Promoting I with I นักวิจัยพบนักลงทุน

Promoting I with I นักวิจัยพบนักลงทุน

5 องค์กรวิจัยผลักดันโครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน” (Promoting I with I) เปิดโอกาสนักวิจัยส่งต่อสุดยอดผลงานให้ภาคเอกชน

บุษกร  ภู่แส-เรื่อง

ชุดทดสอบพยาธิใบไม้ในตับและกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง, สารสกัดกวาวเครือขาวในรูปแบบอิมัลเจล, สายรัดข้อมือวินิจฉัยและติดตามผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ตัวอย่างผลงานด้านชีววิทยาศาสตร์และสุขภาพ ที่นำถูกผลักดันในโครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน” (Promoting I (Innovation) with I (Investment)) เปิดโอกาสนักวิจัยได้นำเสนอผลงานกับผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สนใจต่อยอดงานวิจัย โครงการนี้ขับเคลื่อนโดย 5 องค์กรวิจัย ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ทีเซลส์) สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ไทยไบโอ) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)


I with I เพื่อการต่อยอดสู่สตาร์ทอัพ


น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา นักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงชุดทดสอบพยาธิใบไม้ในตับและกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งใช้เวลาวิจัย 10 ปีว่า สามารถตรวจหาเชื้อจากโคกระบือที่ติดโรค และทราบผลในเวลาเพียง 4 ชั่วโมง ลดข้อจำกัดของวิธีการตรวจในปัจจุบันที่ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระ ซึ่งต้องใช้ทักษะในการวินิจฉัยสูง อีกทั้งผลที่ได้ก็ยังไม่มีความแม่นยำ เพราะเมื่อสัตว์ติดพยาธิใบไม้ในตับไปแล้วจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระในระยะเวลา 13 สัปดาห์ ทำให้การรักษาล่าช้าและสัตว์ล้มตายและโรคพยาธิใบไม้ในตับของสัตว์สามารถติดต่อสู่คนได้ด้วย ดังนั้น ชุดทดสอบฯ จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการป้องกันการเกิดพยาธิได้อย่างรวดเร็ว และลดการปนเปื้อนของไข่พยาธิในทุ่งหญ้าหรือบริเวณที่มีหนองน้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอีกด้วย 

นอกจากโรคพยาธิใบไม้ในตับดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อโรคพยาธิใบไม้ชนิดอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยพยายามให้ทราบผลในเวลาเพียง 4 นาที เหมาะกับฟาร์มขนาดใหญ่


“หากนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูง 4-5 หมื่นบาท ขณะที่ชุดทดสอบพัฒนาขึ้นมีราคาถูกกว่า 10 เท่า หรือไม่เกิน 5,000 บาท ที่สำคัญเป็นการพัฒนาขึ้นจากเชื้อในแถบร้อนชื้น ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ ยังไม่มีใครทำเรื่องเหล่านี้มากก่อน ในอนาคตพยายามทำชุดทดสอบที่สามารถตรวจครั้งเดียวได้หลายโรคออกมาเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการ” น.สพ.ปณัฐ กล่าว


บูรณาการเครือข่ายต่อยอด


ส่วนงานวิจัยด้านเครื่องสำอางโดย ดร.สุวิมล สุรัสโม นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ศึกษาเกี่ยวกับการกักเก็บสารสกัดจากกวาวเครือขาวในอนุภาคนาโนสำหรับนำส่งสารทางผิวหนัง โดยวิเคราะห์สารสำคัญของสารสกัดกวาวเครือขาวจากแหล่งวัตถุดิบและลักษณะของการสกัดที่แตกต่างกัน เพื่อหาสารสกัดตั้งต้นที่มีสารสำคัญที่คงตัว และมีปริมาณมาก ทำให้ได้ชนิดของสารสกัดที่มีคุณภาพและมีสารสำคัญสูง ส่วนสายรัดข้อมือวินิจฉัยและติดตามผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ของ ศ.นพ. รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์รักษาโรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถวิเคราะห์อาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และแยกผู้ป่วยจากภาวะอื่นที่มีอาการสั่นคล้ายพาร์กินสัน ช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการประเมินติดตามอาการผู้ป่วยระหว่างการรักษา 

รวมทั้งเป็นอุปกรณ์วินิจฉัย ประเมินติดตามการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง เหมาะกับบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เป็นต้น


นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยกว่า 3 แสนชิ้น แต่การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์น้อย ดังนั้น Promoting I with I จึงเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยบูรณาการผลงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ ให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเชิงรุกใน 3 กลุ่มหลักคือ อาหารและการเกษตร การแพทย์และเครื่องสำอาง ก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนำไปสู่การอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือการจัดตั้งบริษัทที่เน้นในเรื่องของเทคโนโลยีไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ