IDE ปลุกปั้นผู้ประกอบการพันธุ์นวัตกรรม

IDE ปลุกปั้นผู้ประกอบการพันธุ์นวัตกรรม

ม.หอการค้าไทยอิงโมเดลเอ็มไอทีสร้างระบบนิเวศบ่มเพาะสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพิ่มโอกาสสำเร็จถึง 75% ขณะที่สตาร์ทอัพทั่วโลกสำเร็จเฉลี่ย 3%

สถาบันเอ็มไอทีมีโครงการบ่มเพาะสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จถึง 75% ขณะที่สตาร์ทอัพหรือธุรกิจเชิงนวัตกรรมทั่วโลกมีอัตราความสำเร็จต่ำกว่า 3% นายวรุฒ บูลกุล กรรมการบริหารบริษัท บรุ๊คเคอร์ บิสซิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมแชร์ประสบการณ์จากเอ็มไอทีว่า เอ็มไอทีจะมีเงินทุน 1-2 หมื่นดอลลาร์เป็น Seed Fund ให้กับนักศึกษาสร้างธุรกิจของตนเอง เพราะต้องการให้เริ่มคิดและทำธุรกิจเร็ว อีกทั้งเชื่อว่า ยิ่งล้มเร็ว ล้มหลายครั้งก็จะเป็นประสบการณ์ชีวิต โดยมีบริษัทใหญ่ๆ เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ล้ม อาทิ กูเกิ้ล เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นโมเดลที่ไทยยังไม่มี 

รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ม.หอการค้าไทยอิงโมเดลเอ็มไอทีตั้ง “ศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม” หรือ IDE Center ทำหน้าที่เสริมสร้างผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่-แผนธุรกิจนวัตกรรม โดยให้การฝึกอบรม พัฒนาและบ่มเพาะ รวมถึงสรรหาและสนับสนุนแหล่งทุน มุ่งเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีแนวความคิดใหม่ เทคโนโลยีหรือแผนธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป้าหมายในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคและตลาดโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship : IDE) แตกต่างจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งวิธีคิด ผลิตภัณฑ์และการลงทุน โดยมีความเสี่ยงสูง มีนักลงทุนมาช่วยและช่วงแรกเติบโตอย่างช้าๆ กระทั่งอยู่ตัวแล้วจึงจะเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน 

นอกจากนั้น โมเดลการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจากเอ็มไอทียังให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็มที่เอื้อต่อการสร้างผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ โดยอาศัยความร่วมมือจาก 5 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ กลุ่มทุนทางการเงิน ภาคธุรกิจใหญ่ ผู้ประกอบการและภาคการศึกษา 

“เอ็มไอทีใช้เวลาช่วงซัมเมอร์ 3 เดือนจัดประกวดไอเดียที่พิชชิ่งจากหลายทีม พร้อมทั้งจัดกิจกรรมบ่มเพาะไอเดียให้กับทีมที่ชนะ เช่น จัดหาที่ปรึกษาและพื้นที่ทำงานตลอด 3 เดือน ระหว่างการทำงานในโครงการ นักศึกษาจะได้รับเงินเดือนด้วย เราจึงหวังว่าจะเกิดรูปแบบเช่นนี้ในไทยเช่นกัน” 

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวทางเช่นนี้สอดคล้องกับแนวทางสร้างเสริมนวัตกรรมตามเป้าหมายของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและธุรกิจมีศักยภาพ และแสวงหาโอกาสที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืนในรูปแบบไทยแลนด์ 4.0 คือขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

“สภาพเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันเป็นไปในรูปแบบที่เรียกว่า เมกะเทรนด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องในระดับโลก จะเห็นได้ว่าส่วนสำคัญที่เข้ามาเร่งเครื่องให้ธุรกิจเดินหน้าและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว คือการนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ” 

สำหรับสภาหอการค้าฯ จะขับเคลื่อนการค้าและบริการ 4.0 โดยสร้างอีโคซิสเต็มที่เอื้อประโยชน์ในการใช้นวัตกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่ การสร้างข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้ โดยมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซเต็มตัว, การนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ, การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ผลักดันให้เอสเอ็มอีเป็น IDE, การอำนวยความสะดวกทางด้านธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการสร้างระบบเทคโนโลยี-ดิจิทัลสำหรับธุรกิจยุคใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับเทคโนโลยี และครอบคลุมทุกพื้นที่รวมถึงพัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงและความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 

ทั้งนี้ หากได้รับความร่วมมือตามแผนที่วางไว้ จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าและบริการของไทยเพิ่มจากเดิมไม่ต่ำกว่าปีละ 0.5-1.0 แสนล้านบาท หรือช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 0.4-0.7% ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 เติบโตที่ระดับ 4.0%