ความช่วยเหลือในการจัดซื้อเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ Trent 800 หรือ T800 ของโรลส์-รอยซ์ จำนวน 3 ล็อต

ส่วนกรณี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐตรวจสอบ พบว่า โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ ปตท. และ บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ทั้งในระดับผู้บริหาร 1 คน ระดับพนักงาน 3 คน และไม่สามารถระบุได้ 2 คน เป็นเงินกว่า 385 ล้านบาท ระหว่างปี 2546-2556

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีไต่สวนเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ หลังใช้เวลาตรวจสอบกว่า 1 เดือน ว่าขณะนี้มีหลักฐานชัดเจนทั้งในส่วนของเอกสารและตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีการรับสินบน ซึ่งในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงได้รวบรวมข้อมูลครบถ้วนแล้ว และจะนำเรื่องเข้าสู่กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไปภายในสัปดาห์หน้า หรืออย่างช้าที่สุดคงไม่เกินกลางเดือนมี.ค.นี้

“ต้นเมื่อตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วจึงจะสามารถเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่มีเพดานความผิดชัดเจนได้ และหากอนุไต่สวนฯพบข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถประสานขอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากต่างประเทศได้”

พล.ต.อ. กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดที่นำไปสู่การตั้งอนุกรรมการไต่สวนเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ส่งตรงมาจากป.ป.ช.อังกฤษ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ

ภายหลังเกิดข่าวสินบน กระทรวงคมนาคมได้เรียกผู้บริหารการบินไทยเข้าหรือเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ป.ป.ช. มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ อยู่แล้ว เพราะ ป.ป.ช. มีอำนาจสูงสุดในการตรวจสอบ และเมื่อ ป.ป.ช. จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าว กระทรวงคมนาคมก็พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือ

สำหรับกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษ (Special Task Force) เพื่อตรวจสอบการทุจริตในการจัดหาเครื่องยนต์และนายอาคมให้เวลาดำเนินการ 30 วันนั้น นายอาคม ระบุว่า ขณะนี้ครบระยะเวลา 30 วันแล้ว แต่ต้องรอให้การบินไทยสรุปผลอีกเล็กน้อยก่อนรายงานมาที่กระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้การบินไทยได้รายงานแล้วว่า มีการดำเนินการอะไรบ้างและการบินไทยได้ให้ความเร็วมือกับ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบอย่างเต็มที่

ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และเอสเอฟโอระบุว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากอังกฤษ ยอมจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยอมความข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐ และบราซิล

เอสเอฟโอ ตรวจสอบพบการติดสินบนของโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนและอินโดนีเซีย ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน จากนั้นจึงตรวจสอบพบว่า โรลส์-รอยซ์ ละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการติดสินบนและคอร์รัปชันในหลายประเทศ

ทั้งนี้ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543 -2556 ทั้งในคาซัคสถาน บราซิล อาเซอร์ไบจาน แองโกลา อิรัก และไทย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 35 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ

รายงานฉบับนี้ ระบุว่าในส่วนของการติดสินบนในประเทศไทย ไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องดังกล่าว และไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวออกมา

แต่มีรายงานต่อมาว่ากรณีติดสินบนในประเทศไทย โรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินจำนวน 18.8 ล้านดอลลาร์ แก่ตัวแทนระดับภูมิภาค ซึ่งหมายถึงบริษัทท้องถิ่นที่ดูแลการขาย กระจายสินค้าและการบำรุงรักษาในหลายประเทศ ที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ไม่มีบุคลากรเพียงพอในการดูแล เพื่อแลกกับการทำสัญญาซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่นที 800 ของบริษัทการบินไทย

ในส่วนของไทยนั้น โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินกว่า 36 ล้านดอลลาร์ (1,270 ล้านบาท) ระหว่างปี2534-2548 ให้กับนายหน้า เพื่อช่วยเหลือเรื่องสัญญา 3 ฉบับในการจัดหาเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนท์” ให้กับบริษัทการบินไทย

เจ้าหน้าที่เอสเอฟโอ ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า เงินสินบนบางส่วนจ่ายให้เป็นรายบุคคล มีทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์-รอยซ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ ที800 ของบริษัทแห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม โรลส์-รอยซ์ ยินดีที่จะจ่ายเงินรวมกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐ และบราซิล โดยจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอฟโอ เป็นเงิน 617 ล้านดอลลาร์ รวมกับดอกเบี้ยตลอดช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ ยังตกลงยอมความกับสหรัฐ โดยจะจ่ายเงินให้แก่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเป็นเงิน 170 ล้านดอลลาร์ ส่วนบราซิล จะเป็นการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานคดีอาญาแห่งรัฐ เป็นเงินทั้งสิ้น 25.6 ล้านดอลลาร์